Loading
งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เทคนิคและวิธีการพัฒนาสารสนเทศเพื่อการชี้แหล่งศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนด้านวิชาการ ส่งเสริมการเรียนการสอน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้ที่สนใจ  ได้ดำเนินการศึกษา รวบรวม และพัฒนาสารสนเทศเพื่อการชี้แหล่งศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้น ซึ่งอยู่ในรูปของฐานข้อมูลที่เผยแพร่บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยมีความคาดหวังว่าฐานข้อมูลที่จัดทำขึ้นนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน ช่วยอำนวยความสะดวกในการชี้แหล่งข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ที่สนใจ และเป็นการพัฒนาสารสนเทศท้องถิ่นให้มีความน่าสนใจและสามารถเผยแพร่ข้อมูลได้หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ฐานข้อมูลเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินการเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ “สารสนเทศท้องถิ่น ณ อุบลราชธานี” (www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo) ในการดำเนินงานนั้น มีเทคนิคและวิธีการพัฒนาสารสนเทศเพื่อการชี้แหล่งศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนี้

 1.การวางแผนการดำเนินงาน จะเป็นการกำหนดขอบเขต ภาระงาน วัตถุประสงค์ กิจกรรม เป้าหมายการดำเนินงาน ที่จะต้องดำเนินงานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จะนำมาพัฒนาเป็นสารสนเทศ ในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการวางแผนเพื่อการจัดหางบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินการ ซึ่งจะออกมาในรูปแบบของการนำเสนอโครงการเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี ซึ่งงบประมาณสนับสนุนนั้นจะได้มาจาก 2 แหล่ง คือ งบประมาณเงินรายได้ของสำนักวิทยบริการ และงบประมาณเงินอุดหนุนงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เสนอโครงการได้ปีละครั้ง

2.การคัดเลือกแหล่งข้อมูล จะเป็นการคัดเลือกเรื่องที่จะพัฒนาเป็นสารสนเทศเพื่อการชี้แหล่งศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีหลักการคัดเลือกว่า แหล่งสารสนเทศนั้น ๆ จะต้องสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ โดยในเบื้องต้นได้กำหนดขอบเขตของข้อมูลไว้ ดังนี้

  • บุคคลภูมิปัญญา ได้แก่ บุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น จารีตประเพณี เป็นต้น
  • พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล
  • วัดที่สำคัญ เช่น วัดที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ พระพุทธรูปสำคัญ มีเสนาสนะที่แสดงออกถึงศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของท้องถิ่น เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
  • แหล่งโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร
  • แหล่งชุมชนได้แก่ ชุมชนที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ชุมชนที่มีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีพื้นบ้าน เช่น ชุมชนทำเทียนพรรษา กลุ่มหัตถกรรมทอทอผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายพื้นเมือง เครื่องปั้นดินเผา หรือ ผลิตอาหารพื้นเมือง เป็นต้น
  • แหล่งท่องเที่ยวได้แก่ แหล่งทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

3.การเก็บและรวบรวมข้อมูล จะเป็นการดำเนินการรวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่

3.1 การลงพื้นที่จริงเพื่อเก็บและรวบรวมข้อมูล ซึ่งการลงพื้นที่จริงนั้นเพื่อทำการสัมภาษณ์และสัมผัสกับสถานที่หรือบุคคลในแหล่งข้อมูล ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเดินทาง เส้นทางที่ใช้ สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ที่ตั้ง พิกัดภูมิศาสตร์ ซึ่งก่อนลงพื้นที่จริงทุกครั้งจะต้องศึกษาและสำรวจเส้นทางการเดินทางก่อน เพื่อวางแผนการเดินทางว่าจะไปจุดใดบ้าง ระยะห่างแต่ละพื้นที่มากน้อยเพียงใด ควรเดินทางไปจุดไหนก่อนและหลัง ซึ่งอาจจะใช้วิธีการถามจากผู้รู้ คนในท้องที่ หรือการค้นหาจากแผนที่ เพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายได้อย่างถูกต้องและประหยัดเวลาในการเดินทาง

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การสัมภาษณ์บุคคล ก่อนจะทำการสัมภาษณ์ทุกครั้งจะต้องแนะนำตัวเองก่อนว่าเป็นใคร มาจากไหน และมีจุดประสงค์อย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ การเตรียมตัวก่อนไปสัมภาษณ์ ควรจะมีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นก่อน และวางแนวทางการตั้งคำถาม เพื่อให้สามารถดึงเอาข้อมูลหรือองค์ความรู้จากผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ให้ออกมาได้มากที่สุด และพยายามทำความเข้าใจเรื่องราวและรายละเอียดต่าง ๆ นอกจากนั้นแล้ว ควรมีไหวพริบในการตั้งคำถามหรือพูดคุยเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง กล่าวยกย่องและชื่นชมเพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์อยู่เสมอ  หากมีข้อสงสัยใด ๆ ให้พยายามซักถาม และทบทวนความเข้าใจกับผู้ถูกสัมภาษณ์เพื่อยืนยันว่าความเข้าใจนั้นถูกต้อง ยิ่งมีความเข้าใจในเรื่องราวและรายละเอียดต่าง ๆ มากเท่าใดยิ่งจะทำให้สามารถเรียบเรียงและถ่ายทอดเนื้อหาหรือองค์ความรู้นั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วย

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการลงพื้นที่เก็บและรวบรวมข้อมูล ได้แก่ กล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว อุปกรณ์บันทึกเสียง และเครื่องจับพิกัดภูมิศาสตร์ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะให้ได้สื่อต่าง ๆ เช่น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียงสัมภาษณ์ พิกัดภูมิศาสตร์ เพื่อใช้ประกอบกับเนื้อหาหรือองค์ความรู้ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

3.2 การเก็บและรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ หรือสารสนเทศทางวิชาการที่ผลิตและเผยแพร่ออกมาในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งลักษณะที่ใช้มากที่สุดคือ สิ่งพิมพ์ ได้แก่ รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เผยแพร่บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

4.การเรียบเรียงข้อมูล จะเป็นการนำข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจที่ได้มาทั้งหมดมาจัดหมวดหมู่ ทำการวิเคราะห์ สรุป กลั่นกรอง ประมวลผล และเรียบเรียงให้เป็นสารสนเทศ เพื่อทำให้เห็นรายละเอียดและภาพรวมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกัน การเรียบเรียงส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการพรรณนาด้วยข้อความ เสริมให้เห็นจริงมากขึ้นด้วยภาพถ่าย ในส่วนของภาพเคลื่อนไหวนั้นจะนำมาพัฒนาออกเป็นสื่อวีดีทัศน์ ในการเรียบเรียงข้อมูลนั้นจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการอ้างอิงข้อมูลเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งสื่อต่าง ๆ ที่เรารวบรวมมาได้ก็ควรแสดงความเป็นเจ้าของไว้ด้วย เช่น ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว ควรใส่ลายน้ำ ในตำแหน่งที่ไม่รบกวนสายตาและสามารถดัดแปลงได้ยาก เป็นต้น

การเรียบเรียงข้อมูลจะทำได้ง่ายขึ้นหากมีการกำหนดขอบเขตหรือหัวข้อต่าง ๆ ที่จะประกอบในเนื้อหาของเรื่องนั้น ๆ ให้ชัดเจน จะทำให้การเรียบเรียงข้อมูลครอบคลุมทุกด้าน และลำดับในการนำเสนอไม่สับสน ส่วนประกอบสำคัญของการเรียบเรียงข้อมูลอีกอย่างคือ การตั้งชื่อเรื่อง ควรตั้งชื่อให้ชัดเจน กระชับ และครอบคลุมเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ จะทำให้เรื่องนั้น ๆ มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ผู้ที่สามารถเรียบเรียงข้อมูลได้ดีจนได้สารสนเทศที่อ่านง่ายและน่าสนใจ มักจะเป็นผู้ที่รักการอ่าน เพราะการอ่านจะช่วยส่งเสริมให้สามารถใช้ภาษาได้ดีขึ้น

5.การเผยแพร่สารสนเทศ ด้วยพฤติกรรมการเข้าถึงข้อมูลหรือสารสนเทศของคนในปัจจุบัน ทำให้รูปแบบการเผยแพร่สารสนเทศจำเป็นจะต้องอยู่บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก สามารถค้นหาและเข้าถึงสารสนเทศได้สะดวก โดยไม่จำกัดสถานที่ เวลา และอุปกรณ์ สารสนเทศที่พัฒนาขึ้นจึงจำเป็นจะต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาและเผยแพร่ ซึ่งจะออกมาในรูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ดังนี้

5.1 การเผยแพร่สารสนเทศบนเว็บไซต์ โดยการพัฒนาเว็บไซต์ด้วยระบบจัดการเนื้อหาเว็บไซต์แบบออนไลน์ (CMS) โดยเลือกใช้ WordPress เป็นเครื่องมือในการพัฒนา WordPress ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พัฒนาให้สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยระบบที่ง่ายต่อการสร้างและจัดการเนื้อหา สามารถเลือกธีมให้สอดคล้องกับเนื้อหาได้หลากหลายรูปแบบและมีความสวยงาม ทันสมัย สามารถแสดงผลที่รองรับได้ทุกอุปกรณ์ (responsive website) สนับสนุนการทำงานภาษาไทย มีปลั๊กอินที่ช่วยเพิ่มความสามารถให้เว็บไซต์ และที่สำคัญคือสนับสนุนการปรับแต่ง SEO เพื่อให้เว็บไซต์ที่สร้างขึ้นติดอันดับต้น ๆ ในหน้าผลการค้นหา โดยใช้หลักการวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์มาใช้ในการจัดการสารสนเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใส่ชื่อเรื่อง คำอธิบายรายละเอียดหน้า คำสำคัญ รวมทั้งการจัดหมวดหมู่ให้สารสนเทศที่มีเนื้อหาเดียวกันรวมอยู่ด้วยกันและการติดป้ายกำกับ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่จำเป็นที่จะทำให้เว็บไซต์เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ออกสู่สาธารณะในวงกว้างขึ้น WordPress จึงถูกเลือกให้เป็นเครื่องมือที่ดีและเหมาะสมที่จะช่วยพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศให้แพร่หลายต่อไป

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เว็บไซต์ที่ให้บริการสารสนเทศ ให้ชื่อว่า “สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี”(www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo)

5.2 การจัดทำแผนที่ทัวร์แหล่งสารสนเทศ เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งข้อมูลที่จัดหาได้ทั้งหมดนั้น เมื่อทำการวิเคราะห์แล้วจะสามารถจัดหมวดหมู่ย่อยลงไปได้อีกจากขอบเขตหลักที่วางไว้ เช่น แหล่งฮูปแต้ม แหล่งสิม แหล่งหัตถกรรม แหล่งทอผ้า แหล่งชุมชนทำเทียน แหล่งศึกษางานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม เป็นต้น การทำแผนที่ทัวร์จะเป็นการแนะนำและชี้แหล่งสารสนเทศเหล่านั้นเป็นลำดับตามที่เราต้องการนำเสนอ ทำให้เห็นความหนาแน่น ระยะทาง สภาพพื้นที่ ภูมิประเทศ เส้นทาง ซึ่งจะเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ที่สนใจต่อไป

การพัฒนาแผนที่ทัวร์จะใช้ระบบโปรแกรม Story Map ของ Esri ซึ่งระบบโปรแกรมนี้ได้อำนวยความสะดวกให้ผู้พัฒนาสามารถเข้าใช้งานและทำแผนที่ได้ง่ายโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การเตรียมข้อมูลสำหรับการจัดทำแผนที่มีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน สามารถให้รายละเอียดได้ทั้งจุดพิกัดที่ตั้ง ภาพหรือวีดีทัศน์ และคำบรรยายแบบย่อ มีการแสดงผลอย่างสวยงามและน่าสนใจ และที่สำคัญยังสามารถเผยแพร่และเข้าใช้งานได้ง่ายผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต รองรับการใช้งานได้ทุกอุปกรณ์

เนื่องจากเป็นระบบโปรแกรมที่สามารถใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จำเป็นจะต้องหาพื้นที่ในการจัดเก็บภาพและวีดีทัศน์ซึ่งจะใช้ประกอบในการทำแผนที่ จึงได้ออกแบบการจัดเก็บภาพไว้ที่ web server ของสำนักวิทยบริการ และเผยแพร่วีดีทัศน์ผ่านทางช่องยูทูป (youtube) เพราะระบบโปรแกรมต้องการเพียงข้อมูลที่อยู่ของภาพ (url) เท่านั้นก็สามารถเชื่อมโยงและแสดงภาพและวีดีทัศน์ประกอบบนแผนที่ทัวร์ได้

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แผนที่ทัวร์ที่ให้บริการจะอยู่ในเมนู “แผนที่ทัวร์” บนเว็บไซต์ “สารสนเทศท้องถิ่น ณ อุบลราชธานี” (www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo)

5.3 การเผยแพร่สารสนเทศในรูปแบบวีดีทัศน์ นอกจากการเรียบเรียงสารสนเทศเป็นข้อความแล้ว ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวที่ได้ จะถูกนำมาพัฒนาเป็นวีดีทัศน์เพื่อเผยแพร่สารสนเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเห็นทั้งภาพและเสียงพร้อมกัน ทำให้รู้และเข้าใจในเนื้อหาและเรื่องราวได้มากขึ้น

เมื่อดำเนินการพัฒนาเป็นสื่อวีดีทัศน์แล้ว ก็จะนำขึ้นเผยแพร่ในช่องยูทูป (youtube) ซึ่งเป็นช่องทางที่นิยมและแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ผู้ใช้มีความสะดวกและคุ้นเคย สามารถสืบค้นและเข้าใช้งานได้โดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมสำหรับดูวีดีทัศน์

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

              ช่อง Youtube ที่ให้บริการสารสนเทศ คือ https://www.youtube.com/user/localubu

  1. การประชาสัมพันธ์การเผยแพร่สารสนเทศผ่านทางช่องทางต่าง ๆเพื่อให้สารสนเทศที่พัฒนาขึ้นสามารถเข้าถึงได้และถูกนำไปใช้งาน จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับทราบ โดยดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

  • การจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งจะเป็นการสรุปเรื่องราวต่าง ๆ สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย สอดแทรกด้วยการใส่ QR Code ที่อยู่ของเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงรายละเอียดของสารสนเทศได้มากขึ้น

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

  • การทำแผ่นพับ บอกรายละเอียดและแนะนำเว็บไซต์ “สารสนเทศท้องถิ่น ณ อุบลราชธานี” แบบย่อ
  • การทำโปสการ์ด โดยคัดเลือกภาพที่สวยงาม โดดเด่น มาจัดทำเป็นโปสการ์ด และเขียนข้อความบรรยายด้วยภาษาอีสาน หรือใช้คำผญา เป็นต้น

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

  • การตกแต่งสถานที่ การสร้างบรรยากาศพื้นที่ให้บริการข้อมูลท้องถิ่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ เช่น การนำภาพจิตรกรรมฝาผนัง สถานที่ท่องเที่ยว ดอกไม้ประจำถิ่น มาทำเป็นสติกเกอร์ติดกระจก การแกะตัวไทน้อยให้ลวดลายบนกระจก เป็นต้น

งานข้อมูลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

  • การแสดงผลงานวิชาการ ในงาน Pulinet วิชาการ
  • การแจ้งเพื่อทราบในการประชุมคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค

เทคนิคและวิธีการพัฒนาสารสนเทศเพื่อการชี้แหล่งศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้กล่าวมานี้ เกิดขึ้นจากการศึกษา เรียนรู้ การทดลอง และการลงมือปฏิบัติจริง ด้วยมีความมุ่งหวังเพื่อพัฒนางานให้มีคุณภาพ จนทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดทักษะและประสบการณ์ ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่น ๆ และหวังว่าการถ่ายทอดเทคนิคและวิธีการนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน หากผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ และขอน้อมรับคำแนะนำเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป