การบริการแพทย์แผนไทยของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 อุบลราชธานี

Titleการบริการแพทย์แผนไทยของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 อุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2559
Authorsกำแหง สมสุข
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาการบริหารบริการสุขภาพ
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberR ก626 2559
Keywordsการจ่ายยาสมุนไพร, การนวด, การประคบ, การฟื้นฟูแม่หลังคลอด, การอบ, การแพทย์แผนไทย, สำนักงานหลักประกันสุขภาพ
Abstract

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนงบประมาณแก่สถานบริการสาธารณสุขภาครัฐที่จัดบริการแพทย์แผนไทยให้ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในสามกิจกรรมหลัก คือ 1) การจ่ายยาสมุนไพร 2) การนวด อบ ประคบ และ 3) การฟื้นฟูแม่หลังคลอด โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานตามแผนกองทุน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์การบริการแพทย์แผนไทย และความพร้อมของหน่วยงานที่ให้บริการแพทย์แผนไทยหรือระดับการให้บริการแพทย์แผนไทยตามการพัฒนาแผนบริการ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งความคิดเห็นของผู้บริหารหน่วยงานต่อการจัดสรรงบประมาณชดเชยของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การศึกษานี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1) การวิเคราะห์ฐานข้อมูลย้อนหลังโดยใช้ฐานข้อมูล 21 แฟ้ม ในการจ่ายงบประมาณชดเชย ของ สปสช. เขต 10 ปีงบประมาณ 2557 และ 2558 ส่วนที่ 2) การเก็บข้อมูลจากตัวอย่างผู้บริหารหน่วยบริการแพทย์แผนไทย ในพื้นที่ สปสช. เขต 10 โดยใช้แบบสอบถามทางไปรษณีย์ในช่วงพฤศจิกายน 2559 ถึง มกราคม 2560 ส่วนที่ 3) การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เจาะลูกผู้บริหารของหน่วยบริการแพทย์แผนไทยในพื้นที่ สปสช. เขต 10 ตามประเด็นผลการศึกษาในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ผลการศึกษา ส่วนที่ 1) พบว่า ผู้มารับบริการส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 77.9 อายุเฉลี่ย 39.7 ปี ส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคเกี่ยวกับลม รหัสโรค U57 (ร้อยละ 12.6) ยาสมุนไพรที่การจ่ายมากที่สุด คือ ยาฟ้าทะลายโจร (ร้อยละ 21.4) และหน่วยบริการแพทย์แผนไทยที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ปีงบประมาณ 2557 และ 2558 มีจำนวน 949 และ 956 แห่งตามลำดับ งบประมาณชดเชยการจัดบริการแพทย์แผนไทยที่ได้รับจาก สปสช. เขต 10 เป็น 31,547,005 บาท และ 22,980,958 บาท ในปีงบประมาณ 2557 และ 2558 ตามลำดับ ผลการศึกษาส่วนที่ 2) มีกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการศึกษา 208 คน ประมาณสองในสามเป็นเพศหญิง (ร้อยละ 64.4) ประมาณครึ่งหนึ่งมีประสบการณ์บริหารงานแพทย์แผนไทย 5 ปี หรือน้อยกว่า (ร้อยละ 50.3) เป็นนักวิชาการสาธารณสุข ร้อยละ 43.3 หน่วยงานบริการส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ร้อยละ 77.9) และการประเมินความพร้อมของหน่วยบริการด้วยตนเองพบว่ายังไม่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดตามแผนบริการสูงถึงร้อยละ 62.4 โดยส่วยใหญ่มีความพร้อมบริการจ่ายยาสมุนไพร และนวด อบ ประคบ (ร้อยละ 98.1 และ 81.1 ตามลำดับ) ในขณะที่ประมาณหนึ่งในสามมีบริการฟื้นฟูแม่หลังคลอด (ร้อยละ 31.1) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การจ่ายงบประมาณชดเชย การจ่ายยาสมุนไพร (ร้อยละ 83.1) และประมาณร้อยละ 40 เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การจ่ายงบประมาณการนวด อบ ประคบ ทั้งในปี 2557 และ 2558 (ร้อยละ 42.5 และ 41.0 ตามลำดับ) ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยการฟื้นฟูมารดาหลังคลอดในปี 2557 มากกว่าปี 2558 (ร้อยละ 41.8 และร้อยละ 32.7 ตามลำดับ) ผลการศึกษาส่วนที่ 3) พบว่า ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้บริหารหน่วยบริการแพทย์แผนไทยและปฏิบัติงานในหน่วยบริการในพื้นที่ สปสช. เขต 10 จำนวน 8 คน เป็นเพศหญิงและชายอย่างละ 4 คน ตำแหน่งในหน่วยงาน เป็นแพทย์ 1 คน นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน เภสัชกร 1 คน และแพทย์แผนไทย 5 คน กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่า การจัดบริการแพทย์แผนไทยของหน่วยงานต้องเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข แม้ว่าจะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุน เช่น การให้บริการผู้ป่วยนอกแบบคู่ขนาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบปัญหาที่ สปสช. มีแนวโน้มให้การจัดสรรงบประมาณชดเชยในอัตราที่ต่ำลงและอาจไม่คุ้มกับต้นทุนการบริการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริการแพทย์แผนไทยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างให้ข้อคิดเห็นว่า ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการบริการแพทย์แผนไทยของหน่วยบริการคือการยอมรับจากสหวิชาชีพอย่างแท้จริง

Title Alternate Thai traditional medicine services of National Health Security Office Region 10 : Ubon Ratchathani