การศึกษารูปแบบการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทที่พักในอุทยานแห่งชาติของจังหวัดอุบลราชธานี

Titleการศึกษารูปแบบการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทที่พักในอุทยานแห่งชาติของจังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsพิชญาพร ศรีบุญเรือง
Degreeบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTX พ639ก
Keywordsการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ, ที่พักนักท่องเที่ยว, อุทยานแห่งชาติ
Abstract

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทที่พักในอุทยานแห่งชาติ และศึกษามาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทที่พักในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ และอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย แนวทางการศึกษาวิจัยแบบผสมผสานระหว่างวิธีการเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ที่ใช้การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-structure interview) เป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลจากประชากรที่ศึกษา ได้จากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling) คือ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ฝ่ายปฏิบัติการการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทที่พัก จำนวน 6 คน และวิธีการเชิงปริมาณ (Quantitative research) โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากนักท่องเที่ยวที่คัดเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่างการเลิกโดยบังเอิญ (Accidental sampling) จำนวน 90 คน การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และค่าร้อยละ
ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทที่พักในอุทยานแห่งชาติ 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
1)รูปแบบการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก ประเภทที่พักในอุทยานแห่งชาติ พบว่าอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ดังกล่าวได้มี การจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี ในการจัดการที่พัก และการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จัดให้มีบุคลากรรับผิดชอบในการปฏิบัติงานให้บริการ และจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก และเตรียมความพร้อมสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าใช้บริการพักแรม และมีการออกแบบพัฒนา และบำรุงรักษาที่พักให้กลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2) การศึกษามาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยวเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทที่พักในอุทยานแห่งชาติทั้ง 3 แห่ง ของจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ระดับความเหมาะสมของการจัดการที่พักในอุทยานแห่งชาติ ทั้ง 3 แห่ง มีระดับความเหมาะสมปานกลาง โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยความเหมาะสมมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ดังนี้ อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ตามลำดับ
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวมีความคิดเห็นต่อการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทที่พักในอุทยานแห่งชาติทั้ง 3 แห่งดังกล่าว พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลบริเวณที่พัก รองลงมา คือ ด้านการดูแลรักษาความสะอาดที่พัก ด้านที่ค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านการจัดการที่พักเพื่อลดการใช้พลังงาน
3) ข้อเสนอแนะเพื่อนำผลการศึกษาใช้ มีดังต่อไปนี้ อาคารที่พักควรตั้งอยู่ในที่ที่ทางเดินทางเข้า-ออกได้สะดวกและปลอดภัย เส้นทางคมนาคมเข้าถึงได้ทั้งทางเท้าและทางรถยนต์ มีบุคลากรที่มีความพร้อม และมีศักยภาพในด้านการบริหารจัดการที่พัก และสามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้และอุทยานแห่งชาติ ทั้ง 3 แห่ง ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวและในบริเวณที่พักแรม

Title Alternate The study of accommodation management model in Ubon Ratchathani nation parks