วัดแจ้ง

วัดแจ้ง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่เจ้าราชบุตร (หนูคำ) ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีสร้างขึ้น ภายในวัดมีสิมเก่า งานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสานที่ได้รับยกย่องว่ามีรูปทรงสวยงาม มีงานจำหลักไม้ที่มีฝีมือแบบพื้นบ้านอีสานโดยแท้ และลักษณะเด่นของสิม คือ คันทวยนาคและหางหงส์ที่มีความอ่อนช้อยและงดงาม โดยทำเป็นรูปหัวนาคมีหงอนสะบัดปลายเป็นกนกเปลว

ซุ้มประตู วัดแจ้ง
ซุ้มประตู วัดแจ้ง

ประวัติวัดแจ้ง อุบลราชธานี

เมื่อเจ้าราชบุตร (หนูคำ) หนึ่งในคณะอาญาสี่ ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีได้สร้างวัดทองนพคุณสนองพระคุณมารดาแล้วมีใจชื่นชมยินดีมาก จึงให้สร้างวัดอีกวัดหนึ่งขึ้นที่สวนอีกแปลงของท่านและอยู่ทางเหนือของเมือง วัดแจ้งถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2431 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อเดินทางจากตัวเมืองไปทางเหนือพอมาถึงบริเวณวัดนี้ก็จะสว่างพอดี หรือเรียกว่า แจ้งพอดี จึงขนานนามวัดนี้ว่า “วัดแจ้ง”  นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างพระประธานประดิษฐานไว้ในศาลาการเปรียญและสร้างอูปมุงสำหรับใส่อัฐิธาตุบรรพชนของท่านไว้ด้วย

สิมวัดแจ้ง อุบลราชธานี

สิมวัดแจ้งนั้นได้รับการยกย่องว่ามีรูปทรงสวยงามและมีงานจำหลักไม้ที่มีฝีมือแบบพื้นบ้านโดยแท้ซึ่งนับวันจะหาดูเป็นตัวอย่างศึกษาได้ยาก สร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2455 หรือหลังจากการตั้งวัดแล้ว 24 ปี โดยญาท่านเพ็ง เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง มีขนาดความกว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สูง 10 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

สิมวัดแจ้ง
สิมวัดแจ้ง

ลักษณะของสิม วัดแจ้ง ตัวอาคารก่อด้วยอิฐฉาบปูน ฐานเอวขันธ์แบบปากพาน มีบันไดขึ้นทางด้านหน้ามีมุขเฉลียงอยู่ด้านหน้า หน้าต่างด้านข้างด้านละ 3 ช่อง ผนังด้านหลังก่อทึบถึงจั่วไม่มีหน้าบัน หลังคาชั้นเดียวมีพะไร (ปีกนก) ทางด้านข้าง รวยลำยองแบบไม่มีนาคสะดุ้ง (รวยระกามอญ) ช่อฟ้า (โหง่) ใบระกาและหางหงส์แบบอีสาน เดิมมุงด้วยแป้นไม้อันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอีสาน ต่อมาเมื่อแป้นไม้ชำรุดจึงเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินขอ มีบันไดอยู่ด้านหน้า ราวบันไดปั้นเป็นรูปจระเข้หมอบ 2 ตัว เอาหัวห้อยลงมาทางตีนบันได ส่วนหางชี้ขึ้นบนส่วนเฉลียงของหน้าสิม เสาด้านหน้าเป็นเสาไม้กลม 4 ต้น หน้าบันสลักไม้เป็นลวดลายแบบพื้นบ้านผสมลายไทยภาคกลาง ด้านบนสุดของหน้าบันแกะสลักไม้เป็นรูปช้างเอราวัณอยู่ตรงกลางระหว่างคชสีห์ 2 ตัว ปิดทองร่องกระจก รวงผึ้งสลักไม้ลายดอกบัวและกอบัวอย่างสวยงาม หากพิจารณาจากปีที่สร้างแล้ว หน้าบันที่สิมวัดแจ้งน่าจะเอาแบบอย่างจากหน้าบันของหอพระพุทธบาทวัดทุ่งศรีเมือง เพียงแต่ช่างได้ประดิษฐ์ลวดลายเพิ่มเติมให้มีความวิจิตรสวยงามมากขึ้นจนโดดเด่น ลักษณะเด่นของสิม คือ ความสวยงามอ่อนช้อยของคันทวยนาคและหางหงส์ที่ทำเป็นรูปหัวนาคมีหงอนสะบัดปลายเป็นกนกเปลว

ฐานเอวขันธ์ของสิมวัดแจ้งเป็นแบบปากพาน
ฐานเอวขันธ์ของสิมวัดแจ้งเป็นแบบปากพาน
โหง่และหางหงส์ของสิมวัดแจ้ง
โหง่และหางหงส์ของสิมวัดแจ้ง งานไม้แกะสลักที่ทำเป็นรูปหัวนาคมีหงอนสะบัดปลายเป็นกนกเปลว
คันทวยไม้สิมวัดแจ้ง
คันทวยไม้สิมวัดแจ้ง ที่งานไม้แกะสลักเป็นรูปนาค
หน้าบันไม้แกะสลัก สิมวัดแจ้ง
หน้าบันสิมวัดแจ้งประดับด้วยรวงผึ้งไม้แกะสลักที่ใช้วิธีแกะสลักลงในเนื้อไม้แบบดั้งเดิม มีเอกลักษณ์ของช่างพื้นถิ่นอีสาน แต่หน้าบันส่วนบนตกแต่งลวดลายไม้แบบทำเป็นชิ้นส่วนแล้วนำมาติด(ไม่ได้แกะสลักเนื้อไม้) เป็นรูปดอกไม้และกระจังรวน ด้านบนสุดเริ่มมีคติของการเอารูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณจากภาคกลางมาใช้  ภาพบนสุดเป็นภาพลูกกรงสลักเป็นหย่องประดับด้านล่างบานหน้าต่าง
ราวบันไดสิมวัดแจ้ง
ราวบันไดสิมวัดแจ้ง ทำเป็นรูปจระเข้ ซึ่งเป็นที่นิยมทำเฉพาะในภาคอีสาน

สิมวัดแจ้งได้รับการยกย่องให้เป็นโบราณสถานที่มีการอนุรักษ์ได้ยอดเยี่ยมและรับเกียรติบัตรในงานนิทรรศการ “สถาปนิก 30” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

ศาลาการเปรียญ วัดแจ้ง
ศาลาการเปรียญ วัดแจ้ง
หอระฆัง วัดแจ้ง
หอระฆัง วัดแจ้ง
บรรยากาศภายในวัดแจ้ง
บรรยากาศภายในวัดแจ้ง

ที่ตั้ง วัดแจ้ง

ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดแจ้ง

15.236057, 104.860106

บรรณานุกรม

ท่องธารธรรม ตามมูนเมืองอุบล แหล่งธรรมะและธรรมชาติ. (2553). อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ปิยะฉัตร ปีตะวรรณ และสุภัต รักเปี่ยม. (2541). สถาปัตยกรรมอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี.

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple.

วิโรฒ ศรีสุโร. (2536). สิมอีสาน. กรุงเทพฯ: เมฆาเพรส.

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง