การรับรองผลงานของนักเรียนในการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สำหรับเก็บรวบรวมใน e-Portfolio

Titleการรับรองผลงานของนักเรียนในการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สำหรับเก็บรวบรวมใน e-Portfolio
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsพิชิต โสภากันต์
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberLB พ647
KeywordsD4L+P, Designing for learning plus portfolio), การสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
Abstract

จากที่ผ่านมา ระบบจัดการการเรียนรู้ (LMS) นั้น ต่างได้ถูกออกแบบและพัฒนาให้สนับสนุนกับกระบวนการเรียนการสอนตามวิธีการเรียนการสอนแบบเดิม ซึ่งอาศัยการบรรยายของผู้สอนเป็นหลักเพื่อถ่ายทอดความรู้จากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน ซึ่งผู้สอนส่วนใหญ่ต่างก็ได้พยายามนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในเรื่องการบริหารจัดการ หรือเพื่อใช้สำหรับเป็นที่เก็บรวบรวมเอกสารประกอบการสอนให้อยู่ในรูปของเอกสารดิจิตอล อีกทั้งหลาย ๆ มหาวิทยาลัยต่างก็ได้พยามยามพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อให้สนับสนุนกับกระบวนการเรียนการสอนให้มากที่สุด แต่ท้ายที่สุดผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ก็ยังไม่ดีขึ้นดังที่คาดหวังไว้ [1] ดังเช่น Arvan [2] ได้ให้ความเห็นว่า “ในปัจจุบันระบบจัดการการเรียนรู้นั้น เป็นเพียงการทำซ้ำโครงสร้างการเรียนการสอนในปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งผู้สอนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากระบบจัดการการเรียนรู้เท่าที่ควร ในทางกลับกันระบบจัดการการเรียนรู้ก็ไม่ใช้สิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้สอนมากนัก และสำหรับผู้เรียนนั้นได้รับประโยชน์เพียงแค่การเรียกดูเกรด และเอกสารการสอนที่อยู่ในรูปของเอกสารอิเลคทรอนิกส์ได้สะดวกขึ้นเท่านั้น ซึ่งระบบจัดการการเรียนรู้ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ต่างก็เป็นระบบที่มีการเรียนการสอนโดยอาศัยการบรรยาย หรืออาศัยผู้สอนเป็นศูนย์กลาง” และ Mott [3] ยังได้ให้นิยามไว้ว่า “ระบบจัดการเรียนรู้ทั้งหลายนั้น ต่างก็เป็นการเรียนการสอนแบบยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งผู้สอนทำการสร้างรายวิชา และนำเข้าเนื้อหารายวิชา เริ่มต้นสนทนา และสร้างกลุ่ม ดังนั้นโอกาสในการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนเองในระบบจัดการการเรียนรู้แบบเดิมนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้”
นอกจากนั้นแล้วกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ที่สะท้อนถึงคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ไว้ 5 ด้าน (จากเอกสาร TQF:HEd ของ สกอ.) เพื่อให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้จัดการการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการการเรียนการสอนจากแบบเดิมไปสู่การเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น [4] ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแนวคิดสำหรับการออกแบบและพัฒนาระบบจัดการการเรียนรู้เพื่อให้สนับสนุนกับกระบวนการเรียนการสอนที่ต่างไปจากเดิมดังกล่าว
งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้มุ่งเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนาเครื่องมือ หรือระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ที่สนับสนุนกับกระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยการออกแบบเครื่องมือนั้น ได้ออกแบบตามรูปแบบการเรียนการสอนแบบที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง T5 Model [1] โดยที่ T5 Model ได้ถูกพัฒนามาจาก Learning Design Research Group ร่วมกับ Teaching and Learning through Technology จากมหาวิทยาลัยแห่ง Waterloo ประเทศ Canada โดยที่กระบวนการตามวิธีของ T5 Model นั้นกำหนดให้ในแต่ละสัปดาห์ ผู้เรียนแต่ละคนจะต้องมีการเรียนรู้ด้วยตนเองก่อน หลังจากนั้นจึงจะทำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ผู้สอนจะเป็นผู้ที่คอยให้คำแนะนำหรือชี้แนะ ซึ่งหมายถึงเครื่องมือนี้จะต้องถูกออกแบบให้สนับสนุนกับกระบวนการต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด นอกจากนั้น เครื่องมือนี้ยังเป็นที่ที่ให้ผู้เรียนนั้นได้สร้างองค์ความรู้ตามขั้นตอนที่กำหนดรวมทั้งสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ และสามารถตรวจสอบและรับรองผลงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการการเรียนรู้ทั้งหมดด้วย
เพื่อทำการศึกษาและทดสอบเครื่องมือ D4L+P กับรายวิชานำร่องจริงในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 22 รายวิชา จากคณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีผู้เรียนทั้งสิ้น 1,742 คน ซึ่งผู้สอนทั้งหมดได้ทำการเปลี่ยนยุทธวิธีการสอนตามรูปแบบของ T5 Model พร้อมทั้งทำการศึกษาการใช้งานเครื่องมือ เพื่อทำการสร้างและใช้งานรายวิชาผ่านระบบออนไลน์ไปพร้อมกัน โดยมีรายวิชาที่มีผู้เรียนมากที่สุด 249 คน
จากการศึกษาของวิชานำร่อง “T5-TwL” [5] ซึ่งสอนตามรูปแบบของ T5 Model พบว่าผู้เรียนมีทัศนคติและความรับผิดชอบต่อการทำงานตามที่ได้รับมอบหมายนั้นดีขึ้น และจากการเปรียบเทียบ 10 รายวิชาที่มีการเรียนการสอนตามรูปแบบของ T5 Model กับภาคการศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่า ผู้เรียนทั้งหมด 741 คนที่เรียนตามรูปแบบการเรียนการสอนของ T5 Model นั้น เมื่อดูจากคะแนนสอบปลายภาค พบว่าคะแนนสูงขึ้นร้อยละ 17.31 เมื่อเทียบกับผู้เรียน 515 คนจากรายวิชาในภาคการศึกษาก่อนหน้านี้
ทั้งนี้จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า เครื่องมือ D4L+P นี้เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับผู้สอนที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนและนำมาช่วยในเรื่องของการพัฒนาผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนให้ดีขึ้นต่อไป

Title Alternate Authenticating students' work represented in a student centred learning environment as a collection of e-portfolio items
Fulltext: