ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อธุรกิจกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) : กรณีศึกษา ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1

Titleปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อธุรกิจกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) : กรณีศึกษา ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2556
Authorsกรองกาญจน์ ยอดสิงห์
Degreeบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHG ก185ป 2556
Keywordsการจัดการตลาด, การตัดสินใจเลือกใช้บริการ, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)--การตลาด, สินเชื่ออุตสาหกรรม
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาปัจจัยลักษณะส่วนบุคคล ปัจจัยลักษณะธุรกิจปัจจัยส่วนประสมการตลาดธุรกิจบริการ ปัจจัยภาพลักษณ์องค์กร ที่ใช้ทำนายโอกาสการตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อธุรกิจกับบริษัทมหาชนจำกัด ธนาคารกรุงไทยของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (2) เพื่อหาสมการถดถอยโลจิสติคที่ใช้ทำนายโอกาสการตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อธุรกิจ กับ บมจ.ธนาคารกรุงไทยของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ประกอบไปด้วย จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 379 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ที่มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติค (Logistic Regression Analysis) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่สามารถทำนายโอกาสการตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อธุรกิจกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทยของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ประกอบไปด้วย 5 ปัจจัย โดยเรียงลำดับจากปัจจัยที่มีอิทธิพลสามารถทำนายได้มากที่สุด คือ ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ มีค่าสัมประสิทธิ์การถดถอย เท่ากับ 1.677 รองลงมาคือ ระยะเวลาการดำเนินงานมากกว่า 15-20 ปี ค่าสัมประสิทธิ์การถดถอย เท่ากับ 0.986 ด้านความมั่นคงและน่าเชื่อถือของธนาคาร เท่ากับ 0.501 ปัจจัยด้านอายุมีค่าสัมประสิทธิ์การถดถอย เท่ากับ 0.026 ตามลำดับ และสามารถนำมาสร้างเป็นสมการทำนายในรูปแบบทั่วไปได้ ดังนี้
Log(odd)=-10.415+1.667 (product)+1.248(Time4)+0.986(Time3)+0.501 (Honest)+0.026(Age)
โดยกำหนดให้ Product=ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ Time4=ระยะเวลาดำเนินธุรกิจมากกว่า 15-20 ปี Time 3 = ระยะเวลาดำเนินธุรกิจมากกว่า 10-15 ปี Honest=ปัจจัยด้านความมั่นคงและความน่าเชื่อถือของธนาคาร Age=ปัจจัยด้านอายุ
การจำแนกเพื่อประเมินความถูกต้องในการพยากรณ์ข้อมูลใหม่ของแบบจำลองโลจิสติคที่สร้างขึ้นในช่วงที่สร้างตัวแบบ สามารถพยากรณ์ข้อมูลการตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อธุรกิจกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย คิดเป็นร้อยละ 48.70 แบบจำลองสามารถพยากรณ์ข้อมูลการไม่ตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อธุรกิจ กับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย คิดเป็นร้อยละ 86.40 ซึ่งสรุปโดยรวมแล้วแบบจำลองโลจิสติคที่สร้างขึ้นมานั้น สามารถพยากรณ์ข้อมูลใหม่ที่จะทำการศึกษาได้ถูกต้องร้อยละ 74.90
จากการทดสอบความเหมาะสมของแบบจำลองด้วย Hosmer-Lemeshow goodness of fit โดยใช้สถิติไคสแควร์เป็นสถิติทดสอบ พบว่าค่าไคสแควร์ใน Step Block และ Model มีค่าเท่ากันทั้ง 3 ค่า แสดงว่าตัวแปรอิสระซึ่งหมายถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการทำนายโอกาสการตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อธุรกิจกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ที่นำเข้าไปในแบบจำลองนี้มีความเหมาะสมนั่นคือ มีปัจจัยบางตัวมีผลสำคัญต่อการทำนายการตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อธุรกิจ กับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ค่า Nagelkerke R Square = 0.387 หรือกล่าวได้ว่า ความแปรปรวนของตัวแปรการตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อธุรกิจ กับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย สามารถอธิบายโดยกลุ่มตัวแปรอิสระได้ร้อยละ 38.70 ค่าไคสแควร์ (x2=0.387) จากการทดสอบ Hosmer and Lemeshow Test มีค่า Chi-square เท่ากับ 12.746 และไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (Sig=0.121) แสดงว่ายอมรับสมมุติฐานสถิติที่ว่า แบบจำลองที่ได้จากข้อมูลเชิงประจักษ์มีความเหมือนกันหรือไม่แตกต่างกันกับแบบจำลองตามสมมุติฐาน จึงสรุปได้ว่าแบบจำลอง (Model) ของข้อมูลชุดนี้ มีความเหมาะสม

Title Alternate Factors affecting the decision in choosing the commercial loan of Krung Thai Bank public company limited : case study of entrepreneurs in lower Northeast region 1