การบูรณาการตัวแบบเครื่องมือวัดสมรรถนะโซ่อุปทานการผลิตข้าวโพดหวาน พลังขับดันการแข่งขันสมรรถนะและความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

Titleการบูรณาการตัวแบบเครื่องมือวัดสมรรถนะโซ่อุปทานการผลิตข้าวโพดหวาน พลังขับดันการแข่งขันสมรรถนะและความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2555
Authorsธนกร ราชพิลา
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต--สาขาวิชาพัฒนาบูรณาการศาสตร์
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHD ธ132
Keywordsการบริหารงานโลจิสติกส์, ข้าวโพดหวาน--การผลิต, ข้าวโพดหวาน--อุปสงค์และอุปทาน, โซ่อุปทาน
Abstract

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการเครื่องมือชี้วัดสมรรถนะ ศึกษาสายโซ่อุปทานพลังขับดันการแข่งขัน ความสัมพันธ์และความร่วมมือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและประสิทธิภาพในการดำเนินงานสายโซ่อุปทานการผลิตข้าวโพดหวาน วิธีการศึกษาเป็นการวิจัยแบบบูรณาการงานวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มและแบบสอบถามจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน ประกอบด้วย เกษตรกร ผู้แปรรูป ผู้ซื้อ ผู้ขนส่งและผู้ส่งมอบวัตถุดิบ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วย ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาโดยใช้ตัวแบบการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์และประสิทธิภาพโซ่อาหาร (Supply Chain Environment Scanning and Relationship and Efficiency Performance meaning model: SCES-REP) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมพบว่า ปัญหาอุปสรรคที่สร้างความเสียเปรียบเชิงการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม คือ การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบข้าวโพดหวานทั้งคุณภาพและปริมาณ บรรจุภัณฑ์ที่มีราคาสูง เทคโนโลยีการผลิต มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการกีดกันทางการค้าที่มิใช่กำแพงภาษี พลังขับดันการแข่งขันที่มีผลต่ออุตสาหกรรมในระดับสูงมาก คือ ความยากง่ายในการหาวัตถุดิบทดแทน ความสำคัญของผู้ส่งมอบวัตถุดิบที่มีต่อผู้ซื้อ วัตถุดิบของผู้ค้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อกระบวนการผลิตของลูกค้า จำนวนคู่แข่งขันในอุตสาหกรรม และการเพิ่มกำลังการผลิตมากเกินไป การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบสมรรถนะอย่างเป็นระบบระหว่างระบบส่งเสริมการเกษตรและระบบผู้รวบรวมวัตถุดิบ ด้านความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างเกษตรกรกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในมิติของ 1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการวางแผนร่วมกัน พบว่า ควรให้ความสำคัญกับการวางแผนร่วมกันสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร พัฒนาความชัดเจนความเข้าใจเพื่อลดความผิดพลาด และส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน 2) การจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ พบว่า ควรมีการส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน สร้างโอกาสในการต่อรองให้เกษตรกร ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขาย ลดปริมาณสินค้าและบริการขนส่งที่ด้อยคุณภาพ และลดการพึ่งพาผู้ส่งมอบวัตถุดิบ 3) ความไว้วางในและความมุ่งมั่น พบว่าเกษตรกรควรเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและความมีอิสระในการซื้อขาย สร้างความไว้วางใจด้านการเงินและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ลดอำนาจในการควบคุมสั่งการและเอารัดเอาเปรียบหรือฉกฉวยโอกาส เพื่อสร้างความไว้วางในกันอย่างยั่งยืน
ผลการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบสมรรถนะอย่างเป็นระบบด้านประสิทธิภาพสายโซ่อุปทานในมิติของ 1)ด้านต้นทุนและผลตอบแทน พบว่าเกษตรกรในระบบผู้รวบรวมวัตถุดิบมีต้นทุนการผลิต อัตราผลผลิตที่เพิ่มขึ้น กำไรสุทธิ ปริมาณผลผลิตที่เกิดการคุ้มทุน ต้นทุนค่าขนส่ง อัตราผลตอบแทนต่อต้นทุนและภาระต้นทุนในกิจกรรมการจัดหาวัตถุดิบที่ต่ำกว่า แต่เกษตรกรในกลุ่มนี้จะมีผลผลิตต่อไร่และกิจกรรมการพัฒนาเพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลงในระดับที่ต่ำกว่า 2)ด้านปัจจัยการส่งมอบ พบว่าระบบผู้รวบรวมวัตถุดิบ มีระยะเวลาในการขนส่งเมื่อเทียบกับเวลามาตรฐาน อัตราการส่งผลผลิตล่าช้า และระยะเวลาที่จอดรอการรับผลผลิตที่มีประสิทธิภาพกว่า แสดงให้เห็นว่า ผู้รวบรวมวัตถุดิบสามารถบริหารพื้นที่ปลูกไม่ให้มีระยะทางห่างไกลจากโรงงานมากจนเกินไปและมีความได้เปรียบในเชิงพื้นที่ 3) ด้านปัจจัยความยืดหยุ่นพบว่าระบบส่งเสริมการเกษตรมีความแม่นยำในการกำหนดวันเก็บเกี่ยวและความแม่นยำในการประเมินปริมาณวัตถุดิบในแปลงที่สูงกว่า แต่ระบบผู้รวบรวมวัตถุดิบมีอัตราความยืดหยุ่นด้านคุณภาพวัตถุดิบรอบการจ่ายเงินค่าวัตถุดิบ ความถี่ของการผิดนัดชำระเงินค่าวัตถุดิบ ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า 4)ด้านปัจจัยความเสี่ยงพบว่าระบบส่งเสริมการเกษตรมีการประเมินความเสี่ยงมากกว่าส่งผลให้เกษตรกรมีระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าแต่เกษตรกรทั้ง 2 กลุ่ม สามารถตอบสนองเมื่อพบปัจจัยเสี่ยงในระดับต่ำ 5)ด้านปัจจัยคุณภาพ พบว่า ระบบส่งเสริมการเกษตรมีผลผลิตที่มีขนาดฝักที่ใหญ่กว่าและผลผลิตมีปริมาณตำหนิรวมที่น้อยกว่า และ 6) ด้านปัจจัยการทวนสอบ พบว่า ระบบส่งเสริมการเกษตรมีประสิทธิภาพในการจัดบันทึกและการทดสอบความสามารถสอบกลับได้ที่สูงกว่า

Title Alternate An integration performance meassuring for sweet cornsupply chain: competitive force and stakeholder relationship
Fulltext: