ความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง: กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี

Titleความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง: กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2549
Authorsนันทิยา หุตานุวัตร, สุวัฒน์ ธีระพงษ์ธนากร, นพมาศ นามแดง, กันยารัตน์ ปัญญารัมย์, วิทยา ผลคำ
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSB191.R5 น431อ
Keywordsข้าวหอม--การปลูก--อุบลราชธานี, ข้าวอินทรีย์--การปลูก--อุบลราชธานี, เกษตรธรรมชาติ, เกษตรอินทรีย์--อุบลราชธานี
Abstract

ประเทศไทยยังมีประชากรที่ยากจนในอัตราส่วนหนึ่งต่อสิบคน และร้อยละ 70 ของคนจนเหล่านั้นมีอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะอาชีพทำนาซึ่งมีข้าวหอมมะลิเป็นพืชหลักที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเริ่มมีการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบอินทรีย์ เนื่องจากการส่งเสริมขององค์กรเอกชนและหน่วยงานภาครัฐบางส่วน ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาว่า “การผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์มีความเป็นไปได้หรือไม่ในการเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมทางสังคมวัฒนธรรม สภาพกายภาพและชีวภาพ และสภาพทางเศรษฐกิจ” โดยวิธีการสัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มผสมผสานที่มีข้ามหอมมะลิอินทรีย์เป็นพืชหลัก 19 ราย ผลิตข้าวหอมมะลิในระบบอินทรีย์ ระบบอินทรีย์ระนะปรับเปลี่ยน และระบบทั่วไป กลุ่มละ 20 ราย ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง สำโรง ม่วงสามสิบ และอำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งสัมภาษณ์และศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานพัฒนาหรือองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และสัมภาษณ์ผู้บริโภคอาหารอินทรีย์ 10 ราย และกลุ่มที่ไม่บริโภคอาหารอินทรีย์ 10 ราย สังเคราะห์และวิเคราะห์ผลการศึกษาทั้งเชิงพรรณนา (Descriptive Method) และเชิงปริมาณ (Quantitative Method) ตามหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และสงคมศาสตร์
ผลจากการศึกษา พบว่า การผลิตข้าวอินทรีย์ มีศักยภาพเป็นอาชีพทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาความยากตนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้การพิจารณาทางสังคมวัฒนธรรม สภาพกายภาพชีวภาพของการผลิต และสภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิในระบบอินทรีย์และระบบผสมผสานที่มีข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นพืชหลัก มีความเชื่อมั่นต่อการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์และพร้อมที่จะพัฒนาแปลงนาของตนเองให้ดียิ่งขึ้น และยังต้องการให้บุตรหลานสืบสานอาชีพการเกษตรต่อไป ดินในแปลงนาอินทรีย์มีการปรับสภาพโครงสร้าง คุณสมบัติทางเคมี และความอุดมสมบูรณ์ดีขึ้น และมีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย ผลผลิตข้าวหอมมะลิที่ปลูกในระบบอินทรีย์และระบบผสมผสานอินทรีย์ที่มีข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นพืชหลักให้ผลผลิตต่อไร่สูงเท่ากับ 351.50 และ 430.51 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบทั่วไปที่ให้ผลผลิตเพียง 307.95 กิโลกรัมต่อไร่
สำหรับต้นทุนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ พบว่า การทำเกษตรผสมผสานที่มีข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นพืชหลัก และระบบอินทรีย์มีต้นทุนการผลิตรวม 2,531.43 และ 2,984.10 บาทต่อไร่ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบทั่วไปที่มีต้นทุนการผลิตรวม 2,753.80 บาทต่อไร่ การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทั้งในระบบผสมผสานที่มีข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นพืชหลัก ระบบอินทรีย์ ระบบอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนและระบบทั่วไปให้รายได้รวมต่อไร่ เท่ากับ 4,151 3,515 3,020 และ 2,554 ตามลำดับ และรายได้ต่อไร่เหนือต้นทุนเงินสด เท่ากับ 3/147 2,894 1,216 และ 916 บาท จะเห็นได้ว่าการผลิตข้าวหอมมะลิิอินทรีย์ทั้ง 3 ระบบดังกล่าว ให้รายได้รวมและรายได้เหนือต้นทุนเงินสดต่อไต่สูงกว่าการปลูกข้าวหอมมะลิในระบบทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่า การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในระบบอินทรีย์ และระบบผสมผสานที่มีข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นพืชหลัก ทำให้เกษตรกรมีรายได้เหนือเส้นความยากจน (รายได้เฉลี่ย 1,040 บาทต่อคนต่อเดือน) คิดเป็นร้อยละ 10 และ 26 ของจำนวนตัวอย่างเกษตรกร ในขณะที่การผลิตข้าวหอมมะลิแบบทั่วไปและอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
การขยายการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบอินทรีย์ และระบบผสมผสานที่มีข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นพืชหลัก เพื่อเป็นอาชีพทางหลักในการแก้ไขปัญหาความยากจน จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากเกษตรกร ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาระบบการเกษตรอินทรีย์พืชเชิงเดี่ยวเป็นระบบเกษตรผสมผสานที่มีข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นพืชหลัก เพื่อให้เกษตรกรมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน ลดความเสี่ยงด้านการตลาดมีงานทำและมีรายได้ตลอดทั้งปี และในที่สุดเกษตรกรจะสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

Title Alternate The possibility of Hom Mali Rice production in organic farming systems as an alternative farming career with poverty alleviation potential for Lower-Northeastern farmers: the case of Ubon Ratchathani Province