ความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง: กรณีศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด

Titleความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง: กรณีศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2549
Authorsนันทิยา หุตานุวัตร, ปราณีต งามเสน่ห์, สังวาล แก่นโส, วารุณี ปะสีระตา
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSB191.R5 น431ด
Keywordsข้าวหอม--การปลูก--ร้อยเอ็ด, ข้าวอินทรีย์--การปลูก--ร้อยเอ็ด, เกษตรธรรมชาติ, เกษตรอินทรีย์--ร้อยเอ็ด
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 (งานวิจัยนี้ใช้คำว่า ข้าวหอมมะลิ) ในระบบเกษตรอินทรีย์ ในการเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดร้อยเอ็ด มีเกษตรกรกลุ่มที่ศึกษาในอำเภอเสลภูมิ จำนวน 77 ราย เป็นเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป 20 ราย เกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิปลอดสารเคมีในระยะปรับเปลี่ยนจำนวน 20 ราย เกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์จำนวน 17 ราย และเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ผสมผสานที่มีข้าวหอมมะลิเป็นพืชหลัก จำนวน 20 ราย โดยศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ การสำรวจตามแบบสอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริโภค ผู้ประอบการโรงสี ฯลฯ การเก็บข้อมูลตัวอย่่างผลผลิตข้าว การสำรวจพื้นที่และเก็บตัวอย่างดิน การสำรวจตามแบบสอบถาม การสัมภาษณ์และการศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เจาะลึก การจัดสนทนากลุ่ม (Focus group session) และการสังเกตเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
1.ความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ในการเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจน
(1) ในด้านสภาพทางเศรษฐกิจของการผลิต ข้ามหอมมะลิอินทรีย์ของเกษตรกรในอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีศักยภาพในการเป็นอาชีพเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ได้ในระดับปานกลาง เหตุผล คือ ต้นทุนที่เป็นเงินสดของการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ผสมผสาน ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จะมีค่า 855.33 บาท และ 46.60 บาท ต่ำกว่าข้าวหอมมะลิเคมี (958.69 บาท) ถึง 103.36 บาท และ 112.09 บาท ตามลำดับ ส่วนต้นทุนที่เป็นเงินสดของข้าวหอมมะลิปรับเปลี่ยน (1,133.06 บาท) ยังสูงกว่าข้าวหอมมะลิเคมีอยู่ 174.37 บาท ถึงแม้ว่าต้นทุนรวมเฉลี่ยต่อไร่ของข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทั้ง 3 รูปแบบมีค่าสูงคือ 3,081.85 บาท (ปรับเปลี่ยน), 2,692.67 บาท (อินทรีย์) และ 2,862.50 บาท (อินทรีย์ผสมผสาน) โดยที่ต้นทุนของการผลิตข้าวหอมมะลิเคมี คือ 2,588.78 บาท/ไร่ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ต่ำที่สุด แสดงถึงการใช้ปัจจัยผลิตของตนเองของนาข้าวอินทรีย์ที่สูงกว่านาเคมี ส่งผลให้การใช้เงินสดในการทำนาอินทรีย์มีแนวโน้มลดลงจากนาเคมี (2) ค่าเฉลี่ยรายได้ที่เป็นเงินสดต่อปีของเกษตรกรพบว่ารายได้รวมต่อปีเฉลี่ย/คน/ปีของกลุ่มนาเคมีต่ำที่สุด คือ 12,692 บาท โดยกลุ่มอื่นมีรายได้สูงขึ้นตามความเข้มข้นของความเป็นอินทรีย์ของฟาร์มจากนาปรับเปลี่ยน นาอินทรีย์และนาอินทรีย์ผสมผสานเท่ากับ 20,047.79 บาท, 20,047.79 บาท และ 21,643.24 บาท ตามลำดับ (3) จำนวนเงินออมเฉลี่ยต่อรายมีแนวโน้มคล้ายกันโดยเริ่มจากกลุ่มนาอินทรีย์จะมีค่าสูงสุด คือ 15,928.57 บาท รองลงมาคือ กลุ่มอินทรีย์ผสมผสานเท่ากับ 14,500 บาท และกลุ่มนาเคมีเท่ากับ 9,472.94 บาท ส่วนกลุ่มนาปรับเปลี่ยนจะต่ำสุดคือ 8,243.75 บาท แสดงถึงการมีภารกิจอื่น ๆ ที่กลุ่มนาอินทรีย์ปรับเปลี่ยนจะต้องรับผิดชอบในระยะนี้ (4) หนี้สิน เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังทำข้าวหอมมะลิิอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร พบว่า ปริมาณหนี้มีแนวโน้มลดลงตามความเข้มข้นของความเป็นอินทรีย์ของฟาร์ม โดยกลุ่มปรับเปลี่ยนมีหนี้สินลดลง 10.53% กลุ่มข้าวอินทรีย์ลดลง 18.75% และกลุ่มข้าวอินทรีย์ผสมผสานลดลง 55% ตามลำดับ และ (5) รายได้ที่เป็นเงินสดจากทุกแหล่งที่มาของรายได้ พบว่า รายได้รวมเฉลี่ย/คน/เดือน ของเกษตรกรทุกกลุ่มสูงกว่าเส้นความยากจน โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นตามระดับความเข้มข้นของความเป็นอินทรีย์ของฟาร์ม คือ นาเคมี 1,057.67 บาท/คน/เดือน นาปรับเปลี่ยน 1,637.50 บาท/คน/เดือน นาอินทรีย์ 1,670.65 บาท/คน/เดือน และนาอินทรีย์ผสมผสาน 1,803.60 บาท/คน/เดือน ตามลำดับ
2.ความเป็นไปได้ทางกายภาพชีวภาพของการผลิต มีความเป็นไปได้ในระดับสูง ด้วยเหตุผลคือ การผลิตข้าวอินทรีย์ในเขตพื้นที่ศึกษามีความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ ซึ่งเอื้อต่อการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ การมีสิทธิ์ในการถือครองที่ดินสูงถึง 90% เกษตรกรมีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวเอง เป็นปัจจัยหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิต และเป็นการปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นได้ดี ในทางสภาพสังคมวัฒนธรรมพบว่า มีความเป็นไปได้ในระดับปานกลาง เพราะเกษตรกรมีกระบวนทัศน์ที่สอดคล้องและส่งผลในทางบวกต่อการผลิตข้าวอินทรีย์แบบยั่งยืน และมีเวลาในการทำงานในแปลงอย่างพอเพียง คือ ด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ พลังต่อรองราคาผลผลิต และการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก แต่ควรมีการพัฒนาบทบาทและภารกิจของกลุ่มในด้านการตลาดและการรับรองมาตรฐานคุณภาพของผลผลิต
2. กระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในพื้นที่ศึกษา
ในด้านกิจกรรมการปฏิบัติในพื้นที่ทำการปลูกนั้น มีรูปแบบและวิธีการเหมือนกับการทำนาข้าวอินทรีย์ทั่วไป ส่วนในด้านการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการตัดสินใจนั้น เริ่มจาก ขั้นตอนการตัดสินใจ ที่เกิดจากปัญหาราคาผลผลิตแบบเดิมตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง เกิดภาวะหนี้สิน จึงปรับกระบวนการคิด และวิเคราะห์ค้นหาทางเลือกที่เหมาะสม จากนั้นเป็นการศึกษาเรียนรู้ ดูงานและรวมกลุ่ม โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนการตัดสินใจของเกษตรกร คือ แรงบันดาลใจ ความผูกพันในอาชีพของบรรพบุรุษ และความต้องการพึ่งตนเองให้ได้ แรงผลักดันจากภายนอก ได้แก่ อิทธิพลจากสมาชิก/กลุ่มหรือองค์กร และการมีผู้นำชุมชนเป็นต้นแบบ เงื่อนไขที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของเกษตรกร คือ ประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับภายนอกชุมชน ทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคได้ชัดเจนขึ้น และการได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน เห็นความสำเร็จและตัวอย่างเกษตรกร ทำให้เห็นผลดีของการทำเกษตรอินทรีย์ในหลายมิติ
3.สภาพการณ์โดยรวมของระบบการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์และความเป็นไปได้ในการขยายการผลิตจากข้าวหอมอินทรีย์เป็นระบบการเกษตรอินทรีย์ พบว่า (1) เกษตรกรกลุ่มอินทรีย์ผสมผสานสามารถพึ่งตนเองได้ด้านอาหาร มีการบริโภคผลผลิตจากระบบถึงเกือบ 100% ยกเว้นสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่บางส่วน มีการใช้ประโยชน์จากผลผลิตหรือผลพลอยได้ไปสู่การผลิตอีกอย่างหนึ่ง มีการพึ่งตนเองในปัจจัยการผลิตถึง 85% มีการซื้อจากภายนอกเพียง 15% การเพิ่มรายได้โดยการมีการจำหน่ายผลผลิตที่ได้จากระบบเกษตรอินทรีย์ถึง 79% ผลผลิตเหล่านี้เหลือจากการบริโภคหรือใช้ประโยชน์ในครัวเรือน จึงเป็นการเพิ่มรายได้เสริมรายได้หลักที่มาจากการขายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ นั่นคือ ส่วนที่ระบบผสมผสานเอื้อต่อการแก้ปัญหาความยากจนอีกทางหนึ่ง (2) การออม พบว่ากลุ่มเกษตรกรข้าวอินทรีย์ผสมผสานมีจำนวนเงินออดสูงสุดเฉลี่ย 13,050 บาท/ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในจำนวนกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างศึกษา ส่วนการออมที่ไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นทรัพย์สินจะมีอยู่ในฟาร์มได้แก่ ไม้ยืนต้นและไม้ผลในระบบที่มีถึง 30% ของการผลิต ซึ่งเป็นการออมระยะยาว (3) การแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายโอกาสทางการตลาดนั้น พบว่ายังไม่มีการแปรรูปผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เหตุผล คือยังไม่มีความรู้เรื่องการแปรรูปผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์
4.การรวมกลุ่มและเครือข่ายของเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์มีความเป็นไปได้ในระดับกลางค่อนข้างต่ำ เพราะว่ายังไม่มีการรวมกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ โดยตรงถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ ที่ได้รับการพัฒนาและสั่งสมศักยภาพมาอย่างค่อนข้างจะสมบูรณ์ อยู่แล้ว แต่กลุ่มการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ยังไม่เกิดขึ้น รวมทั้งยังไม่มีองค์กร/หน่วยงานจากภายนอกเข้ามาส่งเสริม การผลิตข้าวอินทรีย์ของเกษตรกรจึงยังไม่สามารถขยายผลสู่วงกว้างได้
5.โอกาสของการขยายวิธีการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ไปสู่เกษตรกรทั่วไป มีความเป็นไปได้อยู่ในระดับต่ำ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการดำเนินมาตรการส่งเสริมที่ชัดเจน สภาพการณ์ของการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ผสมผสานในพื้นที่ศึกษา มีลักษณะที่เป็นไปเพื่อความสมดุลของวิถีชีวิตธรรมชาติและความพออยู่พอกินของเกษตรกรในระดับครัวเรือนเท่านั้น จัดว่าอยู่ในระดับของการก่อตัวในวงแคบกับเกษตรกรที่มีระบบการผลิตขนาดเล็ก ต้องการความเข้าใจและการสนับสนุนที่ถูกวิธีอยู่อีกมาก
6. ข้อเสนอแนะระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ
ข้อเสนอต่อรัฐ ประกอบด้วย (1) ข้อเสนอด้านการสร้างตลาดผลผลิตอินทรีย์ ภาครัฐควรมีนโยบายและกำหนดข้อปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดข้าวอินทรีย์ภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงานของรัฐระดับจังหวัด ต้องพัฒนาและส่งเสริมตลาดการขายตรงระหว่างเกษตรกรหรือกลุ่มผู้ผลิตกับกลุ่มผู้บริโภค รณรงค์ให้บุุคลากรในหน่วยงานของรัฐรู้จักและบริโภคข้าวอินทรีย์ และส่งเสริมให้มีการทำผลิตภัณฑ์สินค้าอินทรีย์ มีร้านค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ การจัดให้มีแหล่งรับซื้อที่มีราคาพรีเมี่ยม ส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณและการประกันราคาให้มีผลครอบคลุมอย่างทั่วถึงทั้งกลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออกและกลุ่มผู้ผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนหรือในชุมชน และกำหนดระยะเวลาในการประกันราคาข้าวอินทรีย์ให้ชัดเจน (2) มีการสนับสนุน (Subsidy) ระยะปรับเปลี่ยน ให้กับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง การตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ควรจัดทำระบบและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้ตรงกับมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของโลก และควรมีกฎระเบียบในการใช้สารเคมีในระดับชุมชนอย่างชัดเจน และ (3) แนวทางด้านอื่น ๆ ได้แก่ การสนับสนุนองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดหาน้ำให้เพียงพอ ส่งเสริมการวิจัยด้านการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม จัดระบบภาคเรียนของนักเรียน ให้สอดคล้องกับฤดูการผลิตของเกษตรกร เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสเรียนรู้ ใช้ชีวิตและรับการถ่ายทอดภูมิปัญญาและวิถีชีวิต บรรจุเนื้อหาด้านเกษตรอินทรีย์ในหลักสูตรการศึกษาในระดับชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้ และการใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง
ข้อเสนอแนะระดับเกษตรกรผู้ปฏิบัติ เกษตรกรควรตั้งเป้าหมายเบื้องต้นว่าควรผลิตเพื่อบริโภคกันเองในครัวเรือนและในชุมชน เมื่อเหลือจากการบริโภคแล้วจึงมุ่งสู่ตลาด เกษตรกรต้องพึ่งตนเองให้ได้ก่อน และรวมกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง จะทำให้ไม่ต้องพึ่งพิงระบบตลาดจนเกินไป ร้านค้าหรือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในระดับท้องถิ่น อาจจะสร้างภาพลักษณ์สินค้าอินทรีย์ให้เห็นเด่นชัด หรือส่งสินค้าอินทรีย์โดยตรงต่อผู้บริโภค เพิ่มกิจกรรมที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ เช่น การปลูกพืชก่อนและหลังนา การเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ในนาข้าว เป็นต้น
ข้อเสนอต่อองค์การ/ชุมชน/เครือข่าย ควรมีการพบปะเครือข่ายเกษตรกรทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมมือกับองค์กรชุมชนอื่น ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ให้เกษตรกรมีการวิเคราะห์ ตืดตามข้อมูล ร่วมกัน เช่น เรื่อง จีเอ็มโอ ข้อตกลงการค้าเสรี มาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

Title Alternate The possibility of Hom Mali Rice production in organic farming systems as an alternative farming career with poverty alleviation potential for Lower-Northeastern farmers: the case of Roi-et Province