การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนชุมชน : กรณีศึกษาการจัดทำแผนชุมชนของเทศบาลตำบลรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

Titleการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนชุมชน : กรณีศึกษาการจัดทำแผนชุมชนของเทศบาลตำบลรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsสยาม วิชาพรม
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHN ส319
Keywordsการพัฒนาชุมชน--สุรินทร์--การมีส่วนร่วมของประชาชน, สุรินทร์, เทศบาล, แผนชุมชน
Abstract

การศึกษาครั้งนี้มีมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวคิดการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของกรรมการชุมชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการจัดทำแผนชุมชน ทั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนชุมชนในมุมมองของกรรมการชุมชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกระบวนการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากแนวคิดของกรรมการชุมชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะทำให้การจัดทำแผนชุมชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิจัย คือ การวิจัยเชิงคุณภาพ และการวิจัยเชิงปริมาณ ผลการศึกษาเชิงคุณภาพพบว่า
(1)การจัดทำแผนชุมชน มี 3 ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการจัดทำแผนชุมชน คือ
(1.1)ภาคประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องแผนชุมชนดี จากการที่วิทยากรของเทศบาลได้ให้ความรู้ และมองเห็นประโยชน์ของแผนต่อชุมชน แต่การมีส่วนร่วมในการทำแผนชุมชนยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้น่าจะมาจากการที่ต้องดูแลกิจการของตนเอง และจากความเชื่อเดิมที่ส่วนหนึ่งยังเห็นว่าการทำแผนชุมชนให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดแผนก็เพียงพอแล้ว และบางส่วนยังมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์แผน ซึ่งทั้งสองขั้นตอนถือเป็นส่วนสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมดังกล่าวจะทำให้ได้แผนชุมชนที่ดีที่สามารถแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ตรง
(1.2)ภาครัฐ พบว่า ส่วนใหญ่การให้ความรู้ของภาครัฐมีความเหมาะสม วิทยากรมีความรู้ แต่ควรจะมีวิธีการอื่น ๆ เพื่อสามารถทำให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการทำแผนมากขึ้น โดยการใช้ช่องทางอื่น ๆ เช่น การบรรยายในชุมชนที่พร้อมกับการฝึกทำแผน มีการติดตามผลเป็นระยะ ใช้วิทยุชุมชนเป็นสื่อประชาสัมพันธ์และควรมีการสร้างสัมพันธภาพกับประชาชนในชุมชนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ควรมีการให้ความรู้แก่สมาชิกสภาเทศบาลเพื่อให้มีความรู้ในการให้คำแนะนำกับประชาชนในชุมชนตนเอง
(1.3) ภาคกระบวนการ พบว่า กระบวนการคัดเลือกพื้นที่มีความเหมาะสมแต่ด้านทีมงานควรจะมีการแต่งตั้งบุคลากรอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ร่วมในกลุ่มการจัดทำแผนด้วย เพื่อสามารถให้คำปรึกษาชี้ให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของชุมชนและแนวทางการพัฒนาชุมชนที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของชุมชนนั้น ๆ
(2) ผลการศึกษาเชิงปริมาณพบว่า ปัจจัยด้านภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคกระบวนการมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนชุมชน
(3)เมื่อศึกษาคุณลักษณะของประชาชน พบว่า คุณลักษณะด้านอายุสัมพันธ์กับระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนคุณลักษณะด้านเพศ การศึกษา อาชีพ และระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชนไม่มีความสัมพันธ์กับระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน
(4)เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนชุมชนที่จะทำให้การจัดทำแผนชุมชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงควรส่งเสริมให้มีการปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนชุมชนใน 3 ด้าน คือ
(4.1) ด้านนโยบาย
(4.1.1) คณะกรรมการชุมชนที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมหลักในการจัดทำแผนชุมชนเป็นผู้ได้รับคัดเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง เหมือนกันกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน (ในเขตเทศบาลตำบล ซึ่งยังมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอยู่ และมีค่าตอบแทนรายเดือนเป็นค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่) แต่คณะกรรมการชุมชนไม่ได้รับค่าตอบแทนรายเดือนดังเช่น กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเหมือนกับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน จึงน่าจะมีการกำหนดนโยบายออกระเบียบค่าตอบแทนให้กับคณะกรรมการชุมชนเพื่อสร้างแรงจูงใจอีกด้านหนึ่ง
(4.1.2) ภาครัฐ (เทศบาล) ควรมีนโยบายส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนชุมชนแก่ประชาชนให้ทั่วถึง และลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการมีส่วนร่วมในการนำเสนอปัญหา และผลลัพธ์ท้ายสุดของการจัดทำแผนชุมชน อันเป็นการพัฒนาท้องถิ่นโดยองค์รวม
(4.2) ด้านปฏิบัติการ แนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้นกว่าเดิม
(4.2.1)ภาคประชาชน เพิ่มความรู้ความเข้าใจด้านการจัดทำแผนชุมชน เพิ่มแรงจูงใจด้านเงินค่าตอบแทน ลดผลกระทบด้านเวลา ปรับความเชื่อดั้งเดิม
(4.2.2) ภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ เพิ่มการประชาสัมพันธ์ เพิ่มการให้คำปรึกษาแนะนำ เพิ่มการติดตามผล
(4.2.3) กระบวนการ เพิ่มความหลากหลายของวิทยากรผู้อบรม เพิ่มการเก็บรวบรวมข้อมูล
(4.3) ด้านวิชาการ
(4.3.1) ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเน้นการสุ่มเก็บตัวอย่างจากประชาชนในชุมชน เพื่อจะได้ทราบข้อมูลความต้องการที่แท้จริงส่วนบุคคลโดยไม่ต้องผ่านกลไกตัวแทนประชาชน (คณะกรรมการชุมชน)
(4.3.2) ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาชุมชนจากการใช้แผนชุมชน

Title Alternate The reinforcement of community planning participation: a case of Rattaburi Sub-District Municipality, Surin Province