การศึกษา ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการจัดการขยะติดเชื้อของเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลเอกชน ในเขตเทศบาลเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

Titleการศึกษา ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการจัดการขยะติดเชื้อของเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลเอกชน ในเขตเทศบาลเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsศรีสุคนธ์ หลักดี
Degreeศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Institutionมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRA ศ274
Keywordsขยะติดเชื้อ--การจัดการ--ไทย--อุบลราชธานี, ขยะทางการแพทย์--การจัดการ--ไทย--อุบลราชธานี
Abstract

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวของกับการจัดการขยะติดเชื้อในสถานพยาบาลที่แตกต่างกัน ศึกษาความสัมพันธ์ของ ความรู้ ทัศนคติ ที่มีผลต่อพฤติกรรมในการจัดการขยะติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ และศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการจัดการขยะติดเชื้อ รวมถึงการหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการขยะติดเชื้อ
ผลการศึกษาเปรียบเทียบความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะติดเชื้อในสถานะพยาบาลที่ต่างกัน พบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้ของเจ้าหน้าที่อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย=24.82) และระดับต่ำ (ค่าเฉลี่ย=19.93) ค่าเฉลี่ยคะแนนทัศนคติของเจ้าหน้าที่อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย=4.09) และค่าเฉลียคะแนนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่อยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย=4.25) จะเห็นได้ว่า ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะมีความรู้ในเรื่องการจัดการขยะติดเชื้ออยู่ในระดับปานกลาง และระดับต่ำ ก็ไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่มีทัศนคติ และพฤติกรรมในการจัดการขยะติดเชื้อต่ำไปด้วย ผลการศึกษาความสัมพันธ์ของความรู้ ทัศนคติ ที่มีผลต่อพฤติกรรมในการจัดการขยะติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ พบว่า ความรู้มีความสัมพันธ์กับทัศนคติในระดับปานกลาง (r=0.687, P-value<.01) และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในระดับต่ำ (r=0.213, P-value<.05) ในขณะที่ทัศนคติมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในระดับต่ำ (r=0.207, P-value<.05) ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการขยะติดเชื้อ พบว่า สถานพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่มีวัสดุอุปกรณ์ในการจัดเก็บขยะติดเชื้อไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ขาดความตระหนัก และไม่เคยได้รับการอบรมในเรื่องการจัดการกับขยะติดเชื้อ ทำให้มีการจัดการกับขยะติดเชื้อยังไม่ถูกต้องเหมาะสม ผลกระทบที่เกิดจากขยะติดเชื้อจาก
สถานพยาบาลเอกชน พบว่า สถานพยาบาลเกือบทุกแห่งยังไม่มีบ่อบบัดน้ำเสีย และที่สำคัญคือ จังหวัดอุบลราชธานียังไม่มีแหล่งกำจัดขยะติดเชื้อส่วนรวมที่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดกรณีร้องเรียนเรื่องกลิ่นรบกวนอยู่บ่อยครั้ง ส่วนแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการขยะติดเชื้อ กลุ่มตัวอย่างได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เทศบาลนครอุบลราชธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัด เจ้าของสถานพยาบาลเอกชน และพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ควรร่วมมือในการกำหนดนโยบาย และมาตรการให้ความรู้ในเรื่องการจัดการกับขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธีและต่อเนื่อง และควรมีการจัดสร้างเตาเผาขยะส่วนรวมที่ได้มาตรฐานร่วมด้วย
ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการขยะติดเชื้อในสถานพยาบาลเอกชนมีความรู้ และความตระหนักในเรื่องการจัดการกับขยะติดเชื้อแล้ว ก็จะทำให้ขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องและปลอดภัย ผลกระทบของขยะติดเชื้อต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และสิ่งแวดล้อมก็จะหมดไป

Title Alternate Investigation, knowledge, attitude, and behavior concerning infectious waste disposal by the staff of private health centers in municipal area,Ubon Ratchathani