ผลการให้สุขศึกษาร่วมกับระบบเตือนแก่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ศูนย์สุขภาพชุมชนหนองแก จังหวัดอุบลราชธานี

Titleผลการให้สุขศึกษาร่วมกับระบบเตือนแก่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ศูนย์สุขภาพชุมชนหนองแก จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsปาริชาติ ประทุมเทศ
Degreeเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิกและการบริหาร
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRC ป554ผ
Keywordsความดันเลือดสูง--ผู้ป่วย, ความดันโลหิตสูง--การรักษา, ระบบเตือน, สุขศึกษา, อุบลราชธานี
Abstract

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของการให้สุขศึกษาร่วมกับระบบเตือนโดยใช้ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพในการปรับเปลี่ยนการรับรู้ตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ การปฏิบัติตัว และการควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบเหตุที่ได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันโลหิต ระหว่างเดือนธันวาคม 2550 ? เดือนเมษายน 2551 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยกลุ่มทดลองเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการที่ ศูนย์สุขภาพชุมชนหนองแก ซึ่งจะได้รับการให้สุขศึกษาร่วมกับระบบเตือนจำนวน 3 ครั้ง ส่วนกลุ่มควบคุมเป็นผู้ป่วยที่มารับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเหล่าเสือโก้ก ซึ่งจะได้รับการให้บริการตามปกติจากเจ้าหน้าที่ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุและแบบประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยกลุ่มทดลองที่มีการให้สุขศึกษาร่วมกับระบบเตือนวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Chi-square test, T-test, Paired T-test, multiple linear regression และ logistic regression
หลังจากควบคุมตัวแปรร่วมซึ่งได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพ อาชีพ รายได้ ระบบการศึกษา ผู้ดูแลสุขภาพ สิทธิในการรักษา ระยะเวลาในการป่วย โรคประจำตัวอื่น จำนวนยาลดความดันที่ได้รับ คะแนนการรับรู้ก่อนทดลอง คะแนนการปฏิบัติตัวก่อนทดลอง และค่าเฉลี่ยความดันโลหิตก่อนทดลอง ผลการศึกษาพบว่า การให้สุขศึกษาร่วมกับระบบเตือนมีผลทำให้ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีคะแบบการรับรู้ด้านความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อน (B=-1.180, p=0.001) คะแนนการรับรู้ด้านความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง (B=0.795, p=0.006) คะแนนการรับรู้ด้านประโยชน์ของการปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมความดันโลหิต (B=1.513, p<0.001) และคะแนนการรับรู้โดยรวมทั้ง 4 ด้าน (B=2.011, p=0.042) มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีผลทำให้กลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงคะแนนการรับรู้ด้านอุปสรรคในการปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมความดันโลหิตดีกว่ากลุ่มควบคุม และพบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนการปฏิบัติตัวในด้านการออกกำลังกาย และการผ่อนคลายความเครียดมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (B=-0.615, p<0.001 และ B=-0.319, p=0.046 ตามลำดับ) แต่ไม่มีผลทำให้กลุ่มทดลองมีคะแนนการปฏิบัติตัวในด้านการรับประทานอาหาร การรับประทานยา และโดยรวมทั้ง 4 ด้าน ดีกว่ากลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มทดลองมีสัดส่วนของผู้ป่วยที่จะสามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (OR=1.868, p=0.022) แต่ค่าเฉลี่ยความดันโลหิตของผู้ป่วยกลุ่มทดลองไม่ได้ลดลงแตกต่างจากกลุ่มควบคุมและส่วนผลการประเมินความพึงพอใจต่อกิจกรรมการให้สุขศึกษาร่วมกับระบบเตือนที่ผู้วิจัยจัดขึ้นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มทดลองพบว่า ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในด้านการส่งจดหมายเตือนมากที่สุด รองลงมาคือ การเปิดเทปบันทึกเสียง การแนะนำวิธีผ่อนคลายความเครียด การสาธิตท่าออกกำลังกาย การแนะนำอาหารสำหรับผู้ป่วยโดยใช้รูปภาพและตัวอย่างอาหาร การแนะนำการใช้ยาโดยใช้แผ่นพลิก และการฉายวีดีทัศน์โรคความดันโลหิตสูง ตามลำดับ
จากผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการให้สุขศึกษาร่วมกับระบบเตือนที่จัดขึ้นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีผลทำให้ผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนการรับรู้และการปฏิบัติตัวที่ดีขึ้นในบางด้าน และยังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ดังนั้นจึงควรมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวสำหรับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและอาจนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนการรับรู้และการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในศูนย์สุขภาพชุมชนอื่นได้

Title Alternate Effects of health education with a reminder system in hypertensive patients at Nongkae primary care unit, Ubon Ratchathani Province