การศึกษาศิลปะ "ฮูป" ฝาผนังในเขตพื้นที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทของที่ระลึก

Titleการศึกษาศิลปะ "ฮูป" ฝาผนังในเขตพื้นที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทของที่ระลึก
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsคำภูเพชร วานิวงศ์
Degreeศิลปประยุกต์มหาบัณฑิต สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTT ค374ก
Keywordsของที่ระลึก--การออกแบบ, ศิลปะ--การออกแบบ
Abstract

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยคือ 1) เพื่อการศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านศิลปะฮูปฝาผนังของวัดต่าง ๆ ในเขตพื้นที่แขวงหลวงพระบาง 2)เพื่อการศึกษาและวิเคราะห์ทางด้านอัตลักษณ์ศิลปะฮูปฝาผนัง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก 3)เพื่อการศึกษาแนวทางการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทของที่ระลึก ในการสำรวจข้อมูลผู้วิจัยได้เลือกเขตพื้นที่แขวงหลวงพระยางมาเป็นการศึกษา จากการสำรวจข้อมูลวัดในพื้นที่แขวงหลวงพระบางทั้งหมด 29 แห่ง พบว่ามีวัดจำนวน 6 แห่ง ที่ยังรักษาอัตลักษณ์ในด้านข้อมูลศิลปะฮูปฝาผนัง ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย
จากการวิเคราะห์ด้านอัตลักษณ์ศิลปะฮูปฝาผนัง ผู้วิจัยได้จำแนกลักษณะของฮูปแต้มฝาผนังตามวัสดุที่ใช้ในการสร้างงานศิลปะออกเป็น 3 ประเภท คือ ฮูปแต้มสี ฮูปพอกคำ และฮูปติดแก้วสี นอกจากนั้นผลในการศึกษายังพบว่า ในการนำฮูปฝาผนังมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกที่เหมาะสมกับแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่แขวงหลวงพระบาง คือ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากผ้าทอมือและกระดาษสา ดังนั้นผู้วิจัยได้ดำเนินการพัฒนาเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบตามกระบวนการออกแบบ คือ การออกแบบร่างแนวความคิดผลิตภัณฑ์เบื้องต้น การเขียนแบบรายละเอียด ในการทดลองสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ และการประเมินความคิดเห็น โดยการนำใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 50 คน คือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้ผลิต จำนวน 10 คน กลุ่มผู้จำหน่าย จำนวน 15 คน และกลุ่มผู้บริโภค จำนวน 25 คน โดยได้ทำต้นแบบผลิตภัณฑ์และผ่านการประเมินในระดับคะแนนเฉลี่ยมาก
จากผลการทำวิจัยในครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า ศิลปะฮูปฝาผนังสามารถที่จะประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทของที่ระลึกได้ แต่สิ่งที่สำคัญควรพิจารณาถึงความเหมาะสมในการคัดเลือกฮูปฝาผนังมาใช้ ซึ่งบางอย่างนั้นเกี่ยวกับความเชื่อที่ผู้คนในท้องถิ่นให้ความเคารพบูชาและไม่ควรนำมาใช้ สำหรับด้านการประยุกต์ใช้ผ้าทอและกระดาษสาพบว่า เป็นวัสดุที่มีความเหมาะสมและสามารถขึ้นรูปทรงร่วมกับวัสดุอื่นได้ อีกทั้งผ้าทอและกระดาษสายังเป็นวัสดุที่มีการผลิตมากในแขวงหลวงพระบาง ซึ่งมีปริมาณที่เพียงพอกับกระบวนการผลิตในระยะยาว นอกจากนั้นในการประยุกต์ใช้งานศิลปะฮูปฝาผนังยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถจะเผยแพร่งานศิลปะอันเป็นมรดกของชาติให้ออกไปสู่สังคมภายนอกในยุคสมัยปัจจุบันได้

Title Alternate A study of mural art in Luangprabang, Laos PDR for the applied design and development of souvenir products