วัดกลาง

วัดกลาง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่ถูกสร้างคู่กับวัดหลวงเพื่อเป็นอนุสรณ์การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของข้าราชการผู้ปกครองเมืองในสมัยพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เป็นที่ประดิษฐานของพระบทม์ พระพุทธรูปที่ได้ชื่อว่ามีพุทธลักษณะสวยงามของจังหวัดอุบลราชธานี

watklangDSC_0185
ซุ้มประตูวัดกลาง

ประวัติวัดกลาง อุบลราชธานี

วัดกลาง สร้างราวปีเถาะ จ.ศ.1155 หรือปี พ.ศ. 2336 สร้างขึ้นหลังจากการสร้างวัดหลวงแล้ว 3 ปี เหตุที่ชื่อวัดกลาง คือ ตามคติโบราณการตั้งเมืองนั้นจะหาทำเลใกล้แม่น้ำ และจะเรียกทางน้ำไหลเป็นเหนือ เป็นใต้ และเป็นกลางด้วย วัดที่ตั้งทางทิศเหนือมักจะเรียกว่า วัดเหนือท่า วัดเหนือเทิง และวัดที่ตั้งทางทิศใต้ก็จะเรียกว่าวัดท่าใต้ ใต้เทิง วัดกลางนั้นตั้งอยู่กลางเมืองอุบล จึงเรียกว่า วัดกลาง

in-the-temple
ภายในวัดบรรยากาศร่มรื่น มีการจัดทำข้อมูลต้นไม้แต่ละต้นไว้ให้ศึกษาเรียนรู้

มูลเหตุการสร้างวัดกลางนั้น อนุมานว่า เมื่อเจ้าเมืองสร้างวัดแล้วข้าราชการผู้ใหญ่ก็จะสร้างวัเเพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอนุสารณ์คู่บ้านคู่เมืองไว้ด้วย เมื่อพระประทุมราชสุริยวงศ์ได้สร้างวัดหลวงขึ้นเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแล้ว เจ้าราชวงศ์ซึ่งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ได้แก่ ท้าวก่ำ บุตรพระวรราชวงศา ก็มีจุดประสงค์ที่จะทำนุบำรุงสร้างถาวรวัตถุการกุศลเป็นอนุสรณ์ เป็นหลักฐานคู่บ้านขวัญเมืองเช่นเดียวกับเจ้าหลวง จึงได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งอยู่ใกล้กับคุ้มเจ้าราชวงศ์ นั่นคือวัดกลาง

boh
พระอุโบสถของวัดกลางมีรูปแบบสวยงาม เรียบง่าย และกลมกลืนกับธรรมชาติ

เจ้าอาวาสวัดกลาง

เจ้าอาวาสวัดกลางรูปแรก ได้แก่ อาชญาท่านเจ้าหลักธรรมจันทร์ กำเนิดที่บ้านหนองหลัก อำเภอม่วงสามสิบ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิแตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นสมัยเดียวกับอาชญาท่านหอแก้วแห่งวัดหลวง

เจ้าอาวาสรูปที่ 4  ได้แก่ อาชญาท่านกัญญา กำเนิดบ้านชีทวน เป็นพระเถระที่ทรงคุณธรรม เป็นนักโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ที่หาตัวจับยาก มีความรู้เรื่องยาแผนโบราณ

เจ้าอาวาสรูปที่ 9 ได้แก่ พระศรีธรรมโสภณ (ปรีชา พิณทอง) เป็นผู้คงแก่เรียน วุฒิเปรียญ 9 ประโยค มีผลงานด้านวรรณกรรม เรียบเรียงประเพณีโบราณอีสาน ผญาอีสาน เมื่อลาสิกขาบทได้รับยกย่องเป็นดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย

ผลงานปรีชา พิณทอง
ผลงานของพระศรีธรรมโสภณ (ปรีชา พิณทอง) อดีตเจ้าอาวาสวัดกลาง

พระบทม์ พระประธาน วัดกลาง

พระบทม์ เป็นพระประธานในวิหารเก่าแก่ของวัดกลางที่มีมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 78 นิ้ว สูง 108 นิ้ว สร้างด้วยอิฐดินเหนียวผสมเกสรดอกบัวและว่านจำปาศักดิ์ป่นละเอียดคลุกเคล้ากับยางบง น้ำแช่หนังวัวเผา น้ำแช่เปลือกเม็ก น้ำข้าวเจ้าต้ม หินเผาไฟป่นให้ละเอียด น้ำอ้อยเคี่ยวให้เหนียวผสมเป็นเนื้อเดียวกันดีแล้วใช้ฉาบทาให้เป็นผิวขององค์พระบทม์ ด้วยกรรมวิธีแบบโบราณที่เรียกว่า “ปูนน้ำอ้อย”

คำว่า “พระบทม์” มาจากคำว่า ปทุม ปทม บทม์ หมายถึง พระดอกบัว ได้แก่ บัวหลวงมีสีแดงกลิ่นหอม เป็นพระพุทธรูปที่ประสาทพรเกื้อกูลให้เกิดความสำเร็จ ตามแรงแห่งสัจจาอธิษฐานปรารถนา พระบทม์นั้นมีพุทธลักษณะที่งดงาม จึงทำให้เกิดภาษาพูดของคนโบราณเมื่อได้พบเห็นสิ่งที่งดงาม จึงมักจะอุทานเปรียบเทียบว่า “จะแม่นงามปานพระบทม์” หรือ งดงามดังพระบทม์

prabot
พระบทม์ พระประธานในวิหารสุนีย์ตริยางกูรศรี (วิหารพระบทม์)
วิหารตริยางกูรศรี
วิหารสุนีย์ตริยางกูรศรี (วิหารพระบทม์) วัดกลาง
in-boht
ธรรมมาสน์ขาสิงห์ ตู้หนังสือใบลาน และขันกะหย่อง จัดแสดงและเก็บรักษาไว้ในวิหารตริยางกูรศรี วัดกลาง

เพิ่มเติม : “ขันกะย่อง” หัตถกรรมเครื่องจักสานหนึ่งเดียว…ในงานพุทธศิลป์ถิ่นอีสาน…!

bell
หอระฆัง และชมรมผู้สูงอายุ วัดกลาง
dhamma
ธรรมะจากต้นไม้ในวัดกลาง


ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดกลาง

ที่ตั้ง วัดกลาง

เลขที่ 241 ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดกลาง

15.22549, 104.86327

บรรณานุกรม

ท่องธารธรรม ตามมูนเมืองอุบล แหล่งธรรมะและธรรมชาติ. (2553). อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง