การยับยั้งการเจริญของเชื้อราบนยางพาราแผ่นด้วยสมุนไพร

Titleการยับยั้งการเจริญของเชื้อราบนยางพาราแผ่นด้วยสมุนไพร
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2559
Authorsธัญญ์วาริน ชูวัฒน์วรกูล
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต--สาขาวิชาเคมี
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTS ธ468 2559
Keywordsการเจริญของเชื้อรา, ยางพารา--การผลิต, ยางแผ่น--การผลิต, สารสกัดจากพืช, เชื้อรา
Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึงชนิดของเชื้อราที่มีการปนเปื้อนบนยางแผ่นในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอเขื่องใน อำเภอตระการพืชผล และอำเภอน้ำยืน พบว่า เชื้อราส่วนใหญ่ที่สามารถพบได้บนยางแผ่นมี 3 ลักษณะ คือ เชื้อรา Aspergillus flavus Penicillium citrinum และ Aspergillus tamari จากนั้นทำการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากพืช สมุนไพรต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อราทั้ง 3 ชนิด โดยนำพืชสมุนไพรจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ กระเทียม ข่า พลู กานพลู อบเชย ชุมเห็ดเทศ ตะไคร้ และพืชสมุนไพรผสมจำนวน 3 ชนิด คือ ข่าผสม พลู กานพลูผสมอบเชย และกานพลูผสมตะไคร้ มาสกัดด้วยตัวทำลายเฮกเซน เอทิลอะซิเตท และเมทานอล นำสารสกัดหยาบจากพืชสมุนไพรที่ได้ไปทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา ด้วยวิธี Paper disc diffusion พบว่า สารสกัดหยาบจากพืชสมุนไพรที่ความเข้มข้นร้อยละ 10 ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา P.citrinum และ A.flavus ได้มากที่สุด คือ สารสกัดหยาบจากอบเชยที่สกัดด้วยตัวทำละลายเอทิลอะซิเตท โดยมีค่าเฉลี่ยเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณยับยั้งการเจริญกว้างที่สุดเท่ากับ 41.50 และ 25.93 มิลลิเมตร ตามลำดับ ในขณะที่สารสกัดหยาบจากข่าที่สกัดด้วยตัวทำละลายเอทิลอะซิเตท มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา A.tamarii ได้มากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณยับยั้งการเจริญ เท่ากับ 25.83 มิลลิเมตร จากนั้นนำไปทดสอบหาความเข้มข้นของสารสกัดหยาบจากสมุนไพรในระดับต่ำที่สุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา (MICs) พบว่า สารสกัดหยาบจากอบเชยที่สกัดด้วยตัวทำละลายเฮกเซนและตัวทำละลายเอทิลอะซิเตท สารสกัดหยาบจากข่าที่สกัดด้วยตัวทำละลายเมทานอลมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา P.citrinum ได้ โดยมีค่า MICs เท่ากับร้อยละ 2.5, 1.25 และ 2.5 ตามลำดับ สารสกัดหยาบจากอบเชยที่สกัดด้วยตัวทำละลายเฮกเซนและตัวทำละลายเอทิลอะซิเตท สารสกัดหยาบจากข่าที่สกัดด้วยตัวทำละลายเมทานอล มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา A.flavus ได้ โดยมีค่า MICs เท่ากับร้อยละ 5, 2.5 และ 5 ตามลำดับ ส่วนสารสกัดหยาบจากข่าที่สกัดด้วยตัวทำละลายเฮกเซน เอทิลอะซิเตท และเมทานอล มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา A.tamarii ได้โดยมีค่า MICs เท่ากับ ร้อยละ 0.08, 0.04 และ 0.31 จากนั้นทำการศึกษาผลของสารสกัดหยาบจากอบเชยและข่าที่ใช้เป็นสารยับยั้งเชื้อราต่อสมบัติของยางแผ่น โดยการนำสารสกัดหยาบจากอบเชยและข่าในเอทิลอะซิเตทที่มีความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ มาทดสอบการยับยั้งการเจริญของเชื้อราบนยางแผ่นเปรียบเทียบกับยางแผ่นควบคุม (ไม่ฉีดพ่นสารเคมี) ยางแผ่นที่ฉีดพ่นด้วยเอทิลอะซิเตท และยางแผ่นที่ฉีดพ่นด้วยสารเคมีแคปแทน พบว่า สารสกัดหยาบจากอบเชยที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 1.25 และ 2.5 และแคปแทนที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 0.31 สามารถยับยั้งเชื้อราบนยางแผ่นได้ถึง 30 วัน เมื่อนำยางแผ่นไปทดสอบสมบัติของยางดิบ พบว่า ยางแผ่นที่ฉีดพ่นด้วยสารสกัดหยาบจากอบเชย เอทิลอะซิเตทและแคปแทน มีสมบัติทางกายภาพใกล้เคียงกับยางแผ่นตัวควบคุม ยกเว้น สี ที่ยางแผ่นที่ฉีดพ่นด้วยสารสกัดหยาบอบเชยมีค่าสูงกว่ายางแผ่นชนิดอื่น เมื่อนำยางแผ่นไปทดสอบสมบัติของยางคอมพาวด์ (2 สูตร; สูตรที่เติมและไม่เติมเขม่าดำ) และสมบัติเชิงกล พบว่า ยางสูตรที่เติมเขม่าดำและที่ไม่เติมเขม่าดำมีค่า Scorch time Cure time ความแข็ง ความทนทานต่อการฉีกขาด และการสูญเสียหลังการกดความทนทานต่อแรงดึง การยืดตัว ณ จุดขาด โมดูลัสใกล้เคียงกัน ยกเว้น ยางแผ่นที่ฉีดพ่นด้วยสารเคมีแคปแทนในยางคอมพาวด์สูตรที่ไม่เติมเขม่าดำที่มีค่า Cure time สูง ในขณะที่มีค่าการเสียรูปหลังการกดต่ำกว่ายางแผ่นชนิด แสดงให้เห็นว่าชนิดของสารที่ฉีดพ่นบนบางแผ่นไม่มีผลต่อสมบัติของยางคอมพาวด์และสมบัติเชิงกลของยาง

Title Alternate Growth inhibition of fungi on rubber sheets by herbs