Loading
หัตถกรรมจักสาน-ชนเผ่าลาวเทิง

จักสานชนเผ่าลาวเทิง

ชนเผ่าลาวเทิง คือ ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบสูงและเขตพูดอย มีการดำเนินชีวิตแบบเกษตรกรรมที่พึ่งพิงธรรมชาติ มีความเชื่อและนับถือผี เช่น ผีพ่อ-แม่ ผีบรรพบุรุษ มีงานบุญประเพณีกินฮีต (บุญกินควาย) ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตามฮีตคองประเพณี ความเชื่อถือ มีข้อห้าม (การคะลำ) มีวัฒนธรรมการแต่งกาย การสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนเผ่าตนเอง มีความชำนาญในงานหัตถกรรม เช่น งานทอผ้า งานตีเหล็ก/หล่อโลหะ งานแกะสลักไม้ และงานจักสานที่มีความละเอียดประณีต ในชนเผ่าลาวเทิงมีหลายเผ่าย่อย และทุกเผ่าก็มีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมคือ การนับถือผี สูบกอก ดื่มเหล้าไห สะพายเครื่องจักสานติดแผ่นหลัง ทอผ้าโดยใช้กี่มือที่ผูกติดกับลำตัว (กี่เอว) และใช้ภาษาตระกูลมอญ-ขะแม เหมือนกัน นิทรรศการนี้ได้รับความร่วมมือจากคณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบ ใน "การศึกษางานหัตถกรรมจักสานชนเผ่าลาวเทิงเพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย" ซึ่งมี ดร.ประทับใจ สิกขา เป็นหัวหน้าโครงการ