ความหลากหลายทางชีวภาพ ความเหมาะสมของแหล่งอาศัย ชีววิทยาของปลาที่มีความสำคัญและสภาวะทางเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ : กรณีศึกษา อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก (พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดเล็ก)

Titleความหลากหลายทางชีวภาพ ความเหมาะสมของแหล่งอาศัย ชีววิทยาของปลาที่มีความสำคัญและสภาวะทางเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ : กรณีศึกษา อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก (พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดเล็ก)
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2555
Authorsกฤติมา เสาวกูล
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQL ก277ค
Keywordsความหลากหลายทางชีวภาพ--บุรีรัมย์, ความเหมาะสมของแหล่งอาศัย, ชีววิทยาน้ำจืด, ปลาน้ำจืด--บุรีรัมย์, องค์ประกอบสัตว์น้ำ, อาหารธรรมชาติ, เศรษฐกิจและสังคมชาวประมง
Abstract

ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ความเหมาะสมของแหล่งอาศัย ชีววิทยาของปลาที่มีความสำคัญและสภาวะทางเศรษฐกิจสังคมในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ในมิติของฤดูกาลและพื้นที่ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2552 ? เดือนมิถุนายน 2553 โดยแบ่งเป็น 4 ฤดูกาลตามการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยา ได้แก่ ฤดูแล้ง (ธันวาคม-กุมภาพันธ์), ปรับเปลี่ยน 1 (มีนาคม?พฤษภาคม), ฝน (มิถุนายน-สิงหาคม) และ ปรับเปลี่ยน 2 (กันยายน-พฤศจิกายน) ใน 3 บริเวณ (ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ) จำนวนทั้งสิ้น 12 สถานี เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการบริหารจัดการทรัพยากรประมลและพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก
ผลการศึกษา พบปลาเต็มวัยทั้งสิ้น 15 วงศ์ 32 ชนิด โดยพบปลาในวงศ์ Cyprinidae มากที่สุด จำนวน 13 ชนิด วงศ์ Belontiidae จำนวน 4 ชนิด วงศ์ Mastacembelidae และวงศ์ Nandidae จำนวน วงศ์ละ 2 ชนิด สำหรับวงศ์อื่น ๆ พบเพียงวงศ์ละ 1 ชนิด โดยปลาชนิดที่พบปริมาณมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ปลากระสูบขีด (Hampala macrolepidota) ปลาบู่ทราย (Oxyeleotris marmorata) และปลากระทุงเหว (Xenetodon cancila) ส่วนปลาที่มีเปอร์เซ็นต์ความถี่ในการพบสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ปลากระสูบขีดและปลากระทุงเหวมีค่าเท่ากับ 89.58 เท่ากัน และปลาช่อน (Channa striata) มีค่าเท่ากับ 72.92 การศึกษารูปแบบการรวมกลุ่มของปลา พบว่า สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 จะพบในฤดูแล้งบริเวณต้นน้ำ และในฤดูปรับเปลี่ยน 1 จะพบแพร่กระจายทั่วไปทั้งอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ ปลาซิวหนวดยาว (Esomus metallicus) ปลาหลดจุด (Macrognathus siamensis) ปลาซิวหางแดง (Rasbora borapetensis) ปลากระดี่นาง (Trichogaster microlepis) ปลากริมควาย (Trichopsis vittatus) และปลาซิวหางกรรไกร (Rasbora spilocerca) ส่วนปลาในกลุ่มที่ 2 จะพบแพร่กระจายทั่วไปทั้งอ่างเก็บน้ำตลอดทั้งปี ได้แก่ ปลาหมอไทย (Anabas testudinius) ปลาซิวแก้ว (Clupeiththys aesarnensis) ปลาดุกบิ๊กอุย (Clarias macrocephalus x Clarias gariepinus) ปลาไส้ตันตาแดง (Cyclocheilichthys apogon) ปลากระสูบจุด (Hampala dispar) ปลาสร้อยปีกแดง (Henicorhynchus ornatipinnis) ปลาไหล (Monoterus albus) ปลาปักเป้าจุดดำ (Monotreta fangi) ปลาสลาด (Notopterus notopterus) ปลาชะโอน (Ompok bimaculatus) ปลานิล (Oreochromis niloticus) ปลากระทุงเหว และปลาหมอช้างเหยียบ (Pristolepis fasciata) และกลุ่มที่ 3 สามารถพบในบริเวณต้นน้ำและกลางน้ำได้ทุกฤดูกาลเช่นเดียวกัน แต่จะไม่พบในบริเวณปลายอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ ปลาตะเพียนขาว (Barbonysmus gonionotus) ปลาหน้าหมอง (Osteochilus lini) ปลาแป้นแก้ว (Parambassis siamensis) และปลากระดี่หม้อ (Trichogaster tricopterus)
ส่วนลูกปลาและปลาขนาดเล็กที่พบจากการศึกษามีจำนวนทั้งสิ้น 18 วงศ์ 34 ชนิด โดยพบปลาในวงศ์ Cyprinidae มากที่สุด จำนวน 14 ชนิด วงศ์ Osphronemidae จำนวน 3 ชนิด วงศ์ Cobitidae และ Nandidae จำนวน วงศ์ละ 2 ชนิด สำหรับวงศ์อื่น ๆ พบเพียงวงศ์ละ 1 ชนิด โดยปลาที่พบปริมาณมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ปลาซิวหางกรรไกร ปลาหมัด (Trichopsis schalleri) และปลาท้องพลุ (Parachela oxygastroides) ส่วนปลาที่พบทุกครั้งในการเก็บตัวอย่าง ได้แก่ ปลาซิวหางกรรไกร ปลาซิวหางแดงและปลาแป้นแก้ว ส่วนการเปลี่ยนแปลงของปริมาณและชนิดพบว่าทั้ง 2 ค่า จะมีค่าสูงที่สุดในสถานีต้นน้ำ (U10) ในช่วงฤดูแล้ง และมีค่าที่ต่ำสุดในแง่ประมาณในจุดสำรวจสถานีกลางน้ำ (M4) ในฤดูปรับเปลี่ยน 1 และในแง่ของความหลากชนิดจะพบในจุดสำรวจสถานีปลายน้ำ (D2) ในช่วงฤดูแล้ว จากผลการวิเคราะห์ความแปรปรวน พบว่า ความชุกชุมและความหลากชนิดในแต่ละจุดสำรวจและฤดูกาลไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ
การศึกษาด้านอาหารธรรมชาติในแหล่งน้ำ ในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก พบแพลงก์ตอนพืชทั้งสิ้น 3 ดิวิชัน 41 สกุล โดยดิวิชัน Chlorophyta พบมากที่สุด จำนวน 19 สกุล พบแพลงค์ตอนสัตว์ 3 ไฟลัม 19 สกุล โดยไฟลัม Protozoa พบมากที่สุด จำนวน 9 สกุล พบสัตว์หน้าดินทั้งสิ้น 5 คลาส 22 วงศ์ 35 ชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในคลาส Insecta จำนวน 15 สกุล และพบพรรณไม้น้ำ 28 ชนิด พืชกลุ่มใบเลี้ยงเดี่ยวพบมากที่สุด จำนวน 15 ชนิด สำหรับการวิเคราะห์ผลของคุณภาพน้ำและอิทธิพลทางกายภาพของแหล่งน้ำที่มีต่อชนิดของลูกปลาและปลาขนาดเล็ก ซึ่งพบว่าปลากลุ่มที่ 1 และ 2 มีความสัมพันธ์กันแบบแปรผันตรงกับค่าคุณภาพน้ำ โดยในกลุ่มที่ 1 จะสัมพันธ์กับคลอโรฟิลล์ เอ ค่าความเป็นด่างและสารแขวนลอยมีทั้งหมด 8 ชนิด ได้แก่ ปลาไส้ตันตาขาว ปลาสร้อยปีกแดง ปลาบู่ใส ปลาแป้นแก้ว ปลาถั่วงอก ปลาสร้อยหลอด ปลาซิวหลังแดง และปลากระทุงเหว กลุ่มที่ 2 มีความสัมพันธ์แบบแปรผันตรงกับ ค่าแอมโมเนียมอิออน ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ และค่าฟอสฟอรัส มีทั้งหมด 12 ชนิด ได้แก่ ปลานิล ปลาหมัด ปลาไหล ปลาตะเพียนทราย ปลากระสูบขีด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาอีด (Lepidocephalichthys furcatus) ปลาไส้ตันตาแดง ปลาซิวหางกรรไกร ปลาสลาด ปลาดุมซี และปลาหลดแคระ สำหรับในกลุ่มที่ 3 และ 4 จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของแหล่งน้ำเป็นหลัก กล่าวคือ สำหรับ กลุ่มที่ 3 มีความสัมพันธ์กับความลึกของน้ำ และพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำ มีทั้งหมด 8 ชนิด ได้แก่ ปลากริมควาย ปลากระดี่หม้อ ปลาซิวหางแดง ปลาซิวเจ้าฟ้า ปลาบู่ทราย ปลาท้องพลุ ปลาหน้าหมอง และปลาชะโอน และกลุ่มที่ 4 มีความสัมพันธ์กับค่าปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ความลึกของน้ำ และปริมาณน้ำฝน มีทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ ปลาซิวข้าวสาร ปลาซิวหนวดยาว ปลาซิวแก้ว ปลาอีด (Lepidocephalichthys hasselti) ปลาปักเป้าดำ และปลาช่อน ผลการศึกษาแบบจำลองแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม (Habitat Suitability Index Model) และการประเมินพื้นที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยที่เหมาะสม (Habitat Suitability Index Model) และการประเมินพื้นที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย (Habitat Units) ของประชากรปลา พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อความชุกชุมของปลาอย่างมีนัยสำคัญ คือ ความลึกของน้ำ ความเหมาะสมของแหล่งอาศัยของปลา ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่บริเวณความลึกของน้ำอยู่ระหว่าง 0.50-1.5 เมตร
การศึกษาชีววิทยาของปลาที่มีความสำคัญในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จากการศึกษาโครงสร้างของประชาคมปลา ตลอดช่วงระยะเวลาในการศึกษา พบว่า ปลาบู่ทรายเป็นปลาชนิดเด่นและมีความสำคัญเศรษฐกิจสูงสุด จึงใช้เป็นตัวแทนในการศึกษาชีววิทยาของปลาที่สำคัญในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและจากการศึกษา พบว่า อัตราส่วนเพศของปลาบู่ทราย เพศผู้ต่อเพศเมียไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยมีค่าเท่ากับ 1.07: 1.0 ส่วนค่าดัชนีความสมบูรณ์เพศพบว่าปลาเพศผู้ มีค่าอยู่ระหว่างร้อยละ 0.019-0.421 มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม และต่ำสุดในเดือนพฤศจิกายน และปลาเพศเมีย มีค่าระหว่างร้อยละ 0.848-1.207 มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในช่วงเดือนกรกฎาคม และต่ำสุดในดือนตุลาคมและค่าสัมประสิทธิ์ความสมบูรณ์ของปลาบู่ทราย (Coefficient of condition: K) พบว่า ปลาเพสผู้มีค่าระหว่างร้อยละ 1.212-1.332 มีค่าสูงสุดในเดือนพฤษภาคม และในปลาเพศเมียมีค่าระหว่างร้อยละ 1.375-1.425 และมีค่าสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม เช่นเดียวกัน ค่าขนาดแรกเริ่มเจริญพันธุ์ (size at first maturity, Lfirst) และเมื่อเจริญพันธุ์ได้ร้อยละ 50 (Lm) พบขนาดเล็กที่สุดที่เริ่มสืบพันธุ์ได้มีความยาวเท่ากับ 16.70 เซนติเมตร และผลการประมาณค่าได้ค่า Lm ของปลาบู่ทราย เท่ากับ 15.75 เซนติเมตร ปริมาณความดกของไข่ แบ่งเป็น 3 ช่วงความยาว ได้แก่ ช่วงความยาว 15.0-23.9 24.0-31.8 และ 32.0-47.3 เซนติเมตร มีความดกไข่เฉลี่ย 15,189 38,277 และ 49,000 ฟองตามลำดับ ในด้านองค์ประกอบของอาหารในกระเพาะอาหาร พบว่ามีสัดส่วนอาหารในกระเพราะที่เป็นเนื้อสัตว์มากที่สุดในเดือนมิถุนายน ร้อยละ 94.93 ต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ร้อยละ 74.24 นอกจากนั้นเป็นจำพวกพืชและเศษซาก ในช่วงฤดูฝนจะเป็นช่วงที่มีความหลากหลายของชนิดอาหารในกระเพาะสูงสุด ในขณะที่ช่วงฤดูแล้ง เป็นช่วงที่มีความหลากหลายของอาหารต่ำสุด
ในการศึกษาสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก พบว่า มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว ที่มีระดับการศึกษาไม่สูงนัก แต่มีประสบการณ์ในการทำการประมงมากกว่า 10 ปี โดยมีอาชีพหลัก คือ ทำนา พบว่า รายได้จากการประมงเป็นรายได้เสริมของครอบครัว การทำประมงส่วนใหญ่ทำเฉพาะในช่วงฤดูกาลทำการประมง โดยมีเครื่องมือประมงหลัก คือ ข่าย ไซ แห ลอบ เบ็ดราว และฉมวก โดยทำรายได้เฉลี่ย 8,573 บาทต่อฤดูกาลประมง ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของผลจับสัตว์น้ำที่ได้ ปัญหาการทำประมง คือ ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลง มีวัชพืชในแหล่งน้ำและแหล่งน้ำตื้นเขิน ความต้องการของคนในชุมชน คือ เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในอ่างเก็บน้ำและมีการสนับสนุนทุนทรัพย์ในรูปของสินเชื่อทางการประมง เป็นต้น

Title Alternate Biodiversity, habit suitability, biology of dominant fish species and socio-economical aspect of international important wetland of Thailand :\ba case study of Huai Jorakhe Mak reservoir (small wetland)
Fulltext: