การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการป้องกันโรคไข้เลือดออกในหมู่บ้าน อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

Titleการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการป้องกันโรคไข้เลือดออกในหมู่บ้าน อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2550
Authorsประคองศิลป์ โพธะเลศ
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRA ป198ก
Keywordsรูปแบบการป้องกันโรคไข้เลือดออก, ไข้เลือดออก--การป้องกันและควบคุม
Abstract

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์และสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ศึกษารูปแบบการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด 2.ศึกษาผลการป้องกันโรคและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกของแต่ละรูปแบบ 3.ศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออก 4.ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกของประชาชนกับผลการป้องกันโรคไข้เลือดออก และ 5.หาสมการเพื่อพยากรณ์โอกาสในการเกิดโรคไข้เลือดออกของแต่ละรูปแบบ
รูปแบบการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ทำการศึกษาในงานวิจัยมี 4 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 พ่นหมอกควันกำจัดยุงตัวเต็มวัยอย่างเดียวทุกเดือน รูปแบบที่ 2 ใส่ทราบกำจัดลูกน้ำอย่างเดียวทุกเดือน รูปแบบที่ 3 พ่นหมอกควันกำจัดยุงตัวเต็มวัยร่วมกับใส่ทรายกำจัดลูกน้ำทุกเดือน และรูปแบบที่ 4 พ่นหมอกควันกำจัดยังตัวเต็มวัยร่วมกับใส่ทรายกำจัดลูกน้ำช่วงก่อยฤดูกาลระบาด และช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกแต่ะละรูปแบบนำไปศึกษาในหมู่บ้านที่ไม่เคยเกิดโรคไข้เลือดออกและหมู่บ้านที่เคยเกิดโรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ. 2547
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลแบบวัดซ้ำ พบว่า ค่าเฉลี่ย BI ของรูปแบบที่ 1 > รูปแบบที่ 4 > รูปแบบที่ 2 > รูปแบบที่ 3 และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของรูปแบบการทดลองเป็นรายคู่พบว่า รูปแบบที่ 2 กับรูปแบบที่ 3 มีค่าเฉลี่ย BI ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ค่าเฉลี่ย BI ระหว่างหมู่บ้านที่ไม่เกิดโรคกับหมู่บ้านที่เคยเกิดโรคไข้เลือดออกของแต่ละรูปแบบไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ในช่วงที่ดำเนินการทดลองพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในหมู่บ้านที่ทดลองใช้รูปแบบที่ 1 จำนวน 4 ราย และรูปแบบที่ 4 จำนวน 1 ราย เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการป้องกันโรคกับสัดส่วนผู้ป่วยไข้เลือดออกโดยใช้สถิติโลจีสติก พบว่า รูปแบบที่ 2,3 และ 4 ไม่มีความสัมพันธ์ต่อสัดส่วนการเกิดโรคไข้เลือดออกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีโอกาสที่จะเกิดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากกว่ารูปแบบอื่น 0.099 เท่า
ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างค่าเฉลี่ย BI กับความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกของประชาชนโดยใช่สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน พบว่า ค่าเฉลี่ย BI มีความสัมพันธ์กับความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกของประชาชน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า รูปแบบการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ 2 เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายน้อบ และมีค่าเฉลี่ย BI ต่ำมาก

Title Alternate The comparative study of Dengue Haemorrhagic fever control models in the villages of Kantaraluk district, Sisaket province
Fulltext: