การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี

Titleการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2553
Authorsปิยะ สุริยพันตรี
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHD ป621ก
Keywordsการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว, การย้ายถิ่นของแแรงงาน--ไทย(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), แรงงานต่างด้าว--การบริหาร, แรงงานต่างด้าว--ไทย(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
Abstract

การศึกษาเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว สัญชาติลาว กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ศึกษาการนำนโยบายแรงงานต่างด้าวไปปฏิบัติ และศึกษาปัญหาอุปสรรคในการนำนโยบายแรงงานต่างด้าวไปปฏิบัติ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยรวบรวมค้นคว้าข้อมูลจาก ตำรา เอกสารทางวิชาการ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ บทความ วารสาร และสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key-Informants) จำนวน 20 คน ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์เชิงคุณภาพโดยวิธีพรรณนาความ
ผลการศึกษาพบว่า การปฏิบัติตามนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จากสถิติการพิสูจน์สัญชาติ การขอใบอนุญาตเข้าประเทศ และการขอใบอนุญาตทำงาน ย้อนหลัง 3 ปี พบว่า มีจำนวนการขอต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวลดลงทุกปี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ นายจ้างและแรงงาน ไม่สามารถดำเนินการได้ตามนโยบายที่รัฐกำหนดไว้ พบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ คือ ด้านความชัดเจน และการถ่ายทอดนโยบายของรัฐบาลได้กำหนดนโยบายแต่ละครั้งไม่มีความชัดเจนถึงเป้าประสงค์หลัก มีการเปลี่ยนแปลงไม่มีความคงเส้นคงวาถึงวิธีการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติมีความสับสนถึงแนวทางในการปฏิบัติงานของแต่ละนโยบาย ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง ลักษณะหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติส่วนใหญ่ขาดการจัดสรรเรื่องบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ผู้ปฏิบัติไม่มีความรู้ความเข้าใจต่อนโยบายที่ได้รับไปปฏิบัติคิดว่าเป็นการเพิ่มภาระในการทำงาน การประสานระหว่างหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานการปฏิบัติขาดความเป็นเอกภาพ ต่างหน่วยต่างปฏิบัติงานเฉพาะหน้าที่ความรับผิดชอบเท่านั้น ไม่ได้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานหรือแม้แต่หน่วยงานเดียวกัน ทำให้ไม่มีความเข้าใจเป็นไปในแนวทางเดียวกันได้อย่างถูกต้อง ในส่วนความร่วมมือของนายจ้างจะมองแต่เรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับเท่านั้นซึ่งให้ความร่วมมือต่อราชการกับการจัดระบบแรงงานต่างด้าวน้อยมาก
ข้อเสนอแนะในการศึกษาการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ผ่านมาพบว่า การกำหนดนโยบาย เงื่อนไข มาตรการในหลายประการ แตกต่างกันไปในแต่ละสมัยของรัฐบาลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง นายจ้าง และแรงงานขาดความรู้ความเข้าในในนโยบาย ขาดความพร้อมในการปฏิบัติงานในหลาย ๆ ด้านเห็นควรกำหนดนโยบายและมาตรการ ในการบริหารจัดการที่แน่นอน ชัดเจน ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง โดยพิจารณาความต้องการและความจำเป็นของการใช้แรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งควรมีการกำหนดมาตรการและบทลงโทษต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อย่างเข้มงวดและควรมีการซักซ้อมทำความเข้าใจแก่หน่วยงานต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามนโยบาย เพื่อให้ทราบถึงนโยบายและแนวทางการดำเนินการตามนโยบาย รวมทั้งขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน ก่อนที่จะมีการปฏิบัติจริง เพราะที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายขาดการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่าง ๆ อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนตัวแทนของแรงงาน ทั้งเจ้าหน้าที่ นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ ควรมีการกำหนดแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเกี่ยวกับบุคลากรที่จะปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ อาทิ การตรวจสุขภาพ การจัดทำทะเบียนประวัติพิมพ์ลายนิ้วมือ และการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างคล่องตัว ควรมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องจริงจังทุกรูปแบบจะต้องมีการจัดทำเอกสารหรือสื่อต่าง ๆ ในภาษาของแรงงานข้ามชาติ เพื่อชี้แจงหรือทำความเข้าใจต่อการจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงาน และจัดหาล่ามที่คอยทำหน้าที่ในการแปลหรือให้คำปรึกษาเมื่อมีการจดทะเบียนอย่างพอเพียง เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้ทราบถึงนโยบาย มาตรการ และแนวทางดำเนินการที่ชัดเจน รวมทั้งปลุกจิตสำนึกและกระตุ้นเตือนให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ได้ทราบถึง โทษจากการจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ โดยชี้ให้เห็นถึงภัยที่เข้ามาใกล้ตัวทุกขณะ และนับวันยิ่งทวีความรุนแรง หากไม่ร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง

Title Alternate Laotian labor management case study of Ubon Ratchathani province
Fulltext: