สถานการณ์และมุมมองต่อสมรรถนะวิชาชีพเจ้าพนักงานเภสัชกรรมในประเทศไทย

Titleสถานการณ์และมุมมองต่อสมรรถนะวิชาชีพเจ้าพนักงานเภสัชกรรมในประเทศไทย
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2564
Authorsกิ่งแก้ว มาพงษ์
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาเภสัชศาสตร์
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Keywordsการจัดการศึกษา, วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร, สมรรถนะวิชาชีพ, เจ้าพนักงานเภสัชกรรม, เทคนิคเภสัชกรรม
Abstract

การศึกษานี้เป็นการศึกษาสภาพการจัดการศึกษาหลักสูตรเจ้าพนักงานเภสัชกรรมในประเทศไทย และศึกษามุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อสมรรถนะวิชาชีพของเจ้าพนักงานเภสัชกรรมในปัจจุบันและ ในอนาคต ในรูปแบบการวิจัยเชิงผสมผสานด้วยการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามและด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพการจัดการศึกษาหลักสูตรเจ้าพนักงานเภสัชกรรมในประเทศไทย เก็บข้อมูลจากอาจารย์ จำนวน 67 คน และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาเทคนิคเภสัชกรรม จำนวน 254 คนของวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร ทั้ง 7 แห่ง ในประเทศไทย (ชลบุรี พิษณุโลก ยะลาขอนแก่น ตรัง อุบลราชธานี และสุพรรณบุรี) เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของสภาพการจัดการศึกษา พบว่า อาจารย์ให้ความเห็นต่อความเหมาะสมของสภาพการจัดการศึกษาในด้านหลักสูตรอยู่ในระดับมาก (4.01±0.69 ด้านการจัดการเรียนการสอน อยู่ในระดับมาก (4.14±0.65) และด้านการบริหารจัดการ อยู่ในระดับมาก (3.89±0.80) สำหรับกลุ่มนักศึกษาให้ความเห็นต่อความเหมาะสมต่อการจัดการศึกษาในระดับมากทุกด้าน ดังนี้ ด้านหลักสูตร (4.15±0.60) ด้านการจัดการเรียนการสอน (4.18±0.60) และด้านบริหารจัดการ (4.05±0.72)
ระยะที่ 2 เพื่อศึกษาถึงมุมมองของเจ้าพนักงานเภสัชกรรมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อสมรรถนะวิชาชีพเจ้าพนักงานเภสัชกรรมในประเทศไทย เก็บข้อมูลจากเจ้าพนักงานเภสัชกรรม จำนวน 242 คน สุ่มตัวอย่างแบบง่าย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 227 คน สุ่มตัวอย่างแบบลูกโซ่ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสมรรถนะวิชาชีพเจ้าพนักงานเภสัชกรรม พบว่า เจ้าพนักงานเภสัชกรรมมีความเห็นต่อการปฏิบัติงานตามสมรรถนะวิชาชีพของตนในระดับปานกลางถึงระดับมาก (คะแนนเต็ม 5) ดังนี้ งานบริการเภสัชกรรมอยู่ในระดับมาก (4.25±0.64) งานบริหารเวชภัณฑ์อยู่ในระดับมาก (3.98±0.90) งานบริบาลเภสัชกรรมอยู่ในระดับมาก (3.90±0.65) งานผลิตยาอยู่ในระดับมาก (3.86±1.00) งานเภสัชสาธารณสุขอยู่ในระดับมาก (3.69±0.96) งานบริการเภสัชสนเทศอยู่ในระดับมาก (3.57±1.13) และเภสัชกรรมปฐมภูมิอยู่ในระดับปานกลาง (3.49±1.00) สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความเห็นต่อการปฏิบัติตามสมรรถนะวิชาชีพของเจ้าพนักงานเภสัชกรรมต่อทุกงานอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับมาก (คะแนนเต็ม 5) ดังนี้ งานบริการเภสัชกรรมอยู่ในระดับมาก (4.18±0.59) งานบริหารเวชภัณฑ์อยู่ในระดับมาก (3.92±0.69) งานบริบาลเภสัชกรรมอยู่ในระดับมาก (3.82±0.65) งานผลิตยาอยู่ในระดับมาก (3.80±0.78) งานเภสัชสาธารณสุขอยู่ในระดับมาก (3.69±1.12) ส่วนงานเภสัชกรรมปฐมภูมิอยู่ในระดับปานกลาง (3.45±1.01) และงานบริการเภสัชสนเทศอยู่ในระดับ ปานกลาง (3.40±0.98)
ระยะที่ 3 เพื่อศึกษาถึงมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและเจ้าพนักงานเภสัชกรรมต่อสมรรถนะวิชาชีพเจ้าพนักงานเภสัชกรรมในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า (2575) เก็บข้อมูลจากเจ้าพนักงานเภสัชกรรม จำนวน 262 คน สุ่มตัวอย่างแบบง่าย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 229 คน สุ่มตัวอย่างแบบลูกโซ่ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสมรรถนะวิชาชีพเจ้าพนักงานเภสัชกรรมในอนาคต 10 ปีข้างหน้า พบว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและเจ้าพนักงานเภสัชกรรมมีความเห็นว่า แม้จะเป็นสมรรถนะวิชาชีพเดิมของเจ้าพนักงานเภสัชกรรมที่เคยปฏิบัติมาแล้ว สมรรถนะเหล่านี้ยังควรมีอยู่และควรมีการปฏิบัติเพิ่มขึ้น ส่วนสมรรถนะที่เจ้าพนักงานเภสัชกรรมยังไม่เคยปฏิบัติมาก่อนในประเทศไทย ทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและเจ้าพนักงานเภสัชกรรมก็มีความคิดเห็นว่าควรจะมีสมรรถนะเหล่านี้ทั้ง 7 งาน ได้แก่ งานบริการเภสัชกรรม งานบริหารเวชภัณฑ์ งานบริบาลเภสัชกรรม งานผลิตยา งานเภสัชสาธารณสุข งานบริการเภสัชสนเทศ และงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ โดยเฉพาะงานด้าน เภสัชกรรมปฐมภูมิ การเยี่ยมบ้าน และการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล

Title Alternate Situations and perceptions towards pharmacy technician's competencies in Thailand