วัดทุ่งศรีเมือง

วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในอดีตเป็นวัดที่สอนวิชาการช่างต่าง ๆ ให้แก่ชาวเมืองอุบลราชธานีโดยมีญาท่านพระครูดีโลด บุญรอด (พระครูวิโรจน์รัตโนบล) เป็นผู้นำการสอน  ภายในวัดมีศาสนาคารที่สำคัญ ได้แก่ หอไตรกลางน้ำ หอเก็บคัมภีร์ใบลานและพระไตรปิฎกที่เป็นงานสถาปัตยกรรมร่วมระหว่างไทย พม่า และลาว หอพระพุทธบาทที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองและพระเจ้าใหญ่องค์เงิน เป็นงานสถาปัตยกรรมผสมระหว่างพื้นถิ่นอีสานและแบบไทยภาคกลาง ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่ทรงคุณค่าโดยฝีมือช่างพื้นเมืองอุบลที่ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวงกรุงเทพฯ วิหารศรีเมือง และพระเจ้าใหญ่ศรีเมือง

ซุ้มประตู วัดทุ่งศรีเมือง
ซุ้มประตู วัดทุ่งศรีเมือง

ประวัติวัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี

วัดทุ่งศรีเมือง สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2385 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าคุณอริยวงศาจารย์ญานวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) จากสำนักวัดสระเกศวรวิหาร ที่ได้ขึ้นมาเป็นสังฆปโมกเมืองอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด) และได้พำนักอยู่ที่วัดมณีวนารามหรือวัดป่าน้อย ท่านมีอัธยาศัยน้อมไปทางวิปัสสนากรรมมัฎฐาน และมักจะไปเจริญสมณธรรม อยู่ที่ป่าหว้าชายดงอู่ผึ้งเป็นประจำ เพราะเป็นที่สงบสงัด และที่นั่นคือ บริเวณวัดทุ่งศรีเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อที่ 19 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา

เจ้าคุณอริยวงศาจารย์ญานวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) ท่านได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้น ณ บริเวณที่เจริญสมณธรรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะจำลองพระพุทธบาทจำลอง จากวัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ มาให้พุทธบริษัทที่อุบลราชธานีได้กราบไหว้ จึงให้ครูช่างชาวเวียงจันทน์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

เมื่อสร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว ก็ได้สั่งให้ช่างสร้างหอไตรที่สระกลางน้ำด้วย โดยมีจุดประสงค์ ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก หรือ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ ที่ทางวัดมีอยู่มากมาย

ภายหลังเห็นว่าเป็นการลำบากแก่พระเณรในการที่จะไปเฝ้ารักษาสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จึงได้สร้างสร้างกุฏิขึ้นเป็นพำนักของพระภิกษุสามเณร และด้วยวัดนี้ตั้งอยู่ชายทุ่งท่ามกลางเมืองอุบลราชธานี จึงได้ชื่อว่า “ทุ่งศรีเมือง” ตามไปด้วย

วัดทุ่งศรีเมืองในสมัยก่อนเป็นวัดที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการช่างต่าง ๆ ให้แก่บุตรหลานชาวเมืองอุบลราชธานีทุกสาขาอาชีพ เช่น ช่างแกะสลัก ช่างหล่อ ช่างเงินทอง ช่างลวดลาย ช่างก่อสร้าง เป็นต้น โดยมีพระครูดีโลด บุญรอด (พระครูวิโรจน์รัตโนบล) เป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชา

พระครูวิโรจน์รัตโนบล
พระครูวิโรจน์รัตโนบล (พระครูดีโลด บุญรอด) และเจดีย์อัฐิธาตุของท่านที่ตั้งอยู่ด้านหลังหอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง

หอไตร หรือ หอพระไตรปิฎก วัดทุ่งศรีเมือง

หอไตร หรือ หอพระไตรปิฎกของวัดทุ่งศรีเมือง เป็นหอไตรที่สร้างด้วยไม้ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกและหนังสือใบลานไม่ให้มดปลวกหรือแมลงต่าง ๆ มากัดกินและทำลาย หอไตรนี้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด และหอพระพุทธบาทหรืออุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง โดยมีพระสงฆ์ชาวเวียงจันทน์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง มีลักษณะของศิลปะผสม 3 สกุลช่าง คือ ไทย พม่า และลาว

หอไตรกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง
หอไตรกลางน้ำวัดทุ่งศรีเมือง ศิลปะผสมระหว่างไทย ลาว และพม่า

หอไตรนี้เป็นหอน้ำ สร้างอยู่กลางสระน้ำ เป็นอาคารไม้ขนาดกว้าง 8.20 เมตร ยาว 9.85 เมตร สูงจากระดับพื้นน้ำถึงยอดหลังคาประมาณ 10 เมตร รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกพื้นสูงใต้ถุนโปร่ง

ตัวอาคารหอไตรเป็นเรือนฝาไม้แบบเรียบเครื่องสับฝาแบบประกนอย่างเรือนไทยภาคกลาง ขนาด  4 ห้อง ลูกฟักรองตีนช้างแกะสลักลาย ประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก มีหน้าต่างโดยรอบ 14 ช่อง หลังคาทรงจั่วมีปั้นกรอบปีกนกกว้าง 2 ชั้น ส่วนบนเป็นหลังคาทรงแบบโบสถ์ไทยมีชั้นลด 2 ชั้น ช่อฟ้า รวยลำยอง ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์แบบภาคกลาง หน้าบันไม้จำลักลายแบบไทย (ลายดอก) ดอกพุดตาน ลายกระจังรวน ลายประจำยามก้ามปู มุงแป้นไม้ มีทวยสลักด้วยไม้ค้ำยันชายคาปีกนกโดยรอบจำนวน 19 ตัว ด้านหน้าข้างประตูเข้าสลักหัวทวยแบบเทพพนม อีก 17 ตัวเป็นรูปพญานาค พญานาคซึ่งสวยงามตามแบบฉบับของสกุลช่างสมัยนั้น กรอบประตูหน้าต่างสลักลวดลาย ผนังและบานประตูหน้าต่างเขียนลายลงรักปิดทองโดยรอบ บานประตูเขียนรูปทวารบาล ภายในทำเป็นห้องสำหรับเก็บพระไตรปิฎกและใบลาน

ศิลปกรรมหอไตรกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง
งานศิลปกรรมรูปแบบต่าง ๆ ของหอไตรกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง

ส่วนของหลังคามีศิลปะไทยผสมพม่า มีช่อฟ้า ใบระกา หลังคาซ้อนกันหลายชั้น แสดงถึงอิทธิพลของศิลปกรรมพม่าที่ส่งผ่านมาทางศิลปะลาวล้านช้าง ลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้งสองด้านเป็นศิลปะลาวที่มีฝีมือช่างหลวงจากเวียงจันทน์

หอไตรนี้ได้รับรางวัลผลงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เรียนรู้เพิ่มเติม…หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง โดย สุรชัย ศรีใส และอำนวย วรพงศธร 

หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง

หอพระพุทธบาท หรือพระอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง มูลเหตุในการสร้างอุโบสถหลังนี้ คือ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) ได้จำลองพระพุทธบาทมาจากวัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

รอยพระพุทธบาทจำลอง วัดทุ่งศรีเมือง
รอยพระพุทธบาทจำลอง ในหอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง

หอพระพุทธบาทของวัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหอไตรกลางน้ำ โดยมีพระสงฆ์จากเวียงจันทน์เป็นช่างในการดำเนินการก่อสร้าง มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะผสมระหว่างพื้นบ้านอีสาน (หรือศิลปะแบบเวียงจันทน์) กับเมืองหลวง(ศิลปะแบบไทยภาคกลาง, แบบรัตนโกสินทร์) ส่วนที่เป็นศิลปะแบบเวียงจันทน์ ได้แก่ โครงสร้างช่วงล่าง เช่น ฐานเอวขันธ์ บันไดจระเข้ และเฉลียงด้านหน้า จะมีความคล้ายคลึงกับสิมอีสานทั่วไป ลวดลายหน้าบันลายรวงผึ้ง  ส่วนที่เป็นโครงสร้างช่วงบน หลังคาทรงจั่วมีชั้นลด 2 ชั้น รวยลำยองมีช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ทวยและซุ้มประตูหน้าต่างเป็นแบบไทยภาคกลางหรือรัตนโกสินทร์ ส่วนลวดลายหน้าบันสาหร่าย รวงผึ้งมีลักษณะแบบอีสานผสมเมืองหลวงเหมือนหน้าบันของสิมวัดแจ้ง

หอพระพุทธบาทหลังนี้ ้เป็นอุโบสถที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทุกด้าน เป็นงานจิตรกรรมที่มีคุณค่ามากแห่งหนึ่งของเมืองอุบลราชธานี ไม่มีผู้ใดทราบว่าใครเป็นช่างเขียนภาพเหล่านี้ แต่คาดว่าจะเป็นสกุลช่างพื้นเมืองอุบลที่ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวงกรุงเทพฯ

หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง
หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง

hor-pra-bat

หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง
สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมผสมระหว่างเมืองหลวงกับท้องถิ่น มีปรากฏให้เห็นที่หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง

ภาพจิตรกรรมในหอพระพุทธบาทของวัดทุ่งศรีเมือง ปรากฏอยู่บนฝาผนังภายในทั้งสี่ของตัวอาคาร เหนือสุดขอบผนังเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมนั่งประนมมือหันหน้าเข้าหาพระประธาน ถัดลงมาเป็นลายหน้ากระดานมีลวดลายประจำยามรองรับเหล่าเทพชุมนุม จากนั้นจะเป็นอาณาบริเวณของงานจิตกรรมไล่ลงไปจนจรดฐานหน้าต่าง และรองรับด้วยลายหน้ากระดานซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับกรอบภาพทั้งบนและล่างสุด ช่างแต้มมีความจงใจจะใช้ผนังทั้งสี่ด้านประดับประดาด้วยงานจิตกรรมเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พุทธศาสนา แม้แต่เสาหลอกก็ยังมีการตกแต่งลวดลายและภาพปริศนาธรรม ตามประวัติกล่าวว่าภาพเขียนบริเวณเสาหลอกนี้เป็นฝีมือพระครูวิโรจน์รัตโนบล เมื่อครั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดทุ่งศรีเมือง
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฎอยู่บนผนังทั้ง 4 ด้านภายในหอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง

งานจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติและทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องพระเวสสันดรชาดก แต่ตำแหน่งการวางภาพมิได้เคร่งอย่างงานจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีนิยม นอกจากนั้น ช่างแต้มยังได้สอดแทรกเนื้อหาเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวบ้านเข้าไปด้วย เช่น ภาพสะท้อนถึงสภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในรั้วในวัง ตลอดจนผู้คนที่มีบ้านอยู่ตามริมน้ำ ภาพอาคารสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

เรียนรู้เพิ่มเติม จิตรกรรมฝาผนัง หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง โดย โดย สุรชัย ศรีใส

บันไดจระเข้ วัดทุ่งศรีเมือง
บันไดจระเข้ ศิลปะแบบเวียงจันทร์ ทางขึ้นหอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง

วิหารศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมือง

วิหารศรีเมือง ของวัดทุ่งศรีเมือง เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ผสมกับช่างพื้นบ้าน ผู้ออกแบบได้สร้างวิหารหลังนี้ในรูปลอยเหินตามจินตนาการของตนเอง โดยการยกอาคารให้สูงกว่าปกติ เน้นการเชิดของมุขหน้าขึ้นแล้วเสริมด้วยการยกลานรอบกำแพงแก้วให้สูงขึ้นจากพื้นลานวัดธรรมดา และเน้นถ้อยความอย่างมั่นคงโดยเสากำแพงแก้วแบบปลีพุ่มย่อไม้ ตามมุมกำแพงกับหัวบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน

วิหารศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมือง
วิหารศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมือง

พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมือง

พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง เป็นพระประธานที่ประดิษฐานในวิหารศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งสร้างเมืองอุบลระยะแรก ๆ  เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดเหนือท่า เมื่อวัดร้างไปพระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองในสมัยนั้น จึงนำญาติโยมไปอัญเชิญมาเป็นพระประธานในวิหารศรีเมือง และได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเศียรพระที่ชำรุดขึ้นใหม่โดยจำลองให้เหมือนกับพระเหลาเทพนิมิตที่อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ และพระบทม์ที่วัดกลางเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยช่างฝีมือชาวอุบลรุ่นแรก ซึ่งมีความงดงามมาก

พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมือง
พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมือง

พระเจ้าใหญ่องค์เงิน วัดทุ่งศรีเมือง

พระเจ้าใหญ่องค์เงิน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในหอพระพุทธบาทของวัดทุ่งศรีเมือง มีพระพุทธลักษณะ คือ พระพักตร์รูปไข่ เม็ดพระศกเล็กละเอียดแบบหนามขนุน มุ่นพระเมาลีเป็นต่อมเตี้ย ๆ พระเกตุมาลาหรือส่วนรัศมีเป็นรูปเปลว มีแฉกยอดกลางสูงเด่น ส่วนล่างที่ติดกับมุ่นพระเมาลีเป็นกลีบบัวซ้อนดุจดอกบัวรองรับพระรัศมี ระหว่างพระนลาฏกับแนวเม็กพระศกมีแถบไรพระศกเป็นเส้นนูน ยาวทอดลงมาตามแนวพระกรรณทั้งสองข้างคล้ายจอนหู ตัวพระกรรณใหญ่ ขอบใบพระกรรณเป็นเส้นนูนแบน มีปลายด้านบนด้านล่างม้วนโค้ง ติ่งพระกรรณเป็นแผ่นกว้างขนาดเดียวกับตัวพระกรรณ ยาวลงมาเป็นแผ่นแบน ปลายมนอยู่เหนือพระอังสะ

ส่วนพระพักตร์มีพระขนงเป็นเส้นนูนโก่งดุจคันศร หัวพระขนงและหางเรียวแหลม พระนาสิกเป็นสัน ปลายพระนาสิกกว้างคล้ายรูปสามเหลี่ยม พระโอษฐ์แย้มพระสรวล มุมพระโอษฐ์เรียวแหลม พระหนุแหลมมน พระศอกกลมกลึง ลักษณะเป็นปล้องต่อกัน 3 ปล้อง ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาซ้าย ขอบจีวรเป็นแนวเส้นตรงจากใต้พระถันไปจรดแนวขอบผ้าสังฆาฏิที่พาดบนพระอังสา ซ้าย และปรากฏเส้นขอบจีวรที่ข้อพระหัตถ์ซ้าย ที่ต้นพระเพลา และที่ข้อพระบาท เป็นเส้นนูนทั้งสองข้าง ชายสังฆาฏิเป็นแนวกว้าง ปลายสังฆาฏิจรดที่พระนาภี ขอบปลายสังฆาฏิโค้งมนอยู่เหนือพระนาภี พระเพลาผาย พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำอยู่บนพระเพลาขวาตรงแนวขาพับ แสดงการชี้ลงเบื้องธรณี นิ้วพระหัตถ์ใหญ่ และนิ้วทั้งสี่อวบชิดยาวเสมอกัน ปลายนิ้วมนแบบคนธรรมดา คล้ายพระหัตถ์พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระเจ้าใหญ่องค์เงิน วัดทุ่งศรีเมือง
พระเจ้าใหญ่องค์เงิน ในหอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง

พระเจ้าใหญ่องค์เงิน ตั้งอยู่บนฐานเขียงซึ่งฝังอยู่ในฐานชุกชีปูนปั้นที่ตกแต่งเป็นฐาน บัวผ้าทิพย์ ฐานหน้ากระดานตกแต่งด้วยลายดอกประจำยามก้ามปู อยู่เหนือแนวลายกลีบบัวขาบหรือบัวแวง ตรงกลางฐานด้านหน้าพระเพลามีผืนผ้าพาดยาวลงมา และตกแต่งลวดลายอย่างสวยงามตามแบบศิลปะท้องถิ่นไม่ปรากฏการสร้างที่แน่นอน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างภายหลังการสร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว และถูกนำมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในหอพระพุทธบาท คู่กับรอยพระพุทธบาทจำลอง

หอระฆัง วัดทุ่งศรีเมือง
หอระฆัง วัดทุ่งศรีเมือง


ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดทุ่งศรีเมือง

ที่ตั้ง วัดทุ่งศรีเมือง

ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดทุ่งศรีเมือง

15.229973, 104.861067

บรรณานุกรม

ปิยะฉัตร ปีตะวรรณ และสุภัต รักเปี่ยม. (2541). สถาปัตยกรรมอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี.

มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.

มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple.

วิโรฒ ศรีสุโร. (2536). สิมอีสาน. กรุงเทพฯ: เมฆาเพรส.

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.

สุรชัย ศรีใส และอำนวย วรพงศธร. (2554). หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง. อุบลราชธานี: ยงสวัสดิ์อินเตอร์กรุ๊ป.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง