วัดหลวง วัดเจ้าเมืองอุบลราชธานี

วัดหลวง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานีที่สร้างโดย พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) หรือญาเฒ่าหลวง เจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่องค์หลวง และพระแก้วไพฑูรย์ หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดจะมีวิหารวัดหลวง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่เลียนแบบมาจากวัหารของวัดเชียงทองที่หลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่งปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว

wat-lhaung
ซุ้มประตูวัดหลวงและรูปหล่อของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง)

ประวัติวัดหลวง อุบลราชธานี

wat_laung
วิหารวัดหลวง สถาปัตยกรรมเลียนแบบวัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว

วัดหลวงเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดอุบลราชธานี ผู้สร้างคือ พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ที่ตั้งติดกับที่พักอาศัยของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ซึ่งชาวเมืองอุบลจะเรียกว่า คุ้มญาหลวงหรือคุ้มโฮงกลาง เหตุที่ชื่อวัดหลวงนั้นเรียกตามชื่อพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ที่เรียกกันว่า “ญาหลวงเฒ่า” ในอดีตนั้นวัดหลวงเป็นสถานที่ประชุมทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาก่อนที่จะมีวัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดถูกสร้างขึ้นปี พ.ศ. 2334 ภายในวัดเสนาสนะที่สร้างล้วนวิจิตรงดงามด้วยศิลปะการแกะสลักปิดทองลงรักประดับกระจกศิลปกรรมแบบหลวงพระบาง ทั้งพระประธาน หอไตร เจดีย์ธาตุ ศาลาการเปรียญ สิมอุโบสถ หอกลอง หอระฆัง กุฎิสงฆ์ หอปราสาทธรรมาสน์  แต่ปัจจุบันถูกรื้อถอนออกหมดแล้วด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พระพุทธรูปสำคัญของวัดหลวง คือ พระสำริดปางห้ามญาติ พระไม้จันทร์ปางห้ามญาติ พระทรงเครื่องกษัตริย์ พระพุทธรูปแบบล้านช้าง พระแก้ว แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปบ้างแล้วเช่นกัน

พระเจ้าใหญ่องค์หลวง วัดหลวง

พระเจ้าใหญ่องค์หลวง เป็นพระประธานที่ประดิษฐานอยู่บนศาลาการเปรียญหรือวิหารพระเจ้าใหญ่องค์หลวงของวัดหลวง พุทธลักษณะปางเรือนแก้ว พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบในซุ้มเรือนแก้ว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้พระธรณี

พระพุทธรูปปางเรือนแก้วนี้ในพุทธตำนานอธิบายความไว้ว่า ในสัปดาห์ที่ 4 หลังตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จจากรัตนจงกรมเจดีย์ไปประทับในเรือนแก้ว (รัตนคฤห) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเทพยดาเนรมิตถวาย เพื่อทรงพิจารณาพุทธธรรม ในกำหนด 7 วัน จนบังเกิดเป็นประภาวลี (รัศมีที่แผ่ออกจากกายสำหรับบุคคลมีบุญญาธิการ หรือพระพุทธรูป) สถานที่ดังกล่าวจึงมีชื่อ “รัตนฆรเจดีย์” พระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปประจำเดือน 7

พระเจ้าใหญ่องค์หลวง
พระเจ้าใหญ่องค์หลวง

พระแก้วไพฑูรย์ วัดหลวง

พระแก้วไพฑูรย์ หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี พุทธลักษณะปางสมาธิ พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนทับกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางลงบนพระหัตถ์ซ้าย เป็นพระแก้วที่สร้างจากหินใสธรรมชาติที่มีอายุหลายร้อยปี ช่างแกะหินใสองค์นี้ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ แต่จากหลักฐานและคำบอกเล่าทราบว่า พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในการปกครองของเจ้านายเมืองอุบลมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ถวายเป็นสมบัติของวัดหลวงคู่กับพระแก้วบุษราคัม เมื่อเจ้านายทางกรุงเทพฯ มาปกครองเมืองอุบลฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้านายพื้นเมืองอุบล เกรงว่าเจ้านายจะบังคับเอาพระแก้วทั้งสองไปเป็นสมบัติส่วนตัวจึงได้นำเอาพระแก้วทั้งสององค์แยกออกจากกันไปซ่อนไว้โดยมิดชิดไม่ยอมแพร่พรายให้ใครรู้

pitoon
พระแก้วไพฑูรย์

ต่อมาเมื่อสร้างวัดศรีทองหรือวัดศรีอุบลรัตนาราม เจ้าอุปฮาดโท บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) จึงได้ไปอัญเชิญพระแก้วทั้งสององค์ออกมาจากที่ซ่อน โดยนำพระแก้วบุษราคัมไปถวายให้แด่พระคุณเทวธัมมี (ม้าว) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศรีทอง และเป็นสัทธิวิหาริกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 มาจากกรุงเทพฯ คงมีความเกรงใจ จึงไม่กล้าที่จะขอเอาพระแก้วบุษราคัม และพระแก้วไพฑูรย์ไปจากเมืองอุบลราชธานี

ส่วนพระแก้วไพฑูรย์นั้น ทายาทของเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี นำไปเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติล้ำค่าของบรรพบุรุษ ต่อมาภายหลังได้นำมาถวายแต่พระครูวิลาสกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดหลวง จึงกลายเป็นสมบัติของวัดหลวง และประดิษฐานไว้ ณ วัดหลวง ตราบมาจนปัจจุบัน จึงนับได้ว่า พระแก้วไพฑูรย์องค์นี้ เป็นสมบัติของวัดหลวงและเจ้าเมืองอุบลราชธานีมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยแท้

พระแก้วไพฑูรย์ เป็นหนึ่งในแก้วอันเป็นรัตนชาติ ลักษณะของเนื้อองค์พระจะสีใสขุ่น หากยกองค์พระแล้วส่องดูใต้ฐานจะมองเห็นคล้ายสายฝนหยดลงมาจากฟ้า อันเป็นนิมิตแห่งความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล

พระแก้ว และพระเจ้าแผ่นดินเย็น ที่ประดิษฐานให้ประชาชนเคารพบูชาบนวิหารพระเจ้าใหญ่องค์หลวง
อุโบสถ วัดหลวง
พระอุโบสถ วัดหลวง
หอระฆัง วัดหลวง
หอระฆัง และหอโปง
วิหารวัดหลวง
วิหารพระเจ้าใหญ่องค์หลวง ด้านหน้าเป็นที่ตั้งรูปหล่อของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง)
view
บรรยากาศภายในวัดหลวงview2

หนังสืออ่านเพิ่มเติม : วัดหลวง พุทธศาสตร์ศึกษาแห่งเมืองอุบลราชธานี : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า


ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดหลวง

ที่ตั้ง วัดหลวง

เลขที่ 95 ถนนพรหมเทพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดหลวง

15.224909, 104.860374

บรรณานุกรม

ขนิษฐา ทุมมากรณ์. ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองอุบล, วันที่ 22 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/picture.

งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2547). วัดหลวง พุทธศาสน์ศึกษาแห่งอุบลราชธานี : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า. อุบลราชธานี: สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ท่องธารธรรม ตามมูนเมืองอุบล แหล่งธรรมะและธรรมชาติ. (2553). อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ประวัติศาสตร์และโบราณคดีอุบลราชธานี. (2531). เอกสารการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดี อุบลราชธานี 26-28 กันยายน 2531 ณ หอประชุมอาคารหอสมุด วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.

มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.

สุริยา โชคสวัสดิ์ และสุพัฒน์ เงาะปก. (2552). วัดหลวง อุบลราชธานี. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง