วัด 100 ปีที่อุบลฯ

วัดเก่าอายุกว่า 120 ปีที่จังหวัดอุบลราชธานี มีมูลเหตุในการสร้างวัด คือ การตั้งถิ่นฐานและการพัฒนาบ้านเมืองโดยเจ้านายพื้นเมือง การเผยแพร่และทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เป็นที่ยึดหนี่ยวจิตใจของประชาชน จึงเกิดวัดต่าง ๆ ขึ้น  เช่น วัดหลวง วัดกลาง วัดมหาวนาราม วัดมณีวนาราม วัดทุ่งศรีเมือง วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดเลียบ วัดไชยมงคล วัดแจ้ง วัดบูรพาราม วัดพลแพน วัดสารพัฒนึก วัดปทุมมาลัย เป็นต้น ผลงานการวิจัยของลลิดา บุญมี

อาจารย์ลลิดา บุญมี อาจารย์ประจำคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ทำการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ของวัดกับภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์อุบลราชธานี (Relationship between temples and Ubon Ratchathai’s historic urban landscape) และได้รายงานไว้ในการประชุมวิชาการระดับชาติ “โฮมภูมิ ครั้งที่ 3 : Wisdom to the Future: ภูมิปัญญาสู่อนาคต” จัดโดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายน 2560 ว่า ตำแหน่งที่ตั้งของวัดนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญในการการสร้างและการพัฒนาเมือง พื้นที่เมืองเก่าของอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ชัยภูมิที่มีทำเลที่ตั้งเหมาะสมเจ้าเมืองได้เลือกตั้งถิ่นฐาน อยู่ในเขตตัวเมือง ซึ่งพบว่ามีวัดตั้งอยู่จำนวนมาก มีความสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบ ชาวบ้านมีการอุปถัมภ์อย่างสม่ำเสมอ และเรียกตนเองว่า คนคุ้มวันตามที่ตนอาศัยอยู่

วัดเก่าแก่ของจังหวัดอุบลราชธานีในที่นี้ หมายถึง วัดที่มีการสร้างระหว่างปี พ.ศ.2322-2439 ซึ่งถือเป็นช่วงแรกเริ่มของการสร้างบ้านแปงเมืองอุบลราชธานี วัดเหล่านี้จะมีอายุมากกว่า 120 ปี  พบว่า มีการสร้างวัดทั้งหมด 21 วัด แต่มีการยุบไปแล้ว 3 วัด จึงยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน จำนวน 18 วัด ส่วนใหญ่วัดเหล่านี้จะถูกสร้างโดย เจ้านายพื้นเมืองหรือผู้ปกครองเมืองเป็นผู้สร้าง บางส่วนสร้างโดยพระราชาคณะและมีเจ้านายพื้นเมืองให้การอุปถัมภ์ และอีกบางส่วนสร้างโดยชาวบ้าน

ผลการวิจัย ทำให้สามารถแบ่งกลุ่มวัดออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ วัดที่สร้างริมฝั่งแม่น้ำมูล วัดที่สร้างบนแนวถนนหลวง วัดที่สร้างอยู่ใกล้ขอบเขตเมืองทิศตะวันออกและทิศตะวันตก และวัดที่สร้างรอบเมือง (ออกจากเขื่อนธานีหรือกำแพงเมือง ถัดออกไปทางทิศเหนือ) 

ตั้งถิ่นฐาน สร้างเมือง สร้างวัด

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มวัดที่สร้างหลังจากการตั้งถิ่นฐานเมือง ณ บริเวณดงอู่ผึ้งแล้ว จะเป็นวัดที่สร้างริมฝั่งแม่น้ำมูล  ได้แก่ วัดหลวง วัดเหนือท่า วัดกลาง และวัดใต้ท่า แต่ปัจจุบันวัดเหนือท่าและวัดใต้ท่าได้ถูกยุบไปแล้ว

วัดเก่าอุบลราชธานี

  • วัดหลวง คือ วัดแห่งแรกของเมืองอุบลราชธานี ที่สร้างโดย พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนแรก
  • วัดกลาง สร้างโดยราชวงศ์ก่ำ ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง)

ข้อมูลการสร้างวัด ตำแหน่งวัด ชื่อวัด และบริบทของวัด ช่วยอธิบายลักษณะการตั้งเมืองโดยใช้วัดในการระบุพื้นที่ ทำให้เห็นลักษณะวิธีการตั้งถิ่นฐาน พบว่า วัดกลุ่มนี้จะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล อยู่บนที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง และมีเรือน(โฮง) ของชนชั้นเจ้านายตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันและมีความสัมพันธ์กัน ตำแหน่งที่ตั้งวัดยังช่วยอธิบายลักษณะทางธรรมชาติที่กำหนดให้เป็นขอบเขตของเมือง

สร้างวัด ขยายเมือง

กลุ่มที่ 2 วัดกลุ่มนี้จะสร้างบนแนวถนนหลวง ได้แก่ วัดมหาวนาราม วัดมณีวนาราม วัดทุ่งศรีเมือง และวัดสวนสวรรค์(ยุบไปแล้ว) เป็นกลุ่มวัดที่ตั้งอยู่นอกเขตเขื่อนธานีหรือกำแพงเมือง และสร้างในช่วงพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิดพรหม) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 2

วัดเก่าอุบลราชธานีลักษณะการเกิดวัดและความสัมพันธ์ของชื่อวัดต่อบริบท อธิบายให้เห็นภาพของพื้นที่นอกเขตกำแพงเมืองหรือพื้นที่นอกเมืองในเวลานั้นว่า บริเวณที่เป็นวัดมหาวนารามและวัดมณีวนารามเป็นป่า สงบ วิเวก และมีต้นไม้ใหญ่ ส่วนวัดทุ่งศรีเมือง ชื่อวัดแสดงให้เห็นภาพของท้องทุ่งที่น่าจะใช้สำหรับการเกษตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำกว่าบริเวณใกล้เคียง เหมาะแก่การปลูกข้าว

ลักษณะการสร้างวัดบนถนนหลวง ช่วยให้เห็นความสำคัญของถนนเส้นนี้ ที่นอกจากจะเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างเรือน (โฮง) ของเจ้าเมืองไปยังวัดแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับศาสนา การหาสถานที่ที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ภาพของภูมิประเทศจากตำแหน่งที่ตั้งของวัด ภาพการเจริญเติบโตและการขยายเมืองออกมานอกเขตกำแพงเมือง เมื่อมีวัดแล้วชุมชนก็จะตามมา

สร้างวัดเผยแผ่ธรรมยุติกนิกายสู่อีสาน

กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มวัดที่สร้างอยู่ใกล้ขอบเขตทิศตะวันออกและตะวันตกของเมือง ได้แก่ วัดใต้เทิง(วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ) วัดเลียบ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดสุทัศนาราม และวัดศรีอุบลรัตนาราม วัดในกลุ่มนี้เป็นวัดธรรมยุติกนิกาย และวัดสุปัฏนารามวรวิหาร คือ วัดธรรมยุติกนิกายวัดแรกของเมืองอุบลราชธานีและภาคอีสานที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 3  อาราธนาพระเถระท่านพนฺธุโล (ดี) และท่านเทวธมฺมี (ม้าว) ออกไปปฏิบัติธรรมและสร้างวัดขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ธรรมยุติกนิกายในภาคอีสาน

วัดเก่าอุบลราชธานีวัดธรรมยุติกนิกายนี้จะมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดถูกต้องตามพระวินัยปฏิบัติ ตำแหน่งการสร้างวัดเหล่านี้จึงอยู่ในที่สงบ และอยู่บริเวณขอบเมือง เพื่อสร้างขอบเขตให้กับเมืองและเขตพื้นที่ของทุ่งศรีเมือง ส่งเสริมให้พื้นที่ของเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น

สร้างวัดธรรมยุติกนิกายคู่กับมหานิกาย

กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มวัดที่สร้างขึ้นที่บริเวณรอบนอกเมือง หรือวัดที่สร้างนอกเขตเขื่อนธานีหรือกำแพงเมืองถัดไปทางทิศเหนือ ได้แก่ วัดสว่างอารมณ์ วัดไชยมงคล วัดทองนพคุณ วัดปทุมาลัย วัดแจ้ง วัดพลแพน วัดสารพัฒนึก และวัดบูรพาราม สร้างในช่วงสมัยพระพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 4 ซึ่งมีนโยบายในการสร้างวัดคือ “เมื่อผู้ใดดำริจะสร้างวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ก็จะต้องสร้างวัดฝ่ายมหานิกายควบคู่กันไป” เพื่อป้องกันความบาดหมางและการโอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง

วัดที่สร้างคู่กันตามนโยบาย ได้แก่ 

  • วัดไชยมงคล (ธรรมยุติกนิกาย) สร้างคู่กับวัดทองนพคุณและวัดแจ้ง (มหานิกาย) 
  • วัดบูรพาราม (ธรรมยุติกนิกาย) สร้างคู่กับวัดสารพัฒนึก (มหานิกาย) 

วัดเก่าอุบลราชธานีการสร้างวัดกลุ่มนี้แสดงถึงการขยายตัวของเมืองขึ้นไปทางทิศเหนือ หรือตั้งอยู่บนถนนสรรพสิทธิ์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นขอบเขตเมืองอีกชั้นหนึ่ง

การสร้างวัดในเมืองอุบลราชธานีนั้นสัมพันธ์การการตั้งถิ่นฐาน การแสดงขอบเขตเมือง และการขยายตัวเมือง นอกจากนั้น ยังพบเส้นทางการสัญจรที่เกิดจากการเชื่อมต่อระหว่างวัด ทำให้กลายเป็นจุดสังเกต (Landmark) ของเมือง เป็นจุดสร้างการจดจำ ใช้อ้างอิงตำแหน่งและทิศทางในการเดินทางในเมือง

เอกสารอ้างอิง

ลลิดา บุญมี. (2560). ความสัมพันธ์ของวัดกับภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์อุบลราชธานี.ใน การประชุมวิชาการระดับชาติ “โฮมภูมิ ครั้งที่ 3: Wisdom to the Future: ภูมิปัญญาสู่อนาคต”. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 15-16 มิถุนายน 2560. ขอนแก่น: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. หน้า 321-332

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง