การปฏิรูปนโยบายป่าไม้แห่งชาติ : ศึกษาเฉพาะกรณีกรมป่าไม้

Titleการปฏิรูปนโยบายป่าไม้แห่งชาติ : ศึกษาเฉพาะกรณีกรมป่าไม้
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2554
Authorsณพพลวรรฒ โสมณวัตร์
Degreeรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต--สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSD ณ161ก
Keywordsการจัดการป่าไม้, นโยบายป่าไม้
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาของนโยบายที่เกี่ยวกับการป่าไม้ของประเทศไทยและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ศึกษาและวิเคราะห์นโยบายป่าไม้แห่งชาติ รวมทั้งเสนอแนวทางการปฏิรูปนโยบายป่าไม้แห่งชาติให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทการป่าไม้ของประเทศไทย โดยศึกษาตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งกรมป่าไม้จนถึงปัจจุบันด้วยวิธีการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเอกสาร รวมทั้งการสัมภาษณ์ ตามกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัย พบว่า
1.ป่าไม้มีความสำคัญในฐานะสินค้าที่ให้มูลค่าเชิงพาณิชย์ จึงมีการแย่งชิงทรัพยากรป่าไม้ของกลุ่มคนหลายฝ่ายมาอย่างต่อเนื่อง นโยบายว่าด้วยการป่าไม้ของไทยเริ่มจากการตั้งกรมป่าไม้ขึ้นเป็นองค์กรควบคุมเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้ โดยแนวนโยบายป่าไม้ในระยะที่ผ่านมาเน้นเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก มุ่งนำป่าไม้ไปเป็นต้นทุนของการพัฒนาประเทศ ต่อเมื่อป่าไม้ลดลงแนวนโยบายจึงปรับมาเป็นการจัดการป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์มากขึ้น รวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการป่าไม้หลายครั้ง
2.ในส่วนนโยบายป่าไม้แห่งชาติมีความล้าสมัย ขาดความยืดหยุ่นและไม่มีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการป่าไม้ให้เกิดประสิทธิภาพในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบไม่เพียงแต่ด้านทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสภาพการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองการปกครองของประเทศ รวมทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับป่าไม้ แนวทางแก้ปัญหาได้แก่การปฏิรูป นโยบายป่าไม้แห่งชาติ โดยข้อเสนอแนะการปฏิรูปนโยบายป่าไม้แห่งชาติกำหนดขึ้นสำหรับภารกิจของกรมป่าไม้ในปัจจุบันเพื่อให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย
3.ข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ ควรมีการปฏิรูปนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเร่งรัดการควบรวมกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเข้าเป็นกรมป่าไม้ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของภารกิจการป่าไม้ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปกฎหมาย รวมทั้งกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการป่าไม้ให้มีความเหมาะสมและเอื้อต่อการบริหารจัดการป่าไม้ต่อไป

Title Alternate National forest policy reform: a case study of royal forest department