การศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือในจังหวัดศรีสะเกษ

Titleการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือในจังหวัดศรีสะเกษ
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsจักรพันธ์ โสมะเกษตริน
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTT จ225
Keywordsการจัดการผลิตภัณฑ์ -- ศรีสะเกษ, การทอผ้า -- ศรีสะเกษ, ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ, ผ้าพื้นบ้าน -- ศรีสะเกษ
Abstract

การศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือในจังหวัดศรีสะเกษ มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย 3 ประการ คือ 1) รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแบบแผนการทอผ้า ประโยชน์ใช้สอยและวิเคราะห์ความงามของผ้าทอมือในจังหวัดศรีสะเกษ 2) ศึกษากรรมวิธีการผลิตผ้าทอมือในจังหวัดศรีสะเกษในด้านกระบวนการผลิต การออกแบบลวดลาย และการออกแบบผลิตภัณฑ์ 3) ศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญด้านผ้าทอมือ ผู้ผลิตผ้าทอมือและผู้จำหน่ายหัตถกรรมจากผ้าทอมือในจังหวัดศรีสะเกษ โดยแบ่งพื้นที่ในการวิจัยตามกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว และกลุ่มวัฒนธรรมมอญ-เขมร ผลการวิจัย พบว่า 1) การทอผ้าของชาวศรีสะเกษที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่มีจุดประสงค์ในการทอเพื่อการใช้สอยในชีวิตประจำวันและการใช้ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ มีกระบวนการทอที่มีการกำหนดระเบียบแบบแผนและมีขอบเขตในการสร้างสรรค์ผลงานในเรื่องของสี สัดส่วน เส้น และลวดลาย โดยพิจารณาจากประโยชน์ใช้สอยเป็นตัวกำหนดวิธีการสร้างรูปทรงโครงสร้างและลวดลายบนผืนผ้า นอกจากนี้ ยังพบว่าการเลือกใช้เครื่องมืออุปกรณ์ และเทคนิควิธีการผลิต ผู้ผลิตถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ความงามบนผืนผ้าและนำมาใช้ในการพัฒนาลักษณะพิเศษหรืออัตลักษณ์ต่าง ๆ ด้วย 2) ด้านกระบวนการผลิต การออกแบบลวดลาย และการออกแบบผลิตภัณฑ์ พบว่า การทอผ้าเป็นการกำหนดแบบแผนที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ สามารถบ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของผู้ทอ แนวความคิด ค่านิยม และภูมิปัญญา ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ลวดลายและสีสันถือเป็นอัตลักษณ์เฉพาะที่มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต นอกจากนั้นยังพบว่า ผ้าทอมือของจังหวัดศรีสะเกษไม่เป็นแต่เพียงอาภรณ์สำหรับการสวมใส่ปดปิดร่างกายเท่านั้น ปัจจุบันมีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น กระเป๋า เข็มกลัด พวงกุญแจ ดอกไม้ประดิษฐ์ ผ้าพันคอ หรือแม้กระทั่งประโยชน์ในการตกต่างหรือทำสิ่งห่อหุ้มเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือน 3) จากการศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือในจังหวัดศรีสะเกษ พบว่า ควรมีการศึกษาแนวทางการใช้งานที่หลากหลาย โดยเฉพาะการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น นอกเหนือจากเครื่องแต่งกายที่ถือว่าเป็นวัตถุประสงค์หลักแต่เดิม และควรใช้อัตลักษณ์ประจำถิ่นที่มีคุณค่าและความงามมาเป็นแนวทางในการออกแบบ ทั้งนี้ควรนำความรู้ที่เป็นลักษณะเด่นของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ ที่มีทักษะฝีมือและคุณค่าความงามมาผสมผสานเพื่อสร้างความงามในผ้าผืนเดียว สืบเนื่องจากในปัจจุบันความเชื่อของผู้คนเปลี่ยนไป ประโยชน์ใช้สอยเปลี่ยนไปจากเดิม การสร้างลวดลายใส่ความคิดสร้างสรรค์และใช้เทคนิคการผลิตใหม่ ๆ จะช่วยให้การพัฒนารูปแบบตรงตามความต้องการของตลาดยิ่งขึ้น ในการนี้ผู้วิจัยได้คิดค้นและทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองในจังหวัดศรีสะเกษ โดยทดสอบคุณภาพของเส้นใยก่อนการผลิตเพื่อเป็นการคัดเลือกเส้นใยไหมและใยฝ้ายที่เหมาะสมสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผู้วิจัยได้ทดสอบตามมาตรฐาน ISO 2062 : 1993 (E) METHOD B และมาตรฐาน ASTM D 1059 : 2001 เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตผ้าผืนโดยบูรณาการเทคนิควิธีการทอจากลักษณะเด่นของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในจังหวัดศรีสะเกษในการสร้างสรรค์ความงาม และคุณสมบัติอื่น ๆ ให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน หลักจากนั้นจึงได้ทดลองนำผลการศึกษามาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองจังหวัดศรีสะเกษดังรูปแบบผลิตภัณฑ์แนบท้ายงานวิจัย

Title Alternate Research and development of hand-woven fabric products in Sisaket