การศึกษาสมรรถนะการผสม และความดีเด่นของลูกผสมชั่วแรกขององค์ประกอบผลผลิตของงา (Sesamum indicum L.)

Titleการศึกษาสมรรถนะการผสม และความดีเด่นของลูกผสมชั่วแรกขององค์ประกอบผลผลิตของงา (Sesamum indicum L.)
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2556
Authorsอิทธิพล ขึมภูเขียว
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSB อ727ก 2556
Keywordsการปรับปรุงพันธุ์งา, งา--การปรับปรุงพันธุ์, งา--พันธุ์, ผลผลิตของงา
Abstract

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมรรถนะการผสม (combining ability) ความดีเด่นของงาลูกผสมชั่วแรก (heterosis) และความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบผลผลิตและผลผลิตของงาน ทำการศึกษาโดยนำพันธุ์งา 8 สายพันธุ์ ได้แก่ KU18, MKS-I-83042-1, MKS-I-84001, MR36, BL5, A30-15, MR13 และพันธุ์ WL9 มาผสมแบบพบกันหมด (diallel cross) โดยไม่มีการผสมสลับ (withour reciprocal) ได้ลูกผสมชั่วที่หนึ่ง (F1) จำนวน 28 คู่ผสม นำไปปลูกทดสอบโดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (RCBD) ทำ 3 ซ้ำ จากนั้นทำการวิเคราะห์ค่าสมรรถนะการผสมตามวิธีของ Griffing (1956) method 2 Model I วัดค่าความดีเด่นของลูกผสมและวิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์ (correlation) และสัมประสิทธิ์เส้นทาง (path coefficient) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบผลผลิตกับผลผลิตของงา ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะองค์ประกอบผลผลิต ผลผลิต และปริมาณน้ำมัน มีสมรรถนะการผสมแบบทั่วไป (GCA) และแบบเฉพาะ (SCA) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นจำนวนวันดอกแรกบานในสมรรถนะการผสมแบบเฉพาะ และเมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนความแปรปรวนระหว่าง GCA: SCA พบว่า อิทธิพลของยีนแบบผลบวกมีความสำคัญมากกว่าแบบไม่เป็นผลบวกในทุกลักษณะที่ศึกษา สำหรับการประเมินอิทธิพลสมรรถนะการผสมแบบทั่วไป พบว่า พันธุ์ MKS-I-84001 และ WL9 มีสมรรถนะการผสมแบบทั่วไปด้านบวกในลักษณะผลผลิตต่อต้นและผลผลิตต่อไร่ และพันธุ์ MKS-I-83042-1 และ KU18 มีสมรรถนะการผสมแบบทั่วไปด้านลบในลักษณะจำนวนวันดอกแรกบาน จำนวนวันเก็บเกี่ยว ความสูงฝักแรก ความสูงต้น และจำนววนกิ่งหลักต่อต้น และพบว่าพันธุ์คู่ผสม MR36 x WL9, A30-15xBL5, KU18xMKS-I-84001 และ A30-15xMR13 มีสมรรถนะการผสมแบบเฉพาะด้านบวกในลักษณะผลผลิตต่อต้น และผลผลิตต่อไร่ สำหรับการศึกษาความดีเด่นของลูกผสมชั่วที่ 1 พบว่า พันธุ์คู่ผสม A30-15xBL5 ให้ค่า HB สูงสุด ในลักษณะจำนวนฝักต่อต้น ผลผลิตต่อต้นและผลผลิตต่อไร่ พันธุ์คู่ผสม MR36xMR13 ให้ค่า HB ต่ำสุดในลักษณะความสูงต้น และพันธุ์คู่ผสม MKS-I-83042-1xMR36 ให้ค่า HB ต่ำสุด ในลักษณะจำนวนวันดอกแรกบาน และการศึกษาสหสัมพันธ์และสัมประสิทธิ์เส้นทาง พบว่า จำนวนฝักต่อต้นมีอิทธิพลต่อผลผลิตโดยรวม และโดยตรงแบบบวกสูงสุด นอกจากนี้ พบว่า ความยาวฝักมีความสัมพันธ์กับน้ำหนัก 1,000 เมล็ด โดยรวมแบบบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

Title Alternate Study on combining ability and heterosis of yield components of sesame (Sesamum indicum L.)