การใช้ประโยชน์ซีโอไลต์สังเคราะห์จากดินตะกอนเพื่อการบำบัดโลหะหนักที่ปนเปื้อนในน้ำเสีย

Titleการใช้ประโยชน์ซีโอไลต์สังเคราะห์จากดินตะกอนเพื่อการบำบัดโลหะหนักที่ปนเปื้อนในน้ำเสีย
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2562
Authorsมาลี ประจวบสุข, พรพรรณ พึ่งโพธิ์, สายสมร ลำลอง, กัมปนาท ฉายจรัส, สมจินตนา ทวีพานิชย์, นุชนาพร พิจารณ์, ดวงดาว สัตยากูล, จิตรลดา เดชาติวงศ์
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTD745 ร451 2562
Keywordsการบำบัดน้ำเสีย, การบำบัดโลหะหนัก, ซีโอไลต์, ดินตะกอน, น้ำเสีย
Abstract

ปัจจุบันการปนเปื้อนของโลหะหนักในดิน ผิวน้ำ และน้ำบาดาลเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญปัญหาหนึ่งของโลกเนื่องจากโลหะหนักไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพและมีความเป็นพิษต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม วิธีการแก้ปัญหามลพิษทางโลหะหนักในน้ำได้กลายเป็นประเด็นที่สำคัญและหนึ่งในการจัดการกับปัญหานี้คือการดูดซับโลหะหนักด้วยตัวดูดซับ ซึ่งตัวดูดซับที่นิยมใช้ในการดูดซับน้ำเสียที่มีโลหะหนักปนเปื้อนนั้นคือถ่านกัมมันต์ เนื่องจากมีพื้นที่ผิวสูงทำให้มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียสูง อย่างไรก็ตามถ่านกัมมันต์เป็นวัสดุดูดซับที่มีราคาแพง ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงได้ประยุกต์ใช้ดินตะกอนซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตน้ำประปามาเป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์ซีโอไลต์โดยใช้วิธี alkali fusion ด้วยการผสมกับเบส และทำการศึกษาสมบัติของซีโอไลต์ที่สังเคราะห์ได้ด้วยเทคนิค XRD XRF SEM FTIR และ BET ซีโอไลต์สังเคราะห์ถูกใช้สำหรับการบำบัดโลหะหนักสองชนิด ได้แก่ Cd(II) และ Mn(II) ประสิทธิภาพในการดูดซับต่อ Cd(II) และ Mn(II) ที่มีค่าการดูดซับที่แตกต่างกัน พารามิเตอร์ที่เหมาะสมในการดูดซับไอออน Cd(II) และไอออน Mn(II) ที่ความเข้มข้นเริ่มต้นของ Cd(II) และ Mn(II) ในสารละลายในน้ำ คือ 50 mg/L ปริมาณของซีโอไลต์ที่สังเคราะห์ได้ที่เหมาะสมในการดูดซับ Cd(II) คือ 4 กรัมต่อลิตร ใช้เวลาในการดูดซับ 30 นาทีมีประสิทธิภาพการดูดซับไอออน Cd(II) ในสารละลายร้อยละ 98 สำหรับ Mn(II) ในสารละลายพบปริมาณที่เหมาะสมของตัวดูดซับคือ 8 กรัมต่อลิตร และเวลาการดูดซับที่เหมาะสมคือ 30 นาที โดยมีประสิทธิภาพการดูดซับร้อยละ 92 การดูดซับไอโซเทอร์มการดูดซับ Cd(II) และ Mn(II) สอดคล้องกับการดูดซับแลงเมียร์ไอโซเทอร์ม และจลนพลศาสตร์การดูดซับสอดคล้องกับปฏิกิริยาอันดับสองเสมือน นอกจากนี้ศึกษาอุณหพลศาสตร์ของการดูดซับของ Cd(II) entropy deltaS°, enthalpy deltaH° และพลังงานอิสระของกิบบ์ deltaG° มีค่าเท่ากับ 168.42 J/mol K, 39.04 kJ/mol และ -10.69 (299K) kJ/mol ตามลำดับ สำหรับไอออน Mn(II) entropy deltaS°, enthalpy deltaH° และพลังงานอิสระกิบส์ deltaG° เท่ากับ 151.06 J/mol K, 34.27 kJ/mol และ -6.58 (299K) kJ/mol ตามลำดับจากอุณหพลศาสตร์แสดงให้เห็นว่าเอนทาลปีมีค่าเป็นบวกแสดงว่าเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อน เอนโทรปีเป็นบวกแสดงว่าโมเลกุลของตัวถูกดูดซับและตัวดูดซับบริเวณรอยต่อระหว่างตัวถูกดูดซับบนตัวดูดซับมีความเป็นไม่เป็นระเบียบสูงขึ้น และ พลังงานอิสระกิบส์เป็นลบแสดงว่ากระบวนการดูดซับสามารถเกิดขึ้นได้เอง จากผลการทดลองพบว่าซีโอไลต์ที่สังเคราะห์ได้จากดินตะกอนซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตน้ำประปาสามารถใช้เป็นตัวดูดซับที่มีราคาถูกสำหรับการกำจัด Cd(II) และ Mn(II) จากสารละลายน้ำได้

Title Alternate Utilization of synthetic zeolite from sludge for heavy metals contaminant wastewater treatment