วัดมหาวนาราม หรือ วัดป่าใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีฐานะเป็นพระอารามหลวงอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานี
ประวัติวัดมหาวนาราม หรือวัดป่าใหญ่ อุบลราชธานี
วัดมหาวนาราม เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเมืองอุบลราชธานี เดิมชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ ภายหลังเรียกว่า วัดป่าใหญ่ ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2322 และเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดมหาวนาราม ในปี พ.ศ. 2484 จนถึงปัจจุบันนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2514 ในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2521
ตามหลักศิลาจารึกที่ฝังอยู่แท่นข้างหลังองค์พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง ปรากฏว่าสร้างหลังจากสร้างเมืองอุบลแล้ว 41 ปี สร้างโดยพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิศพรหม สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองคนที่ 2 หลังจากสร้างวัดแล้ว 2 ปี พระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา เจ้าอาวาสพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปเป็นองค์ประธานและเป็นองค์แทนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขนานนามว่า พระเจ้าอินทร์แปลง มีความหมายว่า “พระอินทร์จำแลงแปลงกายมา” ชาวอีสานเรียก “พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง” มีความหมายอีกนัยหนึ่งว่า พระอินทร์สร้าง ซึ่งเป็นนามมงคลทั้งสองความหมาย
พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง วัดมหาวนาราม
พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งดงาม มีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก สูงจากเรือนแท่นถึงเปลวพระโมลี 10 ศอก สร้างด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง สร้างเสร็จเมื่อวันเพ็ญเดือนห้า ตรงกับวันอาทิตย์ เดือนเมษายน ช่วงเวลาบ่ายสามโมง ซึ่งปรากฏในศิลาจารึกที่ด้านหน้าองค์พระ ทางวัดจึงกำหนดเอาวันเพ็ญเดือนห้าของทุกปีเป็นวันเฉลิมฉลองพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง ประชาชนทั้งชาวอุบลราชธานี และผู้มาเยือนจะหลั่งไหลกันมากราบนมัสการพระเจ้าใหญ่อินทร์แปงเพื่อขอพรให้ท่านดลบันดาลให้ประสบสุขตลอดไป นอกจากนี้แล้วในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ทางวัดก็ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปสรงน้ำพระเจ้าใหญ่อินทร์แปงเป็นอีกหนึ่งประเพณีประจำปีของชาวอุบลราชธานี
มีตำนานเล่าเกี่ยวกับการสร้างพระเจ้าใหญ่อินทร์แปงว่า มีช่างปั้นเป็นผู้ชายวัยกลางคน เวลาทำงาน ไม่พูดจากับใคร พอตกเย็นก็หายตัวไป พอเช้าก็ปรากฏตัว ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเป็นใครมาจากไหน เมื่องานเสร็จ ก็หายไป โดยไม่ร่ำลา ไม่มีใครรู้ จึงเป็นที่กล่าวขานกันว่า พระอินทร์เป็นผู้ลงมาสร้างบารมี จึงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก และมีเรื่องเล่าขานมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการดื่มน้ำสาบานต่อหน้าพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง คนทำผิดมีอันเป็นไปทุกราย ไม่เกิน 3 วัน บางรายยังไม่ก้าวพ้นวิหาร ก็ชักดิ้นชักงอภายในวิหาร มีพระเสี่ยงทายซึ่งศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นแหล่งสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี
คาถาบูชาพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง
ตั้งนะโม 3 จบ
อิเมหิ นานาสักกาเรหิ อภิปูชิเตหิ ทีฆายุโก โหมิ อโรโค สุขิโต สิทธิกัจจัง สิทธิกัมมัง ปิยัง มะมะ ประสิทธิลาโภ ชโย โหตุ สัพพะทา อินทะพุทธะรูปัง อภิปาเลตุ มัง นะโมพุทธายะ ศรีสวัสดีเจริญสุข สารพัดทุกข์ให้เหือดหาย ลาโภอย่าขาดสาย นิรันตะรัง ประสิทธิเม พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ กายวาจาจิตประสิทธิเม
ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดมหาวนาราม
ที่ตั้ง วัดมหาวนาราม
ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดมหาวนาราม
15.23492, 104.863674
บรรณานุกรม
มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลการท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี, 18 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubontravel.
มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple.
ยรรยง สินธุ์งาม. วัดป่าใหญ่ พระเจ้าใหญ่อินแปง พระคู่บ้านคู่เมือง อุบลราชธานี, 29 มกราคม 2558. http://www.vcharkarn.com/vblog/114335
วัดมหาวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี. (2530). อุบลราชธานี: อุบลกิจการพิมพ์.
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.