วัดเลียบ

วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่สร้างเลียบคูคันเมือง เป็นหนึ่งในห้าวัดที่สังกัดนิกายธรรมยุติของจังหวัดอุบลราชธานี อดีตนั้นเคยเป็นสำนักสงฆ์สายวิปัสสนา เคยถูกปล่อยให้เป็นวัดร้างจนพระครูวิเวกพุทธกิจ(หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ได้มาบุกเบิกบูรณะวัดขึ้นใหม่ ทำให้วัดเลียบเป็นแหล่งประสิทธิประสาทวิชาความรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่ง เป็นต้นธารแห่งการปฏิบัติธรรมสายวิปัสนากรรมฐาน โดยมีพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) เป็นเจ้าอาวาสและเป็นพระอาจารย์ มีลูกศิษย์สำคัญ ได้แก่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิยเถร) พระเทพสุทธาจารย์ (คุณสัมปันโนโชติ) พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ภายในวัดมีพระพุทธจอมเมือง ที่ปั้นโดยพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) และเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

ซุ้มประตูวัดเลียบ อุบลราชธานี
ซุ้มประตูวัดเลียบ อุบลราชธานี

ประวัติวัดเลียบ อุบลราชธานี

วัดเลียบ เป็น 1 ใน 5 ของวัดธรรมยุตินิกาย เป็นสถานศึกษา และเป็นแหล่งประสิทธิประสาทวิชาความรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะยุคต้นของการสร้างวัดเลียบที่มีพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) เป็นเจ้าอาวาสและเป็นผู้ฝึกอบรมการปฏิบัติธรรมในสายวิปัสสนากรรมฐาน ต่อมายังมีลูกศิษย์ที่มาอบรมศึกษากับพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) อีกจำนวนมากและได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ในเวลาต่อมา เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิยเถร) พระเทพสุทธาจารย์ (คุณสัมปันโนโชติ) พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ฯลฯ

รูปปั้นหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และพระธรรมธรมาโนช โชติโก
รูปปั้นหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และพระธรรมธรมาโนช โชติโก อดีตเจ้าอาวาสวัดเลียบ

วัดเลียบเดิมเป็นสำนักสงฆ์สายวิปัสสนา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2391 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่มาของชื่อวัดนั้นสันนิษฐานไว้ว่า น่าจะเป็นการสร้างวัดเลียบคันคูเมือง บางท่านสันนิษฐานว่า น่าจะมาจาก กิริยาอาการเดินริมขอบของพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) สำนักสงฆ์แห่งนี้ตั้งขึ้นมาได้ 44 ปี มีเจ้าอาวาส 10 รูป จนถึงยุคท่านพระอาจารย์ทิพย์เสนา ทิพฺพเสน (แท่นทิพย์) เมื่อท่านมรณภาพลงก็ไม่มีพระสงฆ์รูปใดครองสำนักสงฆ์แห่งนี้ต่อ เป็นเหตุให้ต้องร้างไปเป็นเวลาเกือบปี

ต่อมาพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ได้มาบุกเบิกสร้างวัดเลียบขึ้นอีกครั้งเป็นวัดในสังกัดธรรมยุตินิกายและมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. 2435 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีญาติโยม ทายกทายิกาและผู้ศรัทธาช่วยกันปฏิสังขรณ์วัดและขยายพื้นที่ออกไปและขอพระราชทานวิสุงคามสีมา

ปี พ.ศ. 2434 พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ได้ทำการปั้น “พระพุทธจอมเมือง” ขึ้น พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 1.99 เมตร สูง 2.99 เมตร ประดิษฐานเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ (หอแจก)

พระอุโบสถ วัดเลียบ
พระอุโบสถหลังใหม่ขจองวัดเลียบ ที่ประดิษฐานพระพุทธจอมเมือง พระประธาน

ปี พ.ศ. 2435 ได้ทำการก่อสร้างอุโบสถ (สิมไม้) ซึ่งเป็นอุโบสถไม้ หลังคามุงสังกะสี มีเฉลียงโดยรอบ

ปี พ.ศ. 2436-2437 ได้ทำการแกะสลักพระพุทธรูป เป็นพระพุทธรูปไม้ปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์อิทธิพลลาว ประดิษฐานเป็นพระประธานในสิมไม้ และในช่วงเวลาเดียวกันก็ได้แกะสลักพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ศิลปะรัตนโกสินทร์อิทธิพลลาวด้วยอีกองค์หนึ่ง

วัดเลียบได้รับการพัฒนา โดยการนำของเจ้าอาวาสรูปต่อ ๆ มาโดยลำดับ จนกระทั่งปี 2506 สิมไม้ที่พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล)ได้สร้างไว้ชำรุดทรุดโทรมมากจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ พระโพธิญาณมุนี (สุธีร์ ภัททิโย) เจ้าอาวาสในขณะนั้นจึงได้รื้อถอนลง และสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นทดแทน ด้วยทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้าง และเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธจอมเมืองที่พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ได้ทำการปั้นไว้

พระพุทธจอมเมือง พระประธานในพระอุโบสถ วัดเลียบ
พระพุทธจอมเมือง พระประธานในพระอุโบสถ วัดเลียบ

วัดเลียบได้มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาสืบต่อกันมา เป็นวัดฝ่ายธรรมยุติที่สืบทอดเจตนารมณ์ของพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) สืบต่อกันมาจนตราบปัจจุบัน

เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานและรูปเหมือนพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล) และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดเลียบ อุบลราชธานี

พระวีระชัย อริญฺชโย หรือ พระครูอุบลคณาภรณ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเลียบ สืบต่อจากอดีตเจ้าอาวาสรูปก่อนที่มรณภาพ เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2542 ในขณะที่ท่านอายุได้ 25 ปี พรรษา 5 นับตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้วพระครูอุบลคณาภรณ์ได้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) และ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จากคำบอกเล่าที่ได้รับฟังจากเจ้าอาวาสรูปก่อน ๆ และหนังสือที่บันทึกถึงวัตรปฏิบัติปฏิปทาของหลวงปู่ทั้งสอง และหลวงปู่ทั้งสองต่างก็มีประวัติเกี่ยวพันกับวัดเลียบ จึงทำให้เจ้าอาวาสหนุ่มมีความคิดที่จะสร้างเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานและรูปเหมือนถวายองค์หลวงปู่ทั้งสอง ให้เป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด เพื่อให้ญาติโยมที่เข้ามาในวัดเลียบได้รำลึกถึงธรรมะของพระพุทธองค์ที่ท่านได้น้อมนำมาสั่งสอน เจดีย์ทั้งสองชื่อว่า เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) และเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) และเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ
เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) และเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ สร้างขึ้นเคียงคู่กัน

การสร้างเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานและรูปเหมือนพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) วัดเลียบ

การก่อสร้างรูปเหมือนพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ในระยะแรกนั้น พระครูอุบลคณาภรณ์ได้ปรึกษาหารือกับญาติโยมจนมีมติร่วมกันว่า จะสร้างรูปเหมือนท่านในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกสร้างวัดเลียบขึ้นมา เพื่อให้ลูกหลานได้กราบไหว้บูชา และศึกษาเรียนรู้ประวัติของท่าน ตลอดจนนำเอาวัตรปฏิบัติที่ดีงามมาใช้ในการดำรงชีวิต

ญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อใช้ในการก่อสร้างจำนวนกว่า 80,000 บาท ลักษณะเป็นองค์ทองเหลือง เมื่อสร้างเสร็จก็นำไปประดิษฐานไว้ในอุโบสถร่วมกับอัฐิธาตุของท่าน ต่อมามีผู้ศรัทธาได้สร้างรูปเคารพพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) องค์ใหม่ขึ้น เป็นหุ่นขี้ผึ้ง รูปหล่อพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ที่เป็นองค์ทองเหลืองได้ถูกนำไปถวายให้กับวัดบ้านข่าโคม ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของหลวงปู่ เมื่อเวลาผ่านไปรูปหุ่นขี้ผึ้งพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ที่สร้างถวายก็ชำรุด จนต้องนำไปซ่อมแซมซึ่งก็พอดีกับที่มีผู้มีจิตศรัทธาได้สร้างหุ่นขี้ผึ้งพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) องค์ใหม่มาถวาย จึงได้นำหุ่นขี้ผึ้งนั้นมาประดิษฐานในเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นใหม่แทนชั่วคราว

ความคิด ความตั้งใจ สัจจอธิษฐานที่จะสร้างเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานของพระครูอุบลคณาภรณ์ เป็นจริงขึ้นมาได้ เมื่อคุณไพศาล คุนผลิน ตกลงเป็นเจ้าภาพทอดกฐินเพื่อหาทุนทรัพย์สร้าง และทุกอย่างก็ดำเนินไปได้ด้วยดี จนวันที่ 2 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของหพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) จึงได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ และทอดกฐิน ดำเนินก่อสร้างสำเร็จและสมโภชเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547

เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ที่พระครูอุบลคณาภรณ์ออกแบบนั้น เป็นเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานสี่เหลี่ยมย่อมุม ผนังอาคารเป็นรูปดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี คันทวยปั้นเป็นรูปไก่ ซึ่งเป็นปีเกิดของพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) คือ ปีระกา หน้าบันแต่ละด้านบอกเรื่องราวของพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ส่วนยอดเป็นยอดแปดเหลี่ยม ปลียอดเป็นกลีบ 3 ชั้น เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของพระครูอุบลคณาภรณ์ เพราะถือว่าได้ทำงานบูชาเทิดทูนพ่อแม่ครูบาอาจารย์

ภายในวิหารนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) แล้ว ยังได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดเก็บอัฐิธาตุของหลวงปู่ และแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของหลวงปู่อีกด้วย

เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานและรูปเหมือนพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล)
เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานและรูปเหมือนพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) วัดเลียบ

การสร้างเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานและรูปเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดเลียบ

การสร้างเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานและรูปเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งก็อยู่ในความคิดและความตั้งใจของพระครูอุบลคณาภรณ์เหมือนกัน จนปี พ.ศ. 2552 พระครูได้พบกับคุณเกศนี  จิรวัฒน์วงศ์ ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานีและมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนา และวัตรปฏิบัติปฏิปทาในหลวงปู่มั่น มีความคิดอยากจะสร้างเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานและรูปเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เช่นกันกับพระครู จึงได้ขอโอกาสได้ทำบุญนี้ได้สร้างเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานถวาย

การก่อสร้างได้เริ่มต้นขึ้น โดยกำหนดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 29 สิงหาคม 2552 ซึ่งตรงกับขึ้น 9 ค่ำ เดือน10 การก่อสร้างดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วยบารมีของหลวงปู่มั่น โดยแท้

การสร้างเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นั้นรูปแบบจะคล้ายกับเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานหลวงพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) โดยตั้งอยู่เคียงข้างกัน แต่จะมีความสูงไม่เท่ากัน เนื่องจากเล็งเห็นว่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตนั้นเป็นศิษย์ของพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ความสูงของเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานจึงไม่ควรสูงเกินกว่าพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เจดีย์นี้ได้ถูกออกแบบ โดย พระครูอุบลคณาภรณ์เช่นกัน สร้างเป็นจัตุรมุข 4 ด้าน ผนังวิหารโดยรอบปั้นเป็นบัว 4 เหล่า ยอดเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานทำเป็นพระธาตุพนม ซี่งเป็นบริเวณที่หลวงปู่มั่นเคยไปจำพรรษา สูงจากฐานถึงยอดฉัตร 13 เมตร หน้าบันทั้ง 4 ด้าน บอกเรื่องราวของหลวงปู่มั่น

เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานและรูปเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานและรูปเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดเลียบ

ในระหว่างการสร้างเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต งานรูปเหมือนหลวงปู่มั่นก็ดำเนินการควบคู่ไปด้วย โดยมีอาจารย์เดชา สายสมบูรณ์ เป็นปฏิมากร เป็นรูปเหมือนในช่วงที่หลวงปู่มั่นอายุประมาณ 60-70 ปี ในท่านั่งขัดสมาธิ คิ้วสายตาดูมุ่งมั่น หน้ามองตรง ท่านั่งดูเคร่งขรึม บ่งบอกถึงความเป็นผู้บำเพ็ญเพียรแก่กล้า ทางวัดได้จัดพิธีเททองหล่อรูปสำริดในวันที่ 20 มกราคม 2552 โดยมีพระมงคลกิตติธาดา เป็นองค์ประธาน และอัญเชิญรูปหล่อหลวงปู่มั่นมาที่วัดเลียบในวันที่ 23 มีนาคม 2553

รูปหล่อสำริดของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตนั้น มีความงดงามนัก คุณเกศนี จิรวัฒน์วงศ์ จึงเกิดแรงศรัทธาขอสร้างรูปหล่อสำริดของพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ด้วย  เพราะคิดว่ารูปเคารพพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ในวิหารเป็นหุ่นขี้ผึ้ง ส่วนรูปเคารพหลวงปู่มั่นในวิหารเป็นสำริดอาจจะไม่เหมาะสม เพราะหลวงปู่มั่นเป็นลูกศิษย์ เมื่อได้ปรึกษากับท่านเจ้าอาวาส ก็ได้อัญเชิญหุ่นขี้ผึ้งของพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) นั้นไปประดิษฐานไว้ที่หอไตรพิพิธภัณฑ์ ร่วมกับตู้พระไตรปิฎก และพระพุทธรูปที่พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) แกะสลัก ตามความประสงค์ของเจ้าภาพ และได้มอบหมายให้อาจารย์เดชา สายสมบูรณ์ เป็นผู้ปั้นงานต้นแบบพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ซึ่งใช้วิธีเดียวกับการทำงานต้นแบบหลวงปู่มั่น มีพิธีเททองหล่อเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2553 และจะอัญเชิญประดิษฐาน ณ เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล)

ภายในวิหารก็ได้จัดพิพิธภัณฑ์จัดเก็บอัฐิธาตุของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของหลวงปู่ด้วยเช่นกัน

อัฐิธาตุของพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) และหลวงปู่มั่นภูริทัตโต
อัฐิธาตุของพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) และหลวงปู่มั่นภูริทัตโต วัดเลียบ
พระพุทธรูปที่จัดแสดงในเจดีย์ของหลวงปู่ทั้งสอง
พระพุทธรูปที่จัดแสดงในเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล) และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

การสร้างเจดีย์อนุสรณ์สถานและรูปหล่อพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล) และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นการบ่งชี้ให้เห็นคุณค่าแห่งความดี น้อมระลึกถึงปฏิปทาแห่งการปฏิบัติ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติตามรอยองค์ท่านสืบไป และเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงไว้ว่า อดีตมีพระอรหันต์ได้มาบำเพ็ญเพียรสมณธรรม ณ สถานที่แห่งนี้

เสาพระเจ้าอโศก วัดเลียบ

มูลเหตุของการสร้างเสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศกมหาราชในครั้งนี้ เกิดจากการเดินทางไปประเทศอินเดียของคุณสุขวิช-คุณผิวผ่อง รังสิตพล จึงได้ทราบว่าเสาพระเจ้าอโศกนี้มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในยุคนี้มาก เพราะเมื่อพระพุทธศาสนาได้หายไปจากประเทศอินเดียนานถึง 700 ปี เมื่อจะฟื้นฟูก็อาศัยเสาศิลาของพระเจ้าอโศกมหาราชนี้เป็นเครื่องบ่งชี้จุดต่าง ๆ เสาพระเจ้าอโศกนี้มีอายุกว่า 2000 ปีมาแล้ว หากไม่มีเสาพระเจ้าอโศกมหาราชบอกไว้ ก็ยากที่ใครจะบอกว่าสถานที่แห่งนั้น ๆ คืออะไร  พระราชญาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม 9 ได้แนะนำให้คุณสุขวิชสร้างกุศลด้วยการสร้าง “เสาอโศก” ตามอย่าง พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ที่เปลี่ยนมาถือพุทธศาสนา ได้สร้างเสาอโศกปักไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ 84,000 ต้น เพื่อประกาศว่า ที่ใดมีเสาอโศกปักอยู่ ที่นั่นคือสถานที่ที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่มาถึงแล้ว

เสาพระเจ้าอโศก วัดเลียบ
เสาพระเจ้าอโศก วัดเลียบ

อีกประการหนึ่ง ด้วยดวงใจแห่งความจงรักภักดีที่มีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพุทธมามะกะและอัครศาสนูปถัมภก ทรงมีบุญญาธิการดั่งพระเจ้าอโศกมหาราช จึงสมควรเฉลิมพระเกียรติให้ปรากฏอยู่ในแผ่นดินนี้ไปอีกตราบนานเท่านาน

ด้วยความเคารพบูชาเทิดทูนที่มีต่อองค์พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล) พระมหาเถระรูปสำคัญซึ่งถือกำเนิดที่จังหวัดอุบลราชธานี มีข้อวัตรปฏิบัติอันงดงามเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกในฐานะแม่ทัพธรรมพระกัมมัฏฐาน และมีศิษย์อันลือชื่อ คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้มาถวายตัวเป็นศิษย์ ณ สถานที่แห่งนี้ จึงควรจารึกคุณงามความดีลงในเสาศิลาจารึกไว้ ณ วัดเลียบ อันเป็นสถานที่พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล) เคยเป็นเจ้าอาวาส เพื่อประกาศชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านทั้งสองให้ปรากฏในดินแดนพุทธแห่งนี้ และเป็นแบบอย่างแก่อนุชนคนไทยให้ชื่นชมบูชาและปฏิบัติตามต่อไป

หอพระไตรเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วัดเลียบ
หอพระไตรเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ของวัดเลียบ ด้านล่างประดิษฐานรูปปั้นพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล) และหลวงปู่มั่นภูริทัตโต
บ่อน้ำในวัดเลียบ
บ่อน้ำในวัดเลียบ ที่สร้างโดยพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล) และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เมื่อปี 2435

ที่ตั้ง วัดเลียบ 

เลขที่ 116 ถนนเขื่อนธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดเลียบ

15.228674, 104.866173

บรรณานุกรม 

วัดเลียบ อุบลราชธานี อารามแห่งบูรพาจารย์. (2554). อุบลราชธานี: วัดเลียบ.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง