การยอมรับนวัตกรรมทางการเงินของผู้สูงอายุในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

Titleการยอมรับนวัตกรรมทางการเงินของผู้สูงอายุในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2563
Authorsน้ำทิพย์ พรหมสูตร
Degreeบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHG น522ก 2563
Keywordsการเปิดรับข่าวสาร, นวัตกรรมทางการเงิน, ผู้สูงอายุ, แอปพลิเคชันการเงิน
Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการยอมรับนวัตกรรมทางการเงินของผู้สูงอายุในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานีใช้ระเบียบวิจัยเชิงทดลอง โดยมีผู้ให้ข้อมูล จำนวน 12 คน ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้งานแอพพลิเคชั่น Krungthai Next โดยจัดให้กลุ่มผู้ให้ข้อมูลได้ทดลองใช้งานแอพพลิเคชั่น Krungthai Next เป็นระยะเวลา 1 เดือน ในช่วงระยะเวลานั้นได้มีการจัดให้คำแนะนำ วิธีใช้งาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาสัปดาห์ละครั้ง หลังจากผู้ให้ข้อมูลได้ทดลองจนสามารถใช้งานได้แล้วจึงได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยเครื่องมือที่ใช้คือ แบบคำถามกึ่งโครงสร้างได้สัมภาษณ์ถึงการยอมรับนวัตกรรมเป็นระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง โดยเก็บข้อมูลในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561 - เดือนมีนาคม พ.ศ.2563 รวมระยะเวลา 16 เดือน และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา จากการศึกษาการยอมรับนวัตกรรมทางการเงินของผู้สูงอายุ เมื่อพิจารณาตามระดับขั้นการยอมรับนวัตกรรม พบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นมีความแตกต่างกัน สรุปได้ดังนี้
(1) ขั้นรับรู้ ประกอบด้วย ความไว้วางใจ (การรับรู้ด้านความปลอดภัย) การรับรู้ด้านประโยชน์(ปทัสถานทางสังคม) และการรับรู้ด้านความง่าย (การความคุมจากสภาวะภายนอก)
(2) ขั้นสนใจ ประกอบด้วย ความไว้วางใจ (การรับรู้ด้านความปลอดภัย) การรับรู้ด้านประโยชน์ (ปทัสถานทางสังคมและความเกี่ยวข้องกับงาน) และการรับรู้ด้านความง่าย (ความสามารถของตน)
(3) ขั้นประเมินผล ประกอบด้วย ความไว้วางใจ (การรับรู้ความเป็นส่วนตัวและการรับรู้ด้านความปลอดภัย) การรับรู้ด้านประโยชน์ (ปทัสถานทางสังคมและความเกี่ยวข้องกับงาน) และการรับรู้ด้านความง่าย (ความสามารถของตนและความวิตกกังวลต่อการใช้งาน)
(4) ขั้นทดลอง ประกอบด้วย ความไว้วางใจ (การรับรู้ด้านความปลอดภัย) การรับรู้ด้านประโยชน์ (ปทัสถานทางสังคม ผลลัพธ์และคุณภาพของผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้) และการรับรู้ด้านความง่าย (ความสามารถของตนและความวิตกกังวลต่อการใช้งาน)
(5) ขั้นยอมรับ ประกอบด้วย ความไว้วางใจ (การรับรู้ด้านความปลอดภัย) การรับรู้ด้านประโยชน์ (ปทัสถานทางสังคมและความเกี่ยวข้องกับงาน) และการรับรู้ด้านความง่าย(ความสามารถของตน)
จากผลการศึกษาข้างต้น การสร้างการยอมรับนวัตกรรมทางการเงินของผู้สูงอายุควรพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้น เพื่อกำหนดเป็นแนวทางเชิงกลยุทธ์ในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Title Alternate The adoption of financial innovation by the elderly in the Mueang district, Ubon Ratchathani province