กระบวนการตัดสินใจของนักการเมืองท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษา : องค์การบริหารส่วนตำบลในอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

Titleกระบวนการตัดสินใจของนักการเมืองท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษา : องค์การบริหารส่วนตำบลในอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsวัณณิตา มรกตเขียว
Degreeรัฐศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาการปกครอง
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberJQ ว413
Keywordsการคลังท้องถิ่น--อุบลราชธานี, งบประมาณท้องถิ่น--อุบลราชธานี, นักการเมืองท้องถิ่น--อุบลราชธานี
Abstract

ในการวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1)ศึกษากระบวนการตัดสินใจของนักการเมืองท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2) เปรียบเทียบระดับการตัดสินใจของนักการเมืองท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำแนกตามปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล (3)ศึกษาความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองท้องถิ่นในด้านการจัดสรรงบประมาณตามหลักธรรมาภิบาล (4)เปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองท้องถิ่นในด้านการจัดสรรงบประมาณตามหลักธรรมาภิบาลจำแนกตามปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล
การศึกษาค้นคว้าอิสระในครั้งนี้ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) เสริมด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) การศึกษาเชิงปริมาณมีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจงจากนักการเมืองท้องถิ่นจำนวน 103 คน และประชาชนในท้องถิ่น จำนวน 106 คน สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้จากคำถามปลายเปิดและจากการสัมภาษณ์เชิงลึก การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้สถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา สรุปได้ ดังนี้
การศึกษากลุ่มนักการเมือง
1)กระบวนการตัดสินใจของนักการเมืองท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า ปัจจัยการตัดสินใจโดยใช้หลักเหตุผล ปัจจัยการตัดสินใจโดยใช้ทฤษฎีส่วนเพิ่ม ปัจจัยการตัดสินใจเพื่อตอบสนองความต้องการของฐานคะแนนเสียงและเพื่อรักษาฐานคะแนนเสียง และปัจจัยการตัดสินใจเพื่อขยายฐานคะแนนเสียง อยู่ในระดับมาก
2)เปรียบเทียบระดับการตัดสินใจของนักการเมืองท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำแนกตามปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล พบว่า นักการเมืองท้องถิ่นที่มีอายุและระดับการศึกษาที่แตกต่างกันมีกระบวนการตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนเพศ อาชีพ รายได้เฉลี่ยต่อปี จำนวนสมัยที่เคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และตำแหน่งที่ดำรงในปัจจุบันแตกต่างกันมีกระบวรการตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่แตกต่างกัน
3)การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) พบว่า นักการเมืองท้องถิ่นตัดสินใจจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความจำเป็นและความสำคัญของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนเป็นหลักสำคัญและคำนึงถึงฐานะคะแนนเสียงและผลประโยชน์ของกลุ่มควบคุมกันไป
การศึกษากลุ่มประชาชน
1)ความคิดเห็นของประชาชนในท้องถิ่นเกี่ยวกับกระบวนการจัดสรรงบประมาณขององค์กนปกครองส่วนท้องถิ่นตามธรรมาภิบาล พบว่า ความคิดเห็นของประชาชนด้ายหลักคุณธรรมจริยธรรม อยู่ในระดับมาก ความคิดเห็นของประชาชนด้านหลักนิติธรรม ความคิดเห็นของประชาชนด้านหลักความโปร่งใส ความคิดเห็นของประชาชนด้ายหลักการมีส่วนร่วม และความคิดเห็นของประชาชนด้านหลักความคุ้มค่า อยู่ในระดับปานกลาง
2)เปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองท้องถิ่นในด้านการจัดสรรงบประมาณตามหลักธรรมาภิบาลจำแนกตามปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล พบว่า ประชาชนที่มีอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ ที่แตกต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณตามหลักธรรมาภิบาลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนประชาชนที่มีเพศ ตำแหน่งทางสังคมและรายได้เฉลี่ยต่อปีที่แตกต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลไม่แตกต่างกัน
3)การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) พบว่า นักการเมืองท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณไม่ค่อยเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ถึงแม้ประชาชนจะมีส่วนน่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยผ่านประชาคมหมู่บ้าน แต่การจัดสรรงบประมาณไม่สามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หากแต่เป็นการสะท้อนถึงการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่ม พวกพ้องและญาติพี่น้องของนักการเมืองท้องถิ่นมากกว่าการให้ความสำคัญต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง
เมื่อเปรียบเทียบกระบวนการตัดสินใจของนักการเมืองท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณตามหลักธรรมาภิบาล พบว่า นักการเมืองท้องถิ่นมองว่ากระบวนการตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณของตน ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการใช้เหตุผลมากกว่าการตัดสินใจ โดยคำนึงถึงแต่ประโยชน์ของตนและกลุ่มก้อนทางการเมือง งบประมาณสอดรับกับแผนพัฒนาท้องถิ่น สอดคล้องกับปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้เป็นอย่างดี แต่ประชาชนกลับมีความคิดเห็นตรงกันข้าม กล่าวคือ งบประมาณที่จัดสรรส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามแผนพัฒนาท้องถิ่น ไม่ตรงกับความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนในท้องถิ่นได้อย่างคุ้มค่า

Title Alternate Local politicians' decsion-making procedures regarding budget allocation in sub-district administration organizations : a case study of Nam Yuen Sub District Administration Organizations, Ubon Ratchathani Province
Fulltext: