วัดปทุมมาลัย

วัดปทุมมาลัย เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดอุบลราชธานี คาดว่าสร้างมาตั้งแต่ยุคต้นของการสร้างเมืองอุบลราชธานี ราวสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในวัดมีพระเจ้าวิเศษและพระเจ้าประเสริฐ เป็นพระคู่วัด และอุโบสถใหญ่รูปตัวที

วัดปทุมมาลัย-พระเจ้าวิเศษ-พระเจ้าประเสริฐ

ประวัติวัดปทุมมาลัย

วัดปทุมมาลัย เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดอุบลราชธานี คาดว่าสร้างมาตั้งแต่ยุคต้นของการสร้างเมืองอุบลราชธานี เป็นวัดราษฎร์ แต่เดิมชื่อว่าวัดหนองยาว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดปทุมวัน และเนื่องจากมีผู้ถวายที่ดินเพิ่มเติม และเป็นประธานในการปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้าง จึงเปลี่ยนชื่อตามผู้เป็นประธาน คือ พระปทุมธานี (เหลี่ยม) ว่า “วัดปทุมมาลัย

อาณาเขตของวัด บนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดตามโฉนด เลขที่ 1940 มี 15 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา ทิศเหนือจดถนนสุริยาตร์ ทิศใต้จดถนนสรรพสิทธิ์ ทิศตะวันออกจดซอยสุริยาตร์ 2 ทิศใต้จดซอยสุริยาตร์ 1

ลำดับเจ้าอาวาส 1.ญาท่านสิงห์ คาดว่าเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เจดีย์บรรจุอัฐิท่านยังปรากฏอยู่ในวัด 2.อาจารย์เงิน 3.จารย์ครูศรี 4. พระครูเสมาธรรมรักขิตมุนี 5.พระอาจารย์ขาว 6. พระมหาพันธ์ โพธิโก ป.ธ.4 (ได้รับพระราชทานเป็นพระราชาคณะที่พระเมธีรัตโนบล) 7.พระครูนวกิจโสภิต (ญาท่านเพ็ง พนฺธโว) 8.พระมหาทองคำ ธมฺมปาโล ป.ธ. 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2530 และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2531 และได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูปลัดฐานานุกรมของพระเทพมงคลเมธีรองเจ้าคณะภาค 10 วันที่ 21 มกราคม 2534  วัดปทุมมาลัย-พระเจ้าวิเศษ-พระเจ้าประเสริฐ

ประวัติการสร้างวัดปทุมมาลัย จากบันทึกของคุณทิม ถิรวัฒน์ กล่าวว่า สถานที่ตั้งของวัดปทุมมาลัยแต่เดิมนั้นตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนอุบลวิทยาคมในปัจจุบัน ทำเลที่ตั้งเป็นป่ายางที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ มีผู้คนมาอาศัยอยู่ และร่วมกันสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา ต่อมาได้เกิดฟ้าผ่าเกิดไฟลุกไหม้กุฏิที่มุงด้วยหญ้าจนเหลือแต่เถ้าถ่าน หากจะสร้างกุฏิใหม่สถานที่เดิมก็เกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายซ้ำอีก จึงได้เห็นพ้องต้องกันว่าควรย้ายวัดไปสร้างที่ใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน  ประกอบกับช่วงนั้นมีการปรับปรุงผังเมืองให้เป็นระเบียบ มีการตัดถนนเพื่อสัญจรไปมาได้สะดวก มีการแบ่งเขตสถานที่ราชการ ที่ดิน สำหรับสร้างบ้านเรือนของราษฎร การกำหนดเขตวัดให้เป็นการแน่นอน สถานที่ตั้งวัดแห่งใหม่อยู่ติดกับหนองบัวซึ่งมองเห็นกอบัวขึ้นเต็มไปหมด จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก “วัดป่าหนองยาง” เป็น “วัดปทุมวัน” ลงท้าย “วัน” ซึ่งแปลว่า “ป่า”  แต่คำว่า “วนะ หรือ วัน” หมายถึงป่าใหญ่ ไม่ใช่ป่าบัว หรือป่าหญ้า  ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดปทุมมาลัย” ซึ่งบ่งบอกถึงดอกบัวอย่างชัดเจน เป็นมงคลนามและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ตั้ง

อุโบสถวัดปทุมมาลัย

อุโบสถวัดปทุมมาลัยหลังเก่าเป็นอุโบสถหลังย่อม ๆ หันหน้าทางทิศตะวันออก เริ่มสร้างมาตั้งแต่แรกตั้งวัดมีขนาดความกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร ผนังอิฐถือปูน หลังคาไม้มุงด้วยสังกะสี  เมื่อเวลาผ่านไปได้มีความทรุดโทรม เจ้าคุณเมธีรัตโนบล (พันธ์ โพธิโก) พร้อมทั้งญาติโยมวัดปทุมมาลัย จึงได้ตกลงสร้างอุโบสถใหม่ขึ้นขึ้นในปี 2505  คณะสงฆ์ทำการสวดถอดติจีวราวิปปวาสและสมานสังวาสสีมาให้กับอุโบสถหลังเก่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม 2529 แต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จท่านเจ้าอาวาสก็ได้ย้ายไปจำพรรษาที่อื่น จากนั้นพระครูนวกิจโสภิต (เพ็ง พันธโว) เจ้าอาวาสรูปใหม่ซึ่งท่านมีความรู้ทางช่าง จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์และชาววัดปทุมมาลัยสร้างอุโบสถต่อ สร้างพระเจ้าใหญ่ปางประทานพร ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ หันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ (ถนนสรรพสิทธิ์) และสร้างอุโบสถกับศาลาการเปรียญเป็นอาคารเดียวกัน ได้ใช้ประโยชน์อเนกประสงค์ตามเจตนา แต่ทั้งหมดยังไม่สำเร็จดีพระครูนวกิจโสภิต (เพ็ง พันธโว) ก็ได้มรณภาพลง พระมหาทองดำ ธมฺมปาโล เจ้าอาวาสรูปต่อมาจึงได้ดำเนินการต่อจนเสร็จสมบูรณ์

วัดปทุมมาลัย-พระเจ้าวิเศษ-พระเจ้าประเสริฐวัดปทุมมาลัย-พระเจ้าวิเศษ-พระเจ้าประเสริฐ

อุโบสถวัดปทุมมาลัยหลังปัจจุบัน เป็นอุโบสถขนาดใหญ่รูปตัวที ขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 31 เมตร  หลังคาทรงไทย 3 มุข มุงกระเบื้องเคลือบดินเผากาบกล้วย หน้าบันปิดกระจกปิดทอง มีกำแพงแก้วล้อมรอบเป็นสัดส่วนสวยงามเชิดชูโบสถ์ให้สวยงามยิ่งขึ้น พื้นปูด้วยหินอ่อน มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์  คันทวย และซุ้มประตูที่สวยงาม บานประตูหน้าต่างแกะสลักและลงรักปิดทอง

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ศิริมงคลคู่วัดปทุมมาลัย

พระเจ้าวิเศษ กับพระเจ้าประเสริฐ เป็นพระคู่กับวัดปทุมมาลัยมาตั้งแต่ต้น ผู้ที่ตั้งชื่อครั้งแรกคงจะถือเอาความดีความงาม ความประเสริฐบังเกิดขึ้นในขณะทำพิธีหล่อ ขนาดของพระเจ้าวิเศษมีฐานกว้าง 22 นิ้ว หน้าตักกว้าง 18 นิ้ว มีความสูงจากฐานถึงปลายพระเกษ 41 นิ้ว  มีบัวชั้นเดียวคือบัวหงายและมีผ้าทิพย์ เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากสกุลช่างสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช

พระเจ้าประเสริฐ มีพระเปลวเพลิงยาว มีฐานสูง มีฐานกว้าง 15 นิ้ว หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว มีผ้าทิพย์ ศิลปะเหมือนกับพระเจ้าวิเศษแต่มีขนาดเล็กกว่า  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปทั้งสององค์นั้นประดิษฐานเป็นพระประธานในโบสถ์วัดป่าหนองยาง (โรงเรียนอุบลวิทยาคมในปัจจุบัน)

คำจารึกที่ฐานพระเจ้าวิเศษมีข้อความดังนี้

“พระพุทธศักราชล่วงแล้ว 2406 พระวรรษา ปีกุน เป็น…(ข้อความที่ขาด 5 อักษร) ในเหมันตฤดูเดือน 4 เพ็งขึ้น หลวงทิพย์ แม่กองศักดิ์ กับทั้งสัปบุรุษทั้งปวงมีน้ำจิตประกอบพร้อมกันสร้างประปฏิมากร ฉลองแท่นพระองค์ไว้สำหรับพระพุทธศาสนาเท่าห้าพันพระวรรษา ให้เป็นที่ไหว้ที่บูชาแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งปวง ให้นามกรพระพุทธรูปชื่อว่า “พระพิชิตมารญาณสัพพัญญูบรมครูเจ้า” อันเป็นองค์ที่แสน จะทำให้ความปรารถนาแห่งบริษัททั้งปวง อิเมหิ ปุญญผเลหิ เอโก พุทฺโธ นิพฺพานปจฺจโย โหตุ”

วัดปทุมมาลัย-พระเจ้าวิเศษ-พระเจ้าประเสริฐ
พระพุทธศรีอุบลธานินทร ปทุมมาลัยบวรวัฒนศาสดา พระประธานในอุโบสถวัดปทุมมาลัย

พระพุทธศรีอุบลธานินทร ปทุมมาลัยบวรวัฒนศาสดา

พระพุทธศรีอุบลธานินทร ปทุมมาลัยบวรวัฒนศาสดาเป็นพระพุทธรูปแบบประทานพร ภ.ป.ร. มีขนาด 9 ศอก 9 นิ้ว และ 9 เซนติเมตร มีความสูง 12 ศอก 9 นิ้ว 9 เซนติเมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ลงรักปิดทอง หันพระพักตร์ไปทางทิศแม่น้ำมูล การสร้างครั้งนี้เป็นการร่วมฉลองสมโภชรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี และถวายพระราชกุศลแด่พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชวโรกาสที่ทรงมีประชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี 2530 ด้วย สมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆปรินายก (วาสนามหาเถระ) วัดราชบพิธ ทรงขนานพระนามเพื่อเป็นสิริมงคลว่า “พระพุทธศรีอุบลธานินทร ปทุมมาลัยบวรวัฒนศาสดา” มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นศรี เป็นยอดสูงสุดของเมืองอุบลราชธานี เป็นพระศาสดาที่ยังความวัฒนาสถาพร อันประเสริฐยิ่งให้บังเกิดแก่วัดปทุมมาลัย

วัดปทุมมาลัย-พระเจ้าวิเศษ-พระเจ้าประเสริฐ

ที่ตั้ง วัดปทุมมาลัย

เลขที่ 224 ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดปทุมมาลัย

15.236738, 104.856303

บรรณานุกรม

พระราชรัตโนบล. (2534). โบสถ์ ในหนังสืองานฉลองโรงอุโบสถผูกสีมาและบุญมหาชาติ ประจำปี 2534 วัดปทุมมาลัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 27 กุมภาพันธ์-3มีนาคม 2534. อุบลราชธานี: วิทยาการพิมพ์-ออฟเซ็ท.

ลือ ศรีปุนะเดช. (2534). ความเป็นมาเชิงตำนานประวัติวัดปทุมมาลัย ใน หนังสืองานฉลองโรงอุโบสถผูกสีมาและบุญมหาชาติ ประจำปี 2534 วัดปทุมมาลัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 27 กุมภาพันธ์-3มีนาคม 2534. อุบลราชธานี: วิทยาการพิมพ์-ออฟเซ็ท.

ศรีโคตร. (2534). พระเจ้าวิเศษ พระเจ้าประเสริฐ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ศิริมงคลคู่วัดปทุมมาลัย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในหนังสืองานฉลองโรงอุโบสถผูกสีมาและบุญมหาชาติ ประจำปี 2534 วัดปทุมมาลัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 27 กุมภาพันธ์-3มีนาคม 2534. อุบลราชธานี: วิทยาการพิมพ์-ออฟเซ็ท.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง