แรงจูงใจในการเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Titleแรงจูงใจในการเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2553
Authorsมะลิวัลย์ สินน้อย, คำพุกกะ, ปวีณา, บุญไชย, สยุมพร
Institutionสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberLB1065 ม272
Keywordsการจูงใจในการศึกษา, การศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา, การเรียน -- การตัดสินใจ, นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Abstract

การวิจัยเรื่อง แรงจูงใจในการเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบแรงจูงใจในการตัดสินใจเลือกสมัครเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายชั้นปีที่ 6 จำนวน 460 คน จากโรงเรียนประจำจังหวัด 4 โรงเรียน ได้แก่ 1)โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี 2)โรงเรียนยโสธรพิทยาคม จังหวัดยโสธร 3) โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย จังหวัดศรีสะเกษ 4) โรงเรียนอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับแบบสอบถามกลับคืนจำนวนทั้งสิ้น 418 ชุด คิดเป็นร้อยละ 90.87 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (x) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) สถิติที (t- test ) สถิติ เอฟ (F-test)
ผลการวิจัยพบว่าเป็นนักเรียนเพศชาย จำนวน 131 คน (ร้อยละ 31.34) เพศหญิงจำนวน 287 คน (ร้อยละ 68.66) มีเกรดเฉลี่ยสะสมในขณะที่ศึกษาอยู่ในระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่ มีเกรดเฉลี่ย ระดับ 2.51 - 3.00 จำนวน 134 คน (ร้อยละ 32.06) สายวิชาที่ศึกษาอยู่สายวิทย์คณิต มากที่สุด จำนวน274 คน (ร้อยละ 65.55) อาชีพของผู้ปกครอง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการ จำนวน 158 คน (ร้อยละ 37.80) รายได้ของผู้ปกครองส่วนใหญ่มี รายได้มากที่สุด 20,001 บาท ขึ้นไป จำนวน 147 คน (ร้อยละ 35.17) สถานภาพของบิดา - มารดาส่วนใหญ่ บิดา - มารดา อยู่ด้วยกันจำนวน 358 คน (ร้อยละ 85.65) ส่วนใหญ่ได้รับค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อเดือนจากผู้ปกครองต่ำกว่า 3,000 บาท จำนวน 238 คน (ร้อยละ 56.94) นักเรียนได้รับข่าวสารข้อมูล ด้านการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ผ่านสื่อ เว็บไซต์มหาวิทยาลัย จำนวน 288 คน (ร้อยละ 51.43) นักเรียนเลือกศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 330 คน (ร้อยละ 78.95) และไม่เลือกศึกษาต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 88 คน (ร้อยละ 21.05) นักเรียนที่เลือกศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนใหญ่สนใจเลือกศึกษาต่อที่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขซึ่งเป็นคณะที่เปิดล่าสุดของมหาวิทยาลัย จำนวน 78 คน (ร้อยละ23.64) รองลงมา คณะเภสัชศาสตร์ จำนวน 64 คน (ร้อยละ 19.39) เหตุผลสำคัญที่เลือกศึกษาต่อในคณะต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีเหตุผลเลือกเพราะตรงตามความสนใจ และความถนัดของตนเอง จำนวน 276 คน (ร้อยละ 68.15) ส่วนด้านแรงจูงใจในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสถาบัน พบว่าส่วนใหญ่นักเรียนมีแรงจูงใจในระดับมากทุกเรื่อง โดยเรียงตามลำดับ ดังนี้ 1) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอยู่ใกล้บ้านทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 2) คณาจารย์มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป 3) มหาวิทยาลัยผ่านการรับรองการประกันคุณภาพการศึกษา 4) เสียค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันอื่น ๆ 5) การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีประสิทธิภาพ 6) การพัฒนาของมหาวิทยาลัยมีความเจริญก้าวหน้ามาโดยตลอดทำให้อยากเข้าศึกษาต่อ ส่วนลำดับที่ 7 และลำดับที่ 8 มีความคิดเห็นเท่ากัน 7) บัณฑิตที่จบจาก
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นที่ยอมรับของสังคม 8) เป็นสถาบันที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี สื่อวัสดุ อุปกรณ์ เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ส่วนลำดับที่ 9 และลำดับที่ 10 มีความคิดเห็นเท่ากัน 9) เป็นสถาบันที่มีสภาพแวดล้อม บรรยากาศดี พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ศูนย์คอมพิวเตอร์ ศูนย์อาหาร หอพักนักศึกษา 10) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีทุนการศึกษาให้ 11) มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในระดับภูมิภาคอีสานใต้ 12) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีสาขาวิชาหลากหลายให้เลือก 13) มหาวิทยาลัยมีส่วนช่วยเหลือชุมชน 14)มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีค่าครองชีพถูกกว่าหลาย ๆ สถาบัน 15) มีความคุ้นเคยกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนด้านบุคคลแวดล้อม พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีแรงจูงใจในระดับมากเกือบทุกเรื่อง โดยเรียงตามลำดับ ดังนี้ 1)ได้รับคำแนะนำจากครูอาจารย์ แนะแนว 2) ได้รับคำแนะนำจากพี่ๆที่จบจากสถาบันนี้ 3) ได้รับคำแนะนำจากบิดา-มารดา-ผู้ปกครอง 4) ได้รับคำแนะนำจากหน่วยงาน/ทีมงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้านความถนัดและความสนใจส่วนตัว พบว่า นักเรียนมีแรงจูงใจในระดับมากทุกเรื่องโดยเรียงลำดับ ดังนี้ 1) ผู้ที่จบจากคณะที่เลือกสามารถประกอบอาชีพที่อาจทำชื่อเสียงให้แก่ตนเองและวงศ์ตระกูล 2) ผู้ที่จบจากคณะที่เลือกมีเกียรติได้รับการยกย่องนับถือจากสังคม 3) ผู้ที่จบจากคณะที่เลือกเรียนมีรายได้สูง และในลำดับที่ 4 และลำดับที่ 5 มีความคิดเห็นเท่ากัน 4) ผู้ที่จบจากคณะที่เลือกช่วยให้หางานได้หลายอาชีพ 5) ผู้ที่จบจากคณะที่เลือกไม่ตกงานแน่นอน การเปรียบเทียบระหว่างตัวแปรพบว่าแรงจูงใจของนักเรียนในด้านสถาบัน(มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ด้านบุคคลแวดล้อม และด้านความถนัดกับความสนใจส่วนตัว มีความแตกต่างกันตามโรงเรียนที่ศึกษาอยู่และระดับของเกรดเฉลี่ยสะสมของนักเรียนที่มีอิทธิพลต่อแรงจูงใจให้มีความแตกต่างกัน ส่วนเพศสายการศึกษาของนักเรียน และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนที่ผู้ปกครองให้ต่างมีอิทธิพลต่อแรงใจจูงในการเข้าศึกษาต่ออย่างไม่มีนัยสำคัญ

Title Alternate Students' motivations of selecting Ubon Ratchathani University for further study
Fulltext: