วัดมณีวนาราม

วัดมณีวนาราม หรือ วัดป่าน้อย จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของเมืองอุบลราชธานีในอดีต เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วโกเมน หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีกุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือกุฏิแดง ซึ่งเป็นอาคารเรือนไม้งานสถาปัตยกรรมไทย โบราณสถานที่ทางวัดได้อนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้

ซุ้มประตูวัดมณีวนาราม
ซุ้มประตูวัดมณีวนาราม

ประวัติวัดมณีวนาราม หรือวัดป่าน้อย อุบลราชธานี

วัดมณีวนาราม หรือวัดป่าน้อย สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2332 ผู้สร้างคือ อุปฮาดก่ำ โอรสของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) มีพระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก วัดป่าน้อยเป็นศูนย์การศึกษา ศูนย์การปกครอง มีเจ้าอาวาสองค์สำคัญ ได้แก่

  • พระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคันถธุระ และศิลปหัตถกรรม ได้สร้างหอไตร และพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง เรียก หอพระพุทธบาท ที่วัดทุ่งศรีเมือง
  • ท่านจันทรังสี (จันลา) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคันถธุระและศิลปหัตถกรรม
  • ท่านสุวณฺโณ (ดำ) เชี่ยวชาญด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ
  • ท่านธรรมบาล (ผุย) เชี่ยวชาญด้านคันถธุระ ปฏิบัติเคร่งในธรรวินัย มีไหวพริบเฉียบแหลมในการแปลปริยัติ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ เคยอาราธนาไปรับบิณฑบาตที่วัง ตรัสถามปริศนาธรรมจึงได้ทรงทราบว่าเป็นผู้ความรู้ลึกซึ้งพุทธธรรมวินัย จนเปล่งวาจาว่า “เมืองอุบลมีแก้ววิเศษ” เมื่อท่านมรณภาพจึงได้อัญเชิญศพขึ้นนกหัสดีลิงค์เป็นการยกย่องตามธรรมเนียมโบราณเช่นเดียวกับท่านอริยวงศาจารย์ (สุ้ย)
  • พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธัมมทีโป) เชี่ยวชาญด้านคันธธุระและแพทย์แผนโบราณ
  • ปัจจุบันมีพระราชธีราจารย์ เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี
รูปปั้นพระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย)
รูปปั้นพระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) ในหอพระแก้ว วัดมณีวนาราม
พระราชธีราจารย์
พระราชธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดมณีวนารามและเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (ภาพจาก www.guideubon.com)

พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม

พระแก้วโกเมน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูงประมาณ 5 นิ้ว สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับพระแก้วบุษราคัม ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม เป็นพระพุทธรูปอัญมณีในตระกูลนพรัตนชาติ

พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม วัดป่าน้อย
พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม

เมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ ผู้รักษาการบ้านเมืองและทายกทายิกา ได้พากันนำพระแก้วโกเมนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมณีวนาราม ซึ่งเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดเก็บรักษาไว้เป็นความลับต่อกันมา โดยทำผอบไม้จันทน์ครอบพระแก้วนั้นไว้ ภาษาอีสานเรียกว่า “งุม” วัดซึ่งเป็นที่เก็บรักษาพระแก้วโกเมนในครั้งนั้น จึงถูกเรียกว่า “วัดกุดละงุม” และใช้ชื่อนี้เป็นชื่อวัดมาจนปัจจุบัน พระแก้วโกเมนนั้นเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ เรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตของจังหวัดอุบลราชธานี

พระแก้วโกเมนเป็นพระพุทธรูปอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ของวัดมณีวนาราม ทั้งนี้เนื่องด้วย พระแก้วโกเมนเป็นพระพุทธรูปที่มีค่าหาได้ยากยิ่งเกรงจะสูญหาย ด้วยความห่วงใยและหวงวแหน เจ้าอาวาสของวัดมณีวนารามทุกรูปจึงเก็บรักษาพระแก้วโกเมนไว้อย่างดีในตู้นิรภัย ครั้งเมื่อหมดช่วงเวลาปกครองวัดของหลวงปู่พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหับผโล) คณะกรรมการวัดมณีวนาราม จึงขออนุญาตนำพระแก้วโกเมน ลงมาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา และสรงน้ำในเทศกาลวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว และได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ภายหลังในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ได้อัญเชิญลงมาเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำด้วยเช่นกัน เป็นหนึ่งในประเพณีสงกรานต์ของชาวอุบลราชธานี

พระแก้วโกเมน
พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม

กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือกุฏิแดง วัดมณีวนาราม

กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือกุฏิแดง ตั้งอยู่ด้านหลังของวัดมณีวนาราม เดิมเคยเป็นที่จำพรรษาของท่านเจ้าพระคุณอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลคณาภิบาลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) เจ้าคณะสงฆ์เมืองอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2371 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือกุฏิแดง
กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือกุฏิแดง วัดมณีวนาราม

กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือ กุฏิแดง เป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมไทย เป็นอาคารสร้างด้วยไม้ชั้นเดียว ตั้งเสา ยกพื้นสูง ตีฝาผนังแบบเรือนไทยฝาปะกน ในเทคนิคการเข้าเดือยไม้แบบโบราณ หลังคาแต่เดิมมุงด้วยไม้แป้นเกล็ดและเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องมุงในภายหลัง ภายในแบ่งเป็น 4 ห้อง มีห้องโถงใหญ่ 2 ห้อง ห้องเล็กด้านข้างอีก 2 ห้อง ประดับลูกกรงไม้ขนาดเล็กที่ขอบหน้าต่างและระเบียงด้านหน้า หน้าต่างระหว่างห้องด้านทิศเหนือมีการเขียนรูปเทวดาประดับไว้ทั้งสองบาน และลายพันธุ์พฤกษาอีก 2 บาน

ในปี พ.ศ.​2556 วัดมณีวนาราม ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และกรมศิลปากรได้ร่วมกันบูรณะโบราณสถานแห่งนี้ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดอุบลราชธานีสืบไป

เจดีย์ปูชนียาจารย์ วัดมณีวนาราม

เจดีย์ปูชนียาจารย์ ตั้งอยู่ด้านหน้าของหอพระแก้วโกเมน เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุท่านบูรพาจารย์และอดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม ซึ่งประกอบด้วย

  1. พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลคณาภิบาลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดมณีวนาราม
  2. ท่านจันลา จะนฺทรํสี
  3. ญาท่านคำ สุวณฺโณ
  4. ญาท่านผุย ธมฺมปาโล
  5. พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป)
  6. พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหปฺผลเถร นิลดำอ่อน) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม และรองเจ้าคณะภาค 10
  7. พระครูศรีพิริยกิจ ทองลส เตชปัญโญ (ส่งเสริม) ป.ธ. 6 อดีตรองเจ้าคณะอำเภอเมือง และรองเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม
  8. พระครูอาทรกิจโกศล (ทอนกนฺตสีละเถระจันทป) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม และเจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี
  9. พระกิตติญาณโสภณ (แสง นาคเสโน ป.ธ. 7) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนารามและอดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี
เจดีย์ปูชนียจารย์วัดมณีวนาราม
เจดีย์ปูชนียจารย์วัดมณีวนาราม
พระอุโบสถวัดมณีวนาราม
ศิลปะแบบไทย กรอบหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักเรื่องราวในพุทธประวัติ
หอพระแก้วโกเมน
หอพระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม
ศาลาการเปรียญ วัดมณีวนาราม
ศาลาการเปรียญ สร้างด้วยไม้และก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ
หอระฆังและโปง
หอระฆังและโปง วัดมณีวนาราม
กุฏิอนุสรณ์พระพรหมกวี (วรวิทย์)
กุฏิอนุสรณ์พระพรหมกวี (วรวิทย์) วัดมณีวนาราม
ฌาปนสถาน
ฌาปนสถาน วัดมณีวนาราม
โรงเรียนอุบลวิทยากร
โรงเรียนอุบลวิทยากรเป็นโรงเรียนราษฎร์ของวัดมณีวนารามที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2499 ประเภทโรงเรียนมัธยมวิสามัญ สอนวิชาสามัญของกระทรวงศึกษาธิการ จัดชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 โดยเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมณีวนารามและเจ้าสำนักเรียนบาลีวิจิตรสังฆานุกูล คือ พระเมธีรัตโนบล (ในอดีต) ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานี จัดตั้ง โดยอาศัยอาคารเรียนโรงเรียนบาลีวิจิตรสังฆานุกูล ซึ่งเปิดสอนนักธรรมและบาลีแก่พระภิกษุสามเณรอยู่ก่อนแล้วเป็นสถานที่เรียน


ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดมณีวนาราม

ที่ตั้งวัดมณีวนาราม

ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดมณีวนาราม

15.231682, 104.861711

บรรณานุกรม

ท่องธารธรรม ตามมูนเมืองอุบล แหล่งธรรมะและธรรมชาติ. (2553). อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.

มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง