วัดบูรพาราม

วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นวัดต้นกำเนิดของสายวิปัสสนากรรมฐานแบบอีสาน ด้วยว่ามีพระอาจารย์สีทา ชัยเสโน ผู้เป็นพระอาจารย์ของพระสงฆ์สายนี้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่เป็นประจำ จนมีอาจารย์และลูกศิษย์สืบทอดกันมาหลายรุ่น ได้แก่ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ขาว หลวงปู่สิงห์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ดุล และพระอาจารย์ฝั่น อาจาโร เป็นต้น ภายในวัดมีงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นให้เรียนรู้นั่นคือ หอไตรคู่ ซึ่งเป็นหอไม้ทรงสูง 2 หลัง ที่สร้างไว้คู่กัน ใช้สำหรับเก็บคัมภีร์หรือพระไตรปิฎก และมีสิมเก่าที่ยังหลงเหลือไว้ให้ศึกษางานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและเป็นที่ประดิษฐานของพระบูรพาจารย์ 5 องค์

ประวัติวัดบูรพาราม อุบลราชธานี

วัดบูรพาราม เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของเมืองอุบล ด้วยว่าพระอาจารย์สีทา ชัยเสโนจากวัดศรีอุบลรัตนารามหรือวัดศรีทอง และวัดเลียบนั้นจะมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่ป่าทางทิศตะวันออกของเมืองเป็นประจำ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ในสมัยนั้น ทรงมีศรัทธาในพระอาจารย์สีทา ชัยเสโน มาก จึงรับสั่งให้เจ้าพนักงานของเมืองอุบลไปถางป่าออกและสร้างวัดขึ้น โดยให้นามว่า วัดบูรพาราม เป็นสำนักของพระอาจารย์สีทา ชยเสโน แต่นั้นมา พระอาจารย์สีทา ชัยเสโนนี้เป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ก็เป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตก็เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่ขาว หลวงปู่สิงห์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ดุล พระอาจารย์ฝั่น อาจาโร วัดบูรพารามจึงเป็นวัดต้นกำเนิดสายวิปัสสนากรรมฐานแบบอีสาน

ปัจจุบันทางวัดบูรพารามได้สร้างรูปหล่อเหมือนพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน 5 องค์ ไว้ เพื่อให้ลูกหลานได้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคล ประดิษฐานอยู่ที่สิมเก่าซึ่งเป็นฝีมือการก่อสร้างของพระอาจารย์สีทา ชัยเสโนและอาจารย์เสาร์ กันตสีโล รูปหล่อพระบูรพาจารย์ที่สร้างขึ้นได้แก่  พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน  พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระญาณวิศิษย์ และพระสิทธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (สี ธัมมธโร)

รูปหล่อพระบูรพาจารย์ ประดิษฐานในสิมเก่าวัดบูรพาราม
รูปหล่อพระบูรพาจารย์ 5 องค์ ประดิษฐานในสิมเก่าวัดบูรพาราม อุบลราชธานี

สิมวัดบูรพาราม อุบลราชธานี

สิมวัดบูรพาราม ในปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก แต่ยังพอหลงเหลือพอมองเห็นถึงลักษณะดั้งเดิมของสิมแบบอีสานแท้  สันนิษฐานว่าจะเป็นสิมรุ่นเดียวกับสิมวัดป่าใหญ่หรือวัดมหาวนาราม เดิมคงเป็นสิมโปร่ง แต่ต่อมาภายหลังได้ก่อผนังต่อขึ้นถึงชายคา ซึ่งดูจากความแตกต่างในการก่อสร้างคือ ฐานเดิมก่อด้วยอิฐฉาบปูนประกาย ผนังก่ออิฐเตี้ย ๆ สูงราว 60 เซนติเมตร ต่อจากนั้นใช้ไม้ตีเป็นโครงขึ้นไปถึงชายคา แล้วใช้ดินเหนียวผสมแกลบพอกกับไม้ แล้วจึงฉาบปูนทับอีกชั้น ผนังด้านข้างเจาะเป็นหน้าต่างข้างละ 2 ช่อง (ไม่มีบานหน้าต่าง แต่ใช้ไม้โครงผนังเป็นลูกกรงแทน) ตรงผนังหลังพระประธานเจ้าเป็นช่องกลมด้านละช่อง ส่วนผนังด้านหลังก่อทึบเจาะเป็นช่องกลม 4 ช่อง ลักษณะที่เหลืออยู่เป็นฐานเอวขันธ์แบบปากพาน มีบันไดขึ้นทางด้านหน้า ฐานชุกชีก่อเป็นแท่งยาวตลอดแนว โครงหลังคาเดิมหักพังลงหมดแล้ว ทางวัดจึงได้ทำหลังคาใหม่คลุมไว้

สิมวัดบูรพาราม
สิมวัดบูรพาราม อุบลราชธานี

หอไตรวัดบูรพาราม อุบลราชธานี

หอไตรวัดบูรพาราม เป็นหอบกหรือหอไตรที่สร้างบนบก ลักษณะอาคารเป็นเรือนไม้ 2 หลังคู่กัน แต่ละหลังเป็นเรือนแบบ 3 ห้อง ยกพื้นสูงด้วยเสากลม หลังละ 8 ต้น มีชานเชื่อมอาคารทั้ง 2 หลัง (ปัจจุบันชานได้หักพังลงหมดแล้ว) อาคารหลังทางทิศใต้ฝีมือประณีตมาก ฝาผนังอาคารเป็นแบบก้างปลา ไม้พรึงแกะสลักเป็นลวดลายกระจังกลีบบัวรอบอาคาร และไม้ลายเท้าสิงห์รองรับกรอบหน้าต่าง หลังคาทรงจั่วมุงแป้นไม้ หน้าบันกรุไม้รูปรัศมีพระอาทิตย์ เชิงชายมีไม้ฉลุโดยรอบ อาคารหลังทิศเหนือฝีมือการก่อสร้างหยาบกว่าทางทิศใต้ โดยเฉพาะลวดลายผนังและการตกแต่งกรอบหน้าต่าง การสร้างหอไตรนี้มาจากพื้นฐานความเชื่อเรื่องการนับถือศาสนาพุทธ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการสร้างคือ เพื่อเป็นที่เก็บหนังสือใบลาน ที่เป็นตัวแทนของพระธรรมคำสอนเป็นของสูงที่ต้องกราบไหว้บูชา หอไตรจึงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ในทัศนคติของชาวบ้าน

หอไตรคู่ วัดบูรพาราม
หอไตรคู่ วัดบูรพาราม งานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน
ศาลาการเปรียญ วัดบูรพาราม
วิหารวัดบูรพาราม เดิมสร้างเป็นศาลาการเปรียญขึ้นในปี พ.ศ.2458 ซึ่งบริเวณที่สร้างนี้เคยเป็นสถานที่สร้างเมรุเผาศพของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เมื่อเผาศพเสร็จแล้ว จึงได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้น แต่ต่อมาได้เกิดไฟไหม้ พระครูอมรวิสุทธิ์ (แดง อมโร) จึงได้สร้างวิหารหลังใหญ่ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำรูปหล่อของบูรพาจารย์ 5 องค์มาประดิษฐานไว้
พระอุโบสถ วัดบูรพาราม
พระอุโบสถ วัดบูรพาราม
พระพุทธโคตรมะปัจจะรินทร์ (พระนาคปรก) วัดบูรพาราม
พระพุทธโคตรมะปัจจะรินทร์ (พระนาคปรก) วัดบูรพาราม
พระครูอมรวิสุทธิ์ (แดง อมโร) วัดบูรพาราม
พระครูอมรวิสุทธิ์ (แดง อมโร) วัดบูรพาราม
กุฏิเรือนไทย วัดบูรพาราม
กุฏิเรือนไทย พ.ศ. 2545 ที่ประดิษฐานรูปเหมือนพระครูอมรวิสุทธิ์ (แดง อมโร) เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม (พ.ศ. 2510-2550)
หอระฆัง วัดบูรพาราม
หอระฆัง วัดบูรพาราม มีทั้งแบบสร้างด้วยคอนกรีตและสร้างด้วยไม้
หอกลองศรีสุวรรณ วัดบูรพาราม
หอกลองศรีสุวรรณ วัดบูรพาราม


ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดบูรพาราม


ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดบูรพาราม

ที่ตั้ง วัดบูรพาราม

ถนนบูรพาใน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดบูรพาราม

15.231391, 104.874282

บรรณานุกรม

ท่องธารธรรม ตามมูนเมืองอุบล แหล่งธรรมะและธรรมชาติ. (2553). อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ปิยะฉัตร ปีตะวรรณ และสุภัต รักเปี่ยม. (2541). สถาปัตยกรรมอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี.

วิโรฒ ศรีสุโร. (2536). สิมอีสาน. กรุงเทพฯ: เมฆาเพรส.

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง