การศึกษาและพัฒนากระบวนการผลิตวัสดุทดแทนไม้จากเศษเหลือทิ้งทางเกษตรกรรมเพื่อประยุกต์ใช้ในการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์

Titleการศึกษาและพัฒนากระบวนการผลิตวัสดุทดแทนไม้จากเศษเหลือทิ้งทางเกษตรกรรมเพื่อประยุกต์ใช้ในการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsทรงวุฒิ เอกวุฒิวงศา
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTD ท147
Keywordsการใช้ของเสียให้เป็นประโยชน์, ของเสียทางการเกษตร, แผ่นชิ้นไม้อัด, ไม้อัด
Abstract

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตวัสดุทดแทนไม้จากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรกรรมในภาคอีสาน เพื่อประยุกต์ใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบประเภทเฟอร์นิเจอร์โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งทางเกษตรกรรมในภาคอีสานมาเป็นวัสดุดับหลักในการผลิตวัสดุทดแทนไม้ ผลวิจัยพบว่า เศษเหลือทิ้งทางเกษตรกรรมที่มีศักยภาพในการผลิตวัสดุทดแทนไม้มี 2 ชนิด คือ ยอดใบอ้อยและตอซังข้าว โดยกระบวนการประกอบด้วยการลอกเยื่อตอซังข้าวและยอดใบอ้อยด้วยโซดาไป น้ำ และเกลือ ต้มเป็นเวลา 40 นาที นำไปย้อมสีเคมีและสร้างกลิ่นจากธรรมชาติด้วยขมิ้น ตะไคร้หอมและเปลือกส้ม จะได้เยื่อวัสดุทดแทนไม้ที่มีเส้นใยขนาดเล็กมีสีสันและกลิ่นหอม เยื่อวัสดุทดแทนไม้สามารถขึ้นรูปได้ 2 แบบ คือ (1) การขึ้นรูปแบบแผ่น โดยใช้กาวไอโซไซยาเนต (Isocyanate Resins) 7% เยื่อวัสดุทดแทนไม้ 93% อัดร้อนที่ระดับ 130 องศาเซลเซียส นาน 3 นาที ที่ความดัน 180 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (2) การขึ้นรูปแบบอิสระ โดยใช้กาวจากเศษพลาสติก PS เช่น แก้วน้ำดื่มพลาสติก ถ้วยไอกรีม ขวดยาคูลย์ ย่อยให้มีขนาด 1 เซนติเมตร แช่ในน้ำมันเบนซิน 24 ชั่วโมง คลุกเคล้ากับเยื่อวัสดุทดแทนไม้จากสูตร พลาสติก PS 20% กับเยื่อวัสดุแทนไม้ 80% อัดลงไนแม่พิมพ์
การทดสอบคุณสมบัติพิเศษ 3 ด้าน ได้ผลดังนี้ (1) ด้านทนทานต่อการเข้าทำลายของปลวก แผ่นวัสดุทดแทนไม้สามารถทนทานการทำลายของปลวกได้ดี (2) ด้านกลิ่นหอม ใช้พืชที่มีน้ำมันหอมระเหยใต้เปลือกตากแห้งและอัดร้อนแบบแผ่นจะให้กลิ่นหอมที่ยาวนาน (3) ด้านการลดอุณหภูมิ ทดลองสร้างบ้านขนาดเล็ก 50*40 cm และกรุแผ่นวัสดุทดแทนไม้ภายใน พบว่า อุณหภูมิต่ำกว่าบ้านที่ไม่กรุวัสดุทดแทนไม้ 3 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำกว่าอากาศภายนอก 5-6 องศาเซลเซียส
การวิเคราะห์ตามมาตรฐาน JIS A 5908-1994 ของญี่ปุ่นพบว่า แผ่นวัสดุทดแทนไม้จากเศษเหลือทิ้งในพื้นที่เกษตรกรรม มีค่าความถ่วงจำเพาะที่ 0.74 และปริมาณความชื้นที่ 8.84% ซึ่งผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน และความต้านทานแรงดัด (modulus of rupture, MOR) ที่ระดับ 5.53 MPa คุณสมบัติทางด้านความแข็งตึงหรือมอดูลัสยืดหยุ่น (modulus of elasticity, MOE) ที่ระดับ 314.85 MPa ไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน ค่าแรงกดตั้งฉากกับเสี้ยน (Compression Stress) ที่ระดับ 10.54 MPa และค่าแรงกดขนาดเสี้ยน (Compression Stress//) ที่ระดับ 4.96 MPa และความแข็งแรงของวัสดุทดแทนไม้ (Hardness) ที่ระดับ 3541.41N
ผลการศึกษาพบว่า วัสดุทดแทนไม้ที่พัฒนาใหม่ มีค่าการประเมินประสิทธิผล 3 ด้าน คือ 1) ด้านกระบวนการผลิตวัสดุทดแทนไม้ มีค่าเฉลี่ยระดับ 4.07 มีความเหมาะสมระดับดี 2) ด้านการผลิตในระบบอุตสาหกรรมมีค่าเฉลี่ยระดับ 4.22 มีความเหมาะสมระดับดี 3) ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์มีค่าเฉลี่ยระดับ 4.33 มีความเหมาะสมระดับดี และการประเมินความพึงพอใจต่อการประยุกต์ใช้วัสดุทดแทนไม้ จำนวน 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเกษตรจังหวัด มีค่าความพึงพอใจเฉลี่ยระดับ 4.26 มีความเหมาะสมระดับดี 2) กลุ่มผู้บริโภค มีค่าความพึงพอใจเฉลี่ยระดับ 4.20 มีความเหมาะสมระดับดี

Title Alternate The study and development of production process of wood substitutes from agricultural wastes for application in the production of prototype products