รางวัลรัตโนบล พุทธศักราช 2566

มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์    รางวัลรัตโนบล ประเภทองค์กร

          อาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ เป็นเภสัชกรที่มีบทบาทในวงการเภสัชกรรม ทั้งด้านวิชาการ ด้านอุตสาหกรรม และด้านสังคม ด้านวิชาการและวิชาชีพ ท่านเป็นเภสัชกรไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทเภสัชศาสตร์จากต่างประเทศ โดยจบจาก Philadelphia College of Pharmacy and Sciences (Master of Science in Pharmacy) อาจารย์เกษมได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาเภสัชศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 ที่ แผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นแค่การเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตร หลักสูตร 3 ปีเท่านั้น และปีต่อมา ศาสตราจารย์จำลอง  สุวคนธ์ ได้ทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา อาจารย์เกษมจึงต้องสละเวลา และวางมือจากธุรกิจส่วนตัว เพื่อมาเป็นอาจารย์ประจำแผนก รวมทั้งสอนบางวิชาแทนด้วย อาจารย์เกษม ได้ร่วมกับคณาจารย์เภสัชศาสตร์หลายท่าน ผลักดันให้มีการขยายหลักสูตรวิชาเภสัชให้เป็น 4 ปี เมื่อเรียนจบจะได้รับปริญญาเภสัชกรรมศาสตร์บัณฑิต รวมทั้งขออนุมัติให้มีการสร้างอาคารเรียนเป็นของแผนกฯ เองโดยเฉพาะ และอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมสร้างรากฐานการจัดการเรียนการสอนนิสิตเภสัชศาสตร์

ด้านอุตสาหกรรม ท่านได้ช่วยงานบิดาที่บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จัดระเบียบร้านขายยาให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ทั้งที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมการขายยาในขณะนั้น และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ท่าน ได้ปรับปรุงพัฒนาโรงงาน ให้ผลิตยาออกจำหน่ายให้ประชาชนยามขาดแคลนยา อาจารย์เกษมได้เจรจาเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ของ บริษัท Merck Sharp & Dohme (MSD) แห่งสหรัฐอเมริกา ท่านจึงร่วมกับญาติๆ ตั้งบริษัท บี.เอ็ล.เอช เทร็ดดิ้ง จำกัด ขึ้น ท่านพาบริษัทก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของประเทศไทยในเวลานั้นและต่อมาอีกหลายทศวรรษ ต่อมาท่านได้ชักชวนให้ MSD ร่วมลงทุนกับ บี.เอ็ล.เอช. เทร็ดดิ้ง  สร้างโรงงานเมอร์ค ชาร์พ แอนด์ โดห์ม (ประเทศไทย) ขึ้น ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย ที่บริษัทชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา มาลงทุนสร้างโรงงานผลิตยาระดับโลก

ด้านสังคม ท่านเป็นกรรมการเภสัชกรรมสมาคมฯ กว่า 20 ปี และได้รับเลือกเป็นนายกเภสัชกรรมสมาคมฯ ในปี พ.ศ. 2489  อาจารย์เกษมและนายพิชัย รัตตกุล ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมไทยผลิตยาแผนปัจจุบัน หรือ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน(TPMA) โดยอาจารย์เกษมเป็นนายกสมาคมคนแรก และเป็นกรรมการกลางสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ พ.ศ. 2494 -พ.ศ. 2519 และอุปนายก พ.ศ. 2503 – พ.ศ. 2507  ช่วยงานมูลนิธิวิจัยประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิมากกว่า 10 สมัย โดยผลแห่งความมุ่งมั่นในการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นระยะเวลายาวนาน ปี พ.ศ. 2497 อาจารย์เกษมได้รับพระราชทานปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

  มูลนิธิอาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ ได้ก่อตั้งขึ้นเนื่องจาก นายธีระพงศ์  ปังศรีวงศ์ บุตรชายของอาจารย์เกษม ได้ตระหนักถึงความรัก ความผูกพัน และ ความภาคภูมิใจของอาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ ที่มีต่อวิชาชีพเภสัชกรรม จึงต้องการสืบสานปณิธานต่อจากบิดา เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของอาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ เพื่อพัฒนา และส่งเสริมให้วิชาชีพเภสัชกรได้เป็นกำลังสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ และสังคมไทย ในปี พ.ศ. 2559 จึงได้ตั้งมูลนิธิอาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ขึ้น โดยมีทุนเริ่มต้น 100 ล้านบาท  มูลนิธิฯ มีการสนับสนุนทุนโครงการด้านเภสัชศาสตร์ โดยมอบทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 300 ทุน/โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 20,581,519 บาท (ยี่สิบล้านห้าแสนแปดหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยสิบเก้าบาท) โดยมูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนทุน/โครงการแก่ เภสัชกร และนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาความรู้ ความก้าวหน้าด้านเภสัชศาสตร์ โดยมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาและอาชีพแก่เภสัชกรทุกสาขา ให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนดี และมีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทุนสนับสนุนในการวิจัย ทุนสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการระดับประเทศ ทุนสนับสนุนการอบรมระยะสั้น ทุนสนับสนุนด้านอื่น ๆ ทางเภสัชศาสตร์ ฯลฯ โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ ทั้งในด้านทุนการศึกษาแก่นักศึกษา ทุนสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการ  ทุนสนับสนุนการอบรมระยะสั้นให้แก่อาจารย์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้วยผลงานอันโดดเด่นและปณิธานความมุ่งมั่นเป็นที่ประจักษ์ว่า มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ เป็นกำลังหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความก้าวหน้าขององค์ความรู้ในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์และพัฒนาวิชาชีพทางเภสัชกรรม ส่งเสริมให้เภสัชกรพัฒนาด้านวิชาชีพอันเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขและสร้างคุณค่าต่อประชาชนสังคมและประเทศชาติ  สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการประชุมครั้งที่ 10/2566 (ลับ) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 จึงอนุมัติรางวัลรัตโนบล แด่ มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ เพื่อเป็นการยกย่องและประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏสืบไป

          บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  รางวัลรัตโนบล ประเภทองค์กร

  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความยินดีประกาศเกียรติคุณเพื่อเชิดชูเกียรติ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัลรัตโนบล ประเภทนิติบุคคล/องค์กร โดย สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้พิจารณาอนุมัติรางวัลรัตโนบล ประจำปี พ.ศ. 2566 แก่บุคคลที่มีผลงานทางวิชาชีพที่มีคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับของชุมชน สังคม ประเทศชาติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีคุณงามความดีที่ได้รับการยกย่องในระดับชาติหรือนานาชาติ อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและมีความประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป โดยจะเข้ารับพระราชทานรางวัลรัตโนบล ประเภทนิติบุคคล/องค์กร ประจำปี พ.ศ. 2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2531โดยบริษัทในกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกอบธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า “7-Eleven” ในประเทศไทย ความโดดเด่นของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) คือ การให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พร้อมทั้งดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมภายในองค์กร ตลอดจนดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ซื่อสัตย์ โปร่งใส ยุติธรรม คำนึงถึงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มบนพื้นฐานค่านิยม 3ประโยชน์ : ตอบโจทย์ประเทศ ประชาชน และองค์กร โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่พนักงานรวมถึงการเปิดโอกาสทางสังคมให้แก่ชุมชน เด็ก เยาวชนและกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั่วประเทศ รวมทั้งนักศึกษาของคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

จากผลงานทั้งหมดที่ได้กล่าวมา เป็นที่ประจักษ์ว่า บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและประเทศชาติเป็นอเนกประการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงอนุมัติรางวัลรัตโนบล ประจำปี พ.ศ 2566แด่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)เพื่อประกาศเกียรติคุณให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนสืบไป    

          นางวิยะดา อุนนะนันทน์   รางวัลรัตโนบล ประเภทบุคคลทั่วไป

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความยินดีประกาศเกียรติคุณเพื่อเชิดชูเกียรติ นางวิยะดา  อุนนะนันทน์ ที่ได้รับรางวัลรัตโนบล ประเภทบุคคลทั่วไป โดย สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้พิจารณาอนุมัติรางวัลรัตโนบล ประจำปี พ.ศ. 2566 แก่บุคคลที่มีผลงานทางวิชาชีพที่มีคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับของชุมชน สังคม ประเทศชาติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีคุณงามความดีที่ได้รับการยกย่องในระดับชาติหรือนานาชาติ อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและมีความประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป โดยจะเข้ารับพระราชทานรางวัลรัตโนบล ประเภทบุคคลทั่วไป ประจำปี พ.ศ. 2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

นางวิยะดา  อุนนะนันทน์ เป็นผู้มีใจรักในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และต่อยอดวัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมืองของจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ก่อตั้งคุ้มจันทร์หอมเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมการทอผ้าครบวงจรของภูมิภาค ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ส่งเสริมอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนทอผ้าในจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ นางวิยะดา  อุนนะนันทน์ ยังได้ศึกษา ประยุกต์ พัฒนาคุณภาพและออกแบบลายผ้าด้วยลวดลายโบราณและร่วมสมัย จนทำให้ผ้าทอของคุ้มจันทร์หอมได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานไหมนกยูงทอง นกยูงเงิน นกยูงน้ำเงิน นกยูงเขียว ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทยให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพและมาตรฐาน ผ้าไหมไทยในระดับสากล

นางวิยะดา  อุนนะนันทน์ ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้านการให้บริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยเป็นวิทยากรให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำในการพัฒนาและออกแบบฆ้องของตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร ร่วมกับคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ และเป็นวิทยากรในการตัดเย็บ ออกแบบ และแสดงผลงานการผสมผสานวัฒนธรรมอินเดียกับผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานีในเทศกาลศิลปวัฒนธรรมอินเดีย และเป็นวิทยากรการสืบสานผ้าซิ่นเจ้านายเมืองอุบลและการประยุกต์ออกแบบผ้ากาบบัวในงาน “มูน มัง เมือง อุบลราชธานีศรีวนาลัย”

การอุทิศตนอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่งผลให้ นางวิยะดา อุนนะนันทน์ ได้รับรางวัลเกียรติคุณจากองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ รางวัลสภาหัตถกรรมโลก พ.ศ. 2566 รางวัลพระราชทานสตรีไทยดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 รางวัลเกียรติคุณนักวิชาชีพสตรีตัวอย่าง พ.ศ. 2566 รางวัลประกาศเกียรติคุณหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา พ.ศ. 2566 ในฐานะผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมการทอผ้าและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับชุมชน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงอนุมัติรางวัลรัตโนบล ประจำปี พ.ศ 2566แด่ นางวิยะดา อุนนะนันทน์ เพื่อเป็นการยกย่องและประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏสืบไป

ข้อมูล

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2565