การประเมินนโยบายสาธารณะ กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลหัวนา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

Titleการประเมินนโยบายสาธารณะ กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลหัวนา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsธนพรรษ วันดึก
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberH ธ152ก
Keywordsการวิเคราะห์นโยบาย, นโยบายสาธารณะ--การมีส่วนร่วมของประชาชน--อุบลราชธานี
Abstract

การศึกษาค้นคว้า เรื่อง การประเมินนโยบายสาธารณะ กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลหัวนา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินนโยบายสาธารณะและศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินนโยบายสาธารณะขององค์การบริหารส่วนตำบลหัวนา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างเป็นเจ้าหน้าที่ 10 คน และประชาชน จำนวน 345 คน รวมทั้งสิ้น 355 คน จากนั้นทำการสุ่มตัวอย่างแบบสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถามสำหรับเจ้าหน้าที่ และแบบสอบถามสำหรับประชาชน วิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม โดยสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบทีเทส (t-test) และทดสอบเอฟเทส (F-test) ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลแบบสอบถามปลายเปิดและการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) โดยวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการศึกษาพบว่า
(1)การประเมินนโยบายสาธารณะภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อแยกพิจารณา พบว่า บริบทแวดล้อมและปัจจัยนำเข้าอยู่ในระดับมาก ส่วนกระบวนการและผลผลิตอยู่ในระดับปานกลาง
(2)ผลการประเมินนโยบายสาธารณะแต่ละนโยบาย พบว่า
(2.1)นโยบายส่งเสริมศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อแยกพิจารณา พบว่า บริบทแวดล้อมอยู่ในระดับมาก ส่วนปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลผลิตอยู่ในระดับปานกลาง
(2.2)นโยบายพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อแยกพิจารณา พบว่า บริบทแวดล้อม ปัจจัยนำเข้า และกระบวนการอยู่ในระดับมาก ส่วนผลผลิตอยู่ในระดับปานกลาง
(2.3)นโยบายเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งศูนย์รวมแหล่งเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อแยกพิจารณา พบว่า บริบทแวดล้อมและกระบวนการอยู่ในระดับมาก ส่วนปัจจัยนำเข้า และผลผลิตอยู่ในระดับปานกลาง
(2.4)นโยบายส่งเสริมการศึกษา การกีฬา ศาสนาและวัฒนธรรมภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อแยกพิจารณา พบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมาก ได้แก่ บริบทแวดล้อม ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต
(2.5)นโยบายส่งเสริมด้านการเกษตรกรรมภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อแยกพิจารณา พบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมาก ได้แก่ บริบทแวดล้อม ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต
(3)ผลการวิเคราะห์เพื่อทดสอบสมมติฐานการวิจัย พบว่า ประชาชนที่มีเพศ อายุ การศึกษา และอาชีพต่างกัน ประเมินนโยบายสาธารณะในภาพรวมทุกนโยบายไม่แตกต่างกัน ส่วนประชาชนที่มีรายได้ของครัวเรือนและรายได้ต่างกัน ประเมินนโยบายสาธารณะในภาพรวมทุกนโยบายแตกต่างกัน
(4)ข้อเสนอแนะจากการศึกษา ได้แก่ ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ควรมีมาตรการติดตาม กำกับ ดูแล อำนวยการในการนำนโยบายไปปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และประหยัด ควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหาในทางเลือกต่าง ๆ ให้ละเอียดรอบคอบ โดยระดมความร่วมมือ ความคิดเห็นจากหลากหลายฝ่ายเปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสฐปัญหานั้น ๆ ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของตนเองในลักษณะร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และควรนำตัวแบบกระบวนนโยบายสาธารณะขององค์การบริหารส่วนตำบลหัวนา เพื่อนำไปใช้ให้สามารถแก้ปัญหา และสะท้อนความต้องการของประชาชนได้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย และผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นควรให้ความสำคัญกับตัวแปรรายได้ของประชาชน เนื่องจากรายได้ของประชาชน มีผลต่อทัศนะที่มีต่อการประเมิน โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5000 บาท ประเมินนโยบายสาธารณะอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 5000 บาท ประเมินนโยบายสาธารณะอยู่ในระดับมาก

Title Alternate The evaluation of public policies: a case study of the sub-district administration organization of Huana, Khemarat, Ubon Ratchathani