แนวโน้มผลจับ การจำแนกสต๊อค พลวัตประชากร และปริมาณการจับที่เหมาะสมของปลาทู Rastrelliger brachysoma (Bleeker, 1851) ในอ่าวไทย

Titleแนวโน้มผลจับ การจำแนกสต๊อค พลวัตประชากร และปริมาณการจับที่เหมาะสมของปลาทู Rastrelliger brachysoma (Bleeker, 1851) ในอ่าวไทย
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2559
Authorsสนธยา กูลกัลยา
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต--สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSH ส191 2559
Keywordsการจับปลาทู, ประชากรปลา, ปลาทู--การอนุรักษ์, ปลาทู--อาหาร, ปลาทู--อ่าวไทย
Abstract

การประมงทะเลของประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างมากและยาวนานมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2490 ผลจับจากการประมงทะเลไทยประกอบด้วยปลาผิวน้ำ และปลาหน้าดิน และสัตว์น้ำทะเลชิดอื่น ๆ ในบรรดาปลาผิวน้ำ ปลาทู Rastrelliger brachysoma (Bleeker, 1851) เป็นสัตว์น้ำที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และเป็นปลาทะเลที่ประชาชนทั่วไปนิยมบริโภคและเข้าถึงได้มากที่สุด ดังนั้นเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลในอ่าวไทยอย่างยั่งยืน งานวิจัยครั้งนี้จึงดำเนินการศึกษาวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (ก) ตรวจสอบความแปรปรวน และตรวจสอบแนวโน้ม รวมทั้งรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของผลจับปลาในอ่าวไทย (โดยเฉพาะปลาทู) และ (ข) เพื่อจำแนกสต๊อกของปลาทูในอ่าวไทย และเมื่อได้ข้อค้นพบการศึกษาในวัตถุประสงค์ที่สองแล้วนั้น จึงนำผลดังกล่าวมาประเมินการเติบโต และการตายของปลาทูแต่ละสต๊อกในอ่าวไทยเพื่อประเมินหาระดับการทำการประมงที่เหมาะสมในการทำการประมงปลาทูแต่ละสต๊อกในอ่าวไทยซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ข้อที่สามของการศึกษาในครั้งนี้
ความแปรปรวน แนวโน้ม และรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของผลจับปลาทะเลในอ่าวไทยได้ดำเนินการศึกษาโดยใช้ข้อมูลผลจับปลาทะเล 35 ชนิด/กลุ่ม รายปี จำนวน 26 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2527-2552 ผลการศึกษาปรากฎว่าทำการประมงในอ่าวไทยนั้นพัฒนาจนเลยจุดอิ่มตัวมาแล้ว และกำลังเข้าสู่สภาวะไม่มั่นคง เปราะบางต่อการล่มสลายของทรัพยากรเป็นอย่างมาก โดยผลการศึกษายังพบว่าปลาทูมีความแปรปรวนของผลจับในระยะยาวต่ำสุด ขณะที่ผลจับมีปริมาณมาก นอกจากนี้ปลาทูยังมีแนวโน้มของผลจับที่เพิ่มขึ้นถึง พ.ศ. 2547 และผลจับมีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จากผลการวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุรองเพื่อการจำแนกสต๊อกปลาทูในอ่าวไทย พบว่าสามารถจัดจำแนกสต๊อกปลาทูออกได้เป็น 4 สต๊อกตามพื้นที่เก็บตัวอย่าง ได้แก่ สต๊อกอ่าวไทยฝั่งตะวันออก สต๊อกอ่าวไทยตอนบน สต๊อกอ่าวไทยตอนกลาง และสต๊อกอ่าวไทยตอนล่าง นอกจากนี้ผลการศึกษาการติดตามองค์ประกอบธาตุรองจากแก่นกลางกระดูกหูถึงขอบกระดูกหูของปลาทูยังแสดงผลให้เห็นว่าปลาทูแต่ละสต๊อกใช้ชีวิตอยู่ในสต๊อกเฉลี่ยร้อยละ 62 (เพศผู้) และร้อยละ 83 (เพศเมีย) ของช่วงชีวิตปลาแต่ละตัว
ค่าพารามิเตอร์การเติบโตจากแบบจำลองของ von Bertalanffy พบว่า มีความแตกต่างกันระหว่างสต๊อกปลาทูต่าง ๆ ยืนยันได้ถึงการแยกกันจริงระหว่างสต๊อกปลาทูสต๊อกต่าง ๆ ในอ่าวไทย ผลการศึกษาถึงระกับการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมของสต๊อกปลาทูในอ่าวไทยฝั่งตะวันออกมีค่าขนาดแรกจับที่เหมาะสมระหว่าง 134.56-192.23 มิลลิเมตร ค่าอัตราการใช้ประโยชน์ควรอยู่ระหว่าง 0.65-1.00 ต่อปี ซึ่งสื่อได้ถึงระดับอัตราการตายโดยการประมงที่เหมาะสมควรมีค่าอยู่ระหว่าง 3.35-5.16 ต่อปี สำหรับอ่าวไทยตอนบนมีขนาดแรกจับที่เหมาะสมระหว่าง 134.47-206.88 มิลลิเมตร ค่าอัตราการใช้ประโยชน์ควรอยู่ระหว่าง 0.60-1.00 ต่อปี ซึ่งสื่อได้ถึงระดับอัตราการตายโดยการประมงที่เหมาะสมควรมีค่าอยู่ระหว่าง 2.86-4.77 ต่อปี อ่าวไทยตอนกลางมีขนาดแรกจับที่เหมาะสมระหว่าง 143.41-220.63 มิลลิเมตร ค่าอัตราการใช้ประโยชน์ควรอยู่ระหว่าง 0.60-1.00 ต่อปี ซึ่งสื่อได้ถึงระกับอัตราการตายโดยการประมงที่เหมาะสมควรมีค่าอยู่ระหว่าง 2.29-3.81 ต่อปี ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีขนาดแรกจับที่เหมาะสมระหว่าง 123.27-189.64 มิลลิเมตร ค่าอัตราการใช้ประโยชน์ควรอยู่ระหว่าง 0.64-1.00 ต่อปี ซึ่งสื่อได้ถึงระดับอัตราการตายโดยการประมงที่เหมาะสมควรมีค่าอยู่ระหว่าง 3.47-5.42 ต่อปี
ผลทั้งหมดที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบและเห็นภาพร่างของสภาวะทรัพยากรปลาทะเลในอ่าวไทย โดยเฉพาะปลาทูที่ได้ศึกษาค้นพบข้อมูลจำนวนสต๊อกปลาทูในอ่าวไทย และข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับระดับการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมสำหรับปลาทูแต่ละสต๊อก ซึ่งผลจากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปใช้สำหรับการจัดการประมง เพื่อให้มีทรัพยากรปลาทูในอ่าวไทยไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

Title Alternate Trend analysis, stock determination, population dynamics and optimum yields of Indo-Pacific mackerel Rastrelliger brachysoma (Bleeker, 1851) in the Gulf of Thailand