ปัจจัยที่มีผลต่อขวัญและกำลังใจของทหารที่ไปปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีศึกษา : หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 23 จังหวัดปัตตานี

Titleปัจจัยที่มีผลต่อขวัญและกำลังใจของทหารที่ไปปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีศึกษา : หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 23 จังหวัดปัตตานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsประเวศสุทธิ สุทธิประภา
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberUB ป384
Keywordsขวัญในการทำงาน, จังหวัดชายแดนภาคใต้, ทหาร -- ปัตตานี -- ความพอใจในการทำงาน, ทหาร -- ความพอใจในการทำงาน
Abstract

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน และศึกษาปัญหา แนวทางแก้ไขเกี่ยวกับการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของทหารที่ไปปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ คือ กำลังพลของหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 23 (พัน.ร.603) ที่ไปปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551-ตุลาคม 2552 โดยการสุ่มตัวอย่าง จำนวน 280 คน จาก 826 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ แบบสอบถามและคำถามปลายเปิด การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้การวิเคราะห์เชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า ระดับขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของทหารในหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ 23 ในภาพรวมอยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ย=3.58) โดยระดับขวัญและกำลังใจที่อยู่ระดับสูง ได้แก่ ด้านความสำเร็จในการทำงาน (ค่าเฉลี่ย=3.99) ด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน (ค่าเฉลี่ย=3.76) ด้านสภาพการทำงาน (ค่าเฉลี่ย=3.71) ด้านนโยบายและการบริหาร (ค่าเฉลี่ย=3.68) ด้านการปกครองบังคับบัญชา (ค่าเฉลี่ย=3.68) ด้านการได้รับการยอมรับนับถือ (ค่าเฉลี่ย=3.51) ส่วนระดับขวัญและกำลังใจที่อยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ ด้านลักษณะของงานที่ทำ (ค่าเฉลี่ย=3.48) ด้านความก้าวหน้า (ค่าเฉลี่ย=3.46) ด้านความรับผิดชอบ (ค่าเฉลี่ย=3.31) และด้านรายได้และผลประโยชน์เกื้อกูล (ค่าเฉลี่ย=3.25) ปัจจัยที่มีผลต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของทหารในหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 23 ได้แก่ การมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน การได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ในขณะออกปฏิบัติหน้าที่นอกที่ตั้ง เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อาวุธปืน เสื้อเกราะกันกระสุน วิทยุสื่อสาร การได้รับความร่วมมือจากประชาชน สื่อมวลชน องค์กร เอกชนในการแจ้งเบาะแสข้อมูลข่าวสาร หรือเป็นพยานให้กับทหาร การได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ประจำตัวและประจำหน่วยในการปฏิบัติงาน การได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น เสื้อเกราะ เครื่องตัดสัญญาณรีโมทและโทรศัพท์ เพื่อป้องกันการจุดระเบิด และภาษาและวัฒนธรรมของพื้นที่ที่ไปปฏิบัติงานมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนปัญหาและแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับการเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน พบว่า ปัญหาที่ให้ข้อคิดเห็นมากที่สุดเรียงจากมากไปหาน้อย คือ ปริมาณงานในพื้นที่มีมาก กำลังพลไม่เพียงพอ สวัสดิการไม่เหมาะสมในค่าครองชีพในปัจจุบัน อาวุธยุทโธปกรณ์ไม่ครบ ขาดอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง มีแรงกดดันจากผู้บังคับบัญชา ความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม นโยบายแนวทางการปฏิบัติงานยังไม่ชัดเจน การเดินทางกลับใช้เวลานานไม่ปลอดภัยและความห่างไกลครอบครัว สำหรับแนวทางแก้ไขผู้วิจัยได้เสนอแนะไว้ คือ การจัดกำลังพลควรจัดจากหน่วยเดียวกันให้มากที่สุดควรสนับสนุนยุทโธปกรณ์ประจำตัวประจำหน่วยที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ จัดเครื่องมือเฝ้าตรวจเพื่อทดแทนการใช้กำลังพลอย่างเหมาะสม ควรเตรียมความพร้อมด้านภาษาและวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้กับกำลังพล ควรจัดสวัสดิการให้เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้ทันเวลา และด้านนโยบายและการบริหารควรกำหนดให้ชัดเจน และกำหนดความรับผิดชอบให้แต่ละระดับนำไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง
ผลการวิจัยนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง เสริมสร้างขวัญและกำลังใจและใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาให้กับหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

Title Alternate The factors which influence the morale's level of soldiers in three southern border provinces : a case study of Pattani specific unit no.23