ทอผ้า..สานเส้นใย

การทอผ้านั้นต้องอาศัยฝีมือและความรู้ความชำนาญของผู้ทอเป็นอย่างมาก เป็นงานศิลปะที่มีอยู่เพียงชิ้นเดียวในโลก เพราะแต่ละคนที่ทำแต่ละขั้นตอน จะมีความแตกต่างกัน เส้นไหมที่สาวได้แต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละระยะของฝักไหมให้ความหนาของเส้นไม่เท่ากัน สีไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นแล้วความสามารถในการทอ การสอดกระสวย ความแรงในการตีกระทบหรือการฟัดทำให้ได้สีเข้มอ่อนต่างกัน การเรียงเส้นไหมให้ตรงลายจะแสดงถึงความคมชัดและความชำนาญของผู้ทอแต่ละคน อากาศ อุณหภูมิ หรือแม้แต่อารมณ์ความรู้สึกของผู้ทอ สิ่งเหล่านี้มีผลกับความสวยงามของผ้าผืนนั้น ๆ จึงทำให้ผ้าทอมือแต่ละผืนที่ทอ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองและมีเพียงผืนเดียวในโลกเท่านั้น

1.โครงหูกหรือโครงกี่ ประกอบด้วยเสา 4 ต้น มีรางหูกหรือรางกี่ 4 ด้าน ทั้งด้านบนและด้านล่าง เสาแต่ละด้ายมีไม้ยึดติดกันเป็นแบบดั้งเดิมที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

การทอผ้า บ้านสมพรรัตน์
กี่ทอผ้า

2.ฟืม หรือ ฟันหวี มีฟันเป็นซี่ คล้ายหวี ใช้สำหรับสอดเส้นไหมยืนเพื่อจัดเส้นไหมให้อยู่ห่างกัน และใช้กระทบไหมเส้นพุ่งให้สานขัดกับไหมเส้นยืนที่อัดแน่นเป็นเนื้อผ้า ฟันฟืมอาจจะทำด้วยไม้ หรือเหล็ก หรือสแตนเลสก็ได้ มีหลายขนาด ขึ้นกับว่าผู้ใช้จะต้องการผ้ากว้างขนาดเท่าใด เช่น ฟืมอาจมี 35-50 หลบ หรือมากกว่านี้ แต่ละหลบมี 40 ช่องฟัน แต่ละช่องจะสอดเส้นไหมยืน 2 เส้น ดังนั้นการทอผ้าครั้งหนึ่ง ๆ อาจจะใช้เส้นไหมยืนประมาณ 2800-4000 เส้น ชาวบ้านสมพรรัตน์จะนิยมใช้ฟืม 50 หรือ 60

การค้นหูก ทำเส้นยืน บ้านสมพรรัตน์
ฟืม

3.เขาหูก หรือตะกอ คือ เชือกทำด้วยด้ายไนลอนที่ร้อยคล้องไหมยืน เพื่อแบ่งเส้นไหมเป็นหมวดหมู่ตามที่ต้องการเมื่อยกเขาหูกหรือตะกอขึ้น ก็จะดึงเส้นไหมยืนเปิดเป็นช่อง สามารถพุ่งกระสวยเข้าไปให้เส้นไหมพุ่งสานขัดกับเส้นไหมยืนได้ เวลาสอดเส้นไหมยืนต้องสอดสลับกันไปเส้นหนึ่งเว้นเส้นหนึ่ง และมีเชือกผูกเขาหูกแขวนไว้กับโครงกี่ด้านบนสามารถเลื่อนไปมาได้ ส่วนด้านล่างผูกเชือกติดกับคานเหยียบ เมื่อต้องการดึงแยกเส้นไหมให้เป็นช่องจะใช้เท้าเหยียบที่คานเหยียบทำให้เขาหูกเลื่อนขึ้น-ลง เกิดเป็นช่องสำหรับใส่เส้นไหมพุ่ง หากต้องการทอผ้าเป็นลวดลายที่งดงาม จะต้องใช้ตะกอและคานเหยียบจำนวนหลายอัน วิธีการเก็บตะกอหรือเก็บเขาจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของผ้าและลวดลายของผ้าที่จะทำ การทอผ้าของชาวบ้านสมพรรัตน์ส่วนใหญ่จะใช้แบบ 2 ตะกอ

การทอผ้า บ้านสมพรรัตน์
เขาหูกแบบ 4 ตะกอ

4.กระสวย ใช้บรรจุหลอดเส้นไหมพุ่ง มีหลายแบบ อาจจะทำจากไม้ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง หรือพลาสติกให้มีน้ำหนักพอประมาณจะได้ไม่พลิกเวลาพุ่งกระสวย มีความลื่นและไม่มีเสี้ยน ขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เจาะรูตรงกลาง ทำปลายทั้งสองด้านให้งอนเล็กน้อย เพื่อให้ลอดผ่านเส้นไหมยืนได้ง่ายขึ้น

การทอผ้า บ้านสมพรรัตน์
กระสวย

5.ไม้หน้าหูก คือ ไม้ที่อยู่ส่วนหน้าสุดของหูก สำหรับผูกขึงลูกตุ้งทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ

6.ไม้รางหูก คือ ไม้ที่พาดขวางโครงหูก ส่วนบนทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำมี 3-4 ท่อน ใช้สำหรับผูกแขวนลูกตุ้ง ไม้ข้างเขา และฟืม

7.กระดานม้วนหูก เป็นไม้กระดานที่ใช้สำหรับม้วนปลายด้านหนึ่งของเส้นไหมยืน ซึ่งม้วนเก็บและจัดเส้นยืนให้เป็นระเบียบ นอกจากนี้ยังช่วยให้เส้นไหมในหูกตึง โดยที่ปลายอีกด้านหนึ่งผูกติดหรือพันไว้กับม้วนผ้า

8.ลูกตุ้ง คือไม้ที่สอดค้างกระดานม้วนหูก มี 2 ลูก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ส่วนหัวของลูกตุ้งเจ้าสำหรับแขวนไว้กับรางหูกและต้องผูกยึดติดลูกตุ้งไว้กับไม้หน้าหูก เพื่อไม่ให้ไม้ลูกตุ้งแกว่งไปมา

9.ไม้ค้างเขาหรือไม้ค้างตะกอ เป็นไม้ 2 อันสำหรับแขวนเขาหูกหรือตะกอ ส่วนปลายทั้งสองด้าน จะเจาะรูผูกเชือกแขวนไว้กับไม้ที่พาดขวางรางหูก

10.คานแขวน เป็นไม้หาบหูก โดยสอดกับเชือกที่ผูกกับเขาด้านบน เพื่อให้หูกยึดติดกับกี่ โดยไม้หาบหูกจะมีอันเดียวไม่ว่าจะใช้ฟืมที่มีเขา 2 เขา 3 เขา หรือ 4 เขา

11.ตีนฟืม หรือตีนเหยียบ หรือคานเหยียบ คือ ไม้ 2-4 อัน ขึ้นกับจำนวนเขาหรือตะกอ โดยตีนเหยียบนี้จะผูกเชือกเชื่อมโยงกับเขาหูก เพื่อใช้สำหรับเหยียบดึงเขาหูก 2-4 ตับ ให้รั้งเส้นไหมยืนขึ้นหรือลงสลับกันและเปิดช่องว่างให้กระสวยพุ่งผ่าน ตีนฟืมจะมีลักษณะกลม ยาวประมาณ 1.5-2 เมตร และจะวางขวางกับโครงหูก

การทอผ้า บ้านสมพรรัตน์
ไม้เหยียบหูก

12.ไม้ม้วนผ้า หรือไม้พันผ้า หรือไม้ค้ำพัน คือ ไม้ที่ใช้ผูกปลายด้านหนึ่งของไหมยืน ซึ่งสอดผ่านฟันหวีแล้วใช้ผ้าไหมที่ทอเป็นเนื้อผ้าแล้ว โดยส่วนใหญ่ไม้ม้วนผ้าทำด้วยไม้เหลี่ยมยาวประมาณ 120-180 เซนติเมตร

13.บ่ากี่ คือไม้ที่ใช้รองรับส่วนปลายสองด้านของไม้ม้วนผ้ามี 2 หลัก แต่ละหลักมีระยะห่างกันตามความกว้างของหูก

14.ไม้นั่ง เป็นไม้กระดานที่ใช้สำหรับนั่งทอผ้า ความยาวของไม้นั่งเท่ากับความกว้างของโครงหูก

15.ผัง เป็นไม้ที่ใช้ขึงไว้ตามความกว้างของริมผ้าที่ทอ เพื่อให้หน้าผ้าตึงพอดีกับฟืม ปลายทั้งสองของผังอาจเหลาแหลมเป็น 2 แฉกหรือเป็นทองเหลืองที่มี 2 แฉกสวมทั้งสองข้าง

การทอผ้า บ้านสมพรรัตน์
ผัง

หลักการทำงานของกี่ทอผ้า

นวลแข ปาลิวนิช (2542) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักการทำงานของกี่ทอผ้าไว้ ดังนี้

1.ทำให้เกิดช่องว่าง (shedding) โดยสับตะกอยกแล้วแยกไหมเส้นยืนออกเป็น 2 หมู่ โดยหมู่หนึ่งขึ้นและหมู่หนึ่งลงเพื่อให้เกิดช่องว่างให้สอดเส้นไหมพุ่งผ่าน

การทอผ้า บ้านสมพรรัตน์
การทำให้เกิดช่องว่าง

2.การสอดไหมเส้นพุ่ง (picking) จะใช้กระสวยส่งไหมเส้นพุ่ง สอดไหมเส้นพุ่งให้พุ่งผ่านช่องว่างที่เปิดเตรียมไว้

การทอผ้า บ้านสมพรรัตน์
การสอดเส้นพุ่งที่พันในหลอดด้วยกระสวย

3.การกระทบไหมเส้นพุ่ง (battering) เมื่อสอดไหมเส้นพุ่งผ่านแล้วจะต้องใช้ตัวฟืมกระทบไหมเส้นพุ่งให้เรียงสานขัดกับไหมเส้นยืนชิดติดกันแน่นเป็นเนื้อผ้า

การทอผ้า บ้านสมพรรัตน์
ใช้ฟืมกระทบเส้นไหมให้ติดชิดกันแน่นเป็นเนื้อผ้า

4.การเก็บและม้วนผ้าเก็บ (taking up and letting of) เมื่อทอผ้าได้จำนวนหนึ่งแล้วจะต้องมีการม้วนผ้าเก็บเข้าแกนม้วน โดยจะต้องมีการปรับไหมเส้นยืนให้หย่อนก่อนจึงม้วนผ้าเก็บ

การทอผ้า บ้านสมพรรัตน์
ม้วนเก็บผืนผ้าที่ทอแล้วเข้ากับไม้ค้ำพัน

ขั้นตอนการทอผ้า

หลักการในการทอผ้า คือ การเอาเส้นไหมมากกว่า 2 เส้นขึ้นไปมาขัดสลับกัน ซึ่งมีวิธีการทอเป็นขั้น ๆ ดังนี้

1.เมื่อเตรียมไหมเส้นพุ่งและไส้หูกเรียบร้อยแล้ว นำเอาเส้นหูกอันใหม่สืบต่อกับไส้หูกที่ค้างอยู่ในเขาหูกและร่องฟันฟืมเดิม กางกี่หรือหูกให้เรียบร้อย

2.เอาหลอดไหมเข้าร่องกระสวย ร้อยไหมจากหลอดผ่านรูเล็ก ๆ ข้างกระสวย หากเส้นไหมหมดจากหลอดแรก ต้องเอาหลอดที่ 2,3… ตามลำดับหลอดที่ร้อยไว้ บรรจุเข้ากระสวยและทอตามลำดับ

3.คล้องเชือกจากเขาหูกอันหนึ่งเข้ากับไม้คันเหยียบข้างใดข้างหนึ่งและคล้องเชือกเขาหูกที่เหลืออีกอันเข้ากับไม้คันเหยียบอีกอัน เมื่อเหยียบไม้คันเหยียบข้างหนึ่ง ไส้หูกกางออกเป็นช่องเนื่องจากการดึงของเขาหูก พุ่งกระสวยผ่านช่องว่างนั้น แล้วดึงฟืมกระทบเส้นฝ้ายที่ออกมาจากกระสวยเข้าไปเก็บไว้ เหยียบไม้คันเหยียบอีกอัน พุ่งกระสวยผ่านช่องว่าง กลับมาทางเดิม ดึงฟืมกระทบเส้นฝ้ายเข้าเก็บ เหยียบไม้คันเหยียบอีกอัน พุ่งกระสวย ดึงฟืมกระทบ เหยียบไม้คันเหยียบ ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ จนได้ผืนผ้าเกิดขึ้นยากมากแล้ว จึงพันผืนผ้าไว้ด้วยไม้คำพัน

การทอผ้า บ้านสมพรรัตน์

จากประสบการณ์การทอผ้า ชาวบ้านสมพรรัตน์เล่าว่า ในเวลา 1 วัน จะทอผ้าไหมได้ประมาณ 1 เมตร ถ้าอากาศดี ท้องฟ้ามีแดด จะทอผ้าได้สวยกว่าวันที่ฝนตก อากาศชื้น เพราะไหมจะเหนียว เส้นไหมไม่ตึง ทอยาก

บรรณานุกรม

  • ทองสุข วันแสง. (2537). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพการทอผ้าไหมมัดหมี่. วิทยานิพนธ์ ปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, กรุงเทพฯ.
  • นวลแข ปาลิวนิช. (2542). ความรู้เรื่องผ้าและเส้นใย. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.