หนองอีเจม

           หนองน้ำแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำผิวดินที่มีพื้นที่กว้าง อยู่ทางตอนใต้ของบริเวณที่ตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นที่รับน้ำนองจากพื้นที่ตอนเหนือ มีอาณาเขตพื้นที่รับน้ำประมาณ 14 ตร.กม. ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของบริเวณที่ตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานีรวมกับพื้นที่ตอนเหนือนอกเขตที่ตั้งวิทยาลัยฯ

หนองน้ำนี้เดิมเป็นหนองน้ำธรรมชาติ มีพื้นที่เก็บกักน้ำประมาณ 50 ไร่ โดยน้ำส่วนที่เหลือจากการเก็บกักจะไหลลงลำห้วยท้ายน้ำสู่ห้วยตองแวด ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ 2 ก.ม.

ต่อมามีการสร้างทำนบดินขึ้นทางตอนใต้ (โครงการ กสช.) ทำให้ระดับเก็บกักสูงขึ้น แผ่พื้นที่ผิวน้ำออกไป เป็นประมาณ 800 ไร่ ในฤดูฝน ในฤดูแล้งระดับน้ำจะลดลงจนเหลือพื้นที่เท่าที่เคยเป็นอยู่เดิม โดยที่หนองน้ำนี้มีน้ำนองมาจาก พื้นที่กว้างและมีปริมาณมาก ถ้าที่การปรับปรุงให้เหมาะสมจะสามารถเป็นแหล่งน้ำเอนกประสงค์ สำหรับการจัดตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานีได้อย่างดี

พื้นที่ชุมชนบ้านศรีไคที่มหาวิทยาลัยได้รับการอนุมัติให้เป็นสถานที่ตั้ง คือ บริเวณพื้นที่ที่มีหนองน้ำสำคัญคือ หนองอีเจม (คำว่า “เจม”เป็นคำพื้นถิ่นภาษาส่วย หมายถึง นก) หนองอีเจมเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชาวชุมชนบ้านศรีไค ชาวชุมชนใช้เป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ ทำนาปลูกข้าว และยังเป็นแหล่งที่มีพืชพันธุ์ท้องถิ่นที่เป็นสมุนไพร และอาหารในการดำรงชีวิต

มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2530).  โครงการจัดตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานี รายงานการสำรวจสภาพพื้นที่ด้านวิศวกรรม, หน้า 15

สมศรี ชัยวณิชยา. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกับพัฒนาการประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านศรีไค สู่ชุมชนเมืองศรีไค