การพัฒนาทุนทางสังคมของตำรวจไทย

Titleการพัฒนาทุนทางสังคมของตำรวจไทย
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2554
Authorsนัยนา เกิดวิชัย
Degreeรป.ด (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHV น435
Keywordsตำรวจ--การทำงาน, ตำรวจ--ไทย--ภาวะทางสังคม
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาระดับทุนทางสังคมของตำรวจไทยในปัจจุบัน 2)เปรียบเทียบระดับทุนทางสังคมของตำรวจไทยในปัจจุบันจำแนกตามปัจจัยภูมิหลังของตำรวจ 3)วิเคราะห์องค์ประกอบทุนทางสังคมของตำรวจไทย และ 4)ศึกษาแนวทางการพัฒนาทุนทางสังคมของตำรวจไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร จำนวน 1000 คน กลุ่มตัวอย่างได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งชั้นสำหรับการศึกษาแนวทางการพัฒนาทุนทางสังคมของตำรวจไทย ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพโดยการวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร จำนวน 18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1)แบบบันทึกเอกสาร 2)แบบสอบถาม และ 3) แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ การวิเคราะห์เนื้อหา ค่าร้อยละ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way analysis of variance) แล้วเปรียบเทียบรายคู่โดยวิธีแอลเอสดี (LSD) และการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor analysis)
ผลการวิจัยพบว่า ระดับทุนทางสังคมของตำรวจไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับมาก ระดับทุนทางสังคมของตำรวจไทยจำแนกตามปัจจัยภูมิของตำรวจ คือ อายุ วุฒิการศึกษา สถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรี ประสบการณ์การทำงาน ชั้นยศและสังกัด ในภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้นเมื่อจำแนกตามเพศ มีระดับทุนทางสังคมไม่แตกต่างกัน ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบทุนทางสังคมของตำรวจไทย ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ คือ 1)เครือข่ายทางสังคม 2) ความรับผิดชอบ 3) ความไว้วางใจ 4) วัฒนธรรมองค์กร 5)การสื่อสาร และ 6) ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน สำหรับแนวทางการพัฒนาทุนทางสังคมของตำรวจไทย คือ การพัฒนาทุนทางสังคมของตำรวจไทยในแต่ละด้านตามองค์ประกอบ 6 องค์ประกอบ และการพัฒนาตำรวจไทยให้เป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีศักยภาพและมีคุณลักษณะเป็นทุนทางสังคมของตำรวจไทย โดยการปลูกฝังจริยธรรมตำรวจ และความเป็นวิชาชีพตำรวจให้แก่ตำรวจไทย ตามแนวทางดังนี้ คือ 1) จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาทุนทางสังคมของตำรวจไทย ให้มีภารกิจหลักในการกำหนดนโยบาย แนวทางและกรอบแนวคิดในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนทางสังคมของตำรวจไทยกำกับดูแลการศึกษาวิจัยและการพัฒนาตัวชี้วัด ผลักดันยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ โดยให้กองยุทธศาสตร์ในแต่ละกองบัญชาการเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการปฏิบัติ 2)จัดทำแผนที่ทุนมนุษย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลตำรวจไทยที่เป็นภูมิปัญญาหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานแต่ละสาขาที่มีอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควบคู่กับการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายและเชื่อมโยงกับความต้องการในทุกกองบัญชาการ 3)โรงเรียนนายร้อยตำรวจพิจารณาทบทวนปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น เพิ่มรายวิชาจริยธรรมตำรวจและเน้นการเรียนการสอนเชิงปฏิบัติ เร่งสนับสนุนให้คณาจารย์สร้างผลงานวิชาการให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านวิชาการตำรวจ สำรวจติดตามด้านคุณภาพบัณฑิตมาพิจารณาหาแนวทางพัฒนาคุณภาพบัณฑิตของโรงเรียนให้เป็นตำรวจที่มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน 4)ศึกษาสภาพแวดล้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างสม่ำเสมอ โดยพิจารณาถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค (SWOT analysis) เพื่อการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรในส่วนที่ไม่เกื้อกูลต่อความเจริญก้าวหน้าของตำรวจไทย 5)หน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศช่องทางการสื่อสารให้รู้อย่างชัดเจนแน่นอน รวมทั้งนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนระบบการสื่อสาร 6)นำกระบวนการของเกลียวความรู้ (Knowledge spiral) มาดำเนินการเพื่อดึงความรู้และภูมิปัญญาที่อยู่ในตัวของตำรวจแต่ละคน (Tacit knowledge) ออกมาเป็นความรู้และภูมิปัญญาที่เปิดเผยที่เป็นเหตุเป็นผล (Explicit knowledge) ที่ตำรวจทุกคนสามารถเข้าถึงได้สะดวก และ 7) แก้ไขกฎหมายว่าด้วยตำรวจให้เอื้อต่อการพัฒนาทุนทางสังคมของตำรวจไทย โดยมิให้การบริหารจัดการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกแทรกแซงจากอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้ตำรวจมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจได้ว่าความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานเกิดจากความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตให้เป็นผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

Title Alternate The social capital development of the royal Thai police
Fulltext: