การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศูนย์วิสาหกิจชุมนผ้าขิดบ้านคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ

Titleการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศูนย์วิสาหกิจชุมนผ้าขิดบ้านคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2552
Authorsรุจิรา วงษ์สามารถ, อุดมรัตน์ ดีเอง
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTT698 ร661
Keywordsของที่ระลึก--การออกแบบ, ผ้าขิด, หัตถกรรม--การออกแบบ, อำนาจเจริญ
Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาข้อมูลผ้าขิดของศูนย์วิสาหกิจชุมชนบ้านคำพระเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขิด ศึกษาถึงทิศทางการตลาดและความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้า และนำผลการศึกษามาพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผ้าขิด โดยมีการดำเนินการวิจัยทั้งจาก การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม กับกลุ่มตัวแทนสมาชิกวิสาหกิจชุมชนผ้าขิดบ้านคำพระ การสังเกตการณ์กลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผ้าในงาน OTOP city เมืองทองธานี และงานแสดงสินค้า OTOP ในจังหวัดอุบลราชธานี ร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้า และที่พบเห็นทั่วไปในวิถีชีวิตปัจจุบัน และการสำรวจความต้องการของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้า เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบและประเมินผลของความพึงพอใจที่มีต่อผลิตภัณฑ์ภายหลังการออกแบบและพัฒนา
โครงการมุ่งเน้นการหาแนวทางการแปรรูปผ้าขิดสู่ผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย อันเนื่องมาจากการพบประเด็นปัญหาในด้านผ้าทอมือลายขิดที่ล้นตลาด ไม่มีตลาดรองรับ ไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มทอผ้า กับกลุ่มแปรรูปผ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของวัตถุดิบ และเกิดการกระจายรายได้เกิดขึ้น
การเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าขิดบ้านคำพระ มาเป็นโครงการทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้านั้น เนื่องมาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าขิดบ้านคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นกลุ่มที่มีประวัติความเป็นมาในด้านการทอผ้าลายขิด ย้อมสีธรรมชาติมายาวนาน แต่เนื่องจากเริ่มไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากขาดการพัฒนาทั้งผ้าทอ และผลิตภัณฑ์แปรรูปกระเป๋าและหมอนจากผ้าของชุมชนเอง ก็หันไปใช้ผ้าทอโรงงานลายขิด อันเนื่องมาจากราคาที่ถูกกว่าเพื่อให้สินค้าสามารถจำหน่ายในราคาที่ถูกลงไปด้วย ทำให้กลุ่มทอผ้าลายขิด และกลุ่มแปรรูป กระเป๋าและหมอน ไม่มีความสัมพันธ์เกื้อกูลกันแต่อย่างใด หากยังไม่มีการทำความเข้าใจในการสร้างมูลค่าให้กับสิ่งที่เป็นรากฐานมายาวนานแล้วนั้น ในไม่ช้ากลุ่มผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติก็จะหมดไป และกลุ่มแปรรูปกระเป๋าและหมอน ก็จะเป็นเพียงแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกเท่านั้น
จึงได้ตั้งคำถามการวิจัยว่าการพัฒนาผ้าขิดก่อนการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และการนำผ้าขิดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นั้น จะสามารถเพิ่มตลาดใหม่ให้กับผ้าทอลายขิดและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าทอมือลายขิดได้หรือไม่
จากการศึกษาพบว่า การที่จะแปรรูปผ้าขิดเป็นผลิตภัณฑ์นั้นจำเป็นต้องพัฒนาตั้งแต่ตัวผืนผ้าจึงจะทำให้สามารถนำผ้าทอลายขิดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัยได้ เนื่องจากผ้าทอมือลายขิดมีข้อจำกัดอยู่ที่กระบวนการทอ ที่ทำให้เกิดการซ้ำของลายจำนวนมากและลายขิดจะมีสีเดียว และลายเดียวกันตลอดตามแนวเส้นพุ่ง นอกจากการมีสีเดียว ลายเดียวกันตลอด ตามแนวเส้นพุ่งแล้ว ความนิยมเลือกใช้สีในจุดที่เกิดลาย ก็มักจะเป็นสีที่มองเห็นลายตัดกันอย่างชัดเจน ซึ่งการซ้ำของลายเป็นจำนวนมาก และสีที่ตัดกันแบบไม่มีความกลมกลืนกันนี้ ทำให้ยากต่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ จึงได้ทำการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้แยกกรอบแนวทางการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือ การพัฒนาผ้าทอลายขิด สำหรับการนำไปแปรรูป และการแปรรูปผ้าทอลายขิดเป็นผลิตภัณฑ์
การพัฒนาผ้าทอมือลายขิดสำหรับการนำไปแปรรูปได้ออกแบบ ผ้าขิดแต่ง สำหรับนำไปตกแต่งเฉพาะจุด ช่วยลดระยะเวลาในกาทอ ลดต้นทุนโดยการนำมาประกอบกับผ้าทอมือสีพื้นอื่น ?ผ้าขิดแต่ง? เป็นการแก้ปัญหา การสิ้นเปลืองผ้าทอขิดทั่งผืนในการนำมาแปรรูป แต่เป็นการทอขึ้นสำหรับนำมาใช้ในการตกแต่งในผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ และออกแบบผ้าทอลายขิด ให้ลายขิดมีสีที่มีความกลมกลืนกันไปตลอดตัวผืนผ้า ซึ่งโดยปกติเมื่อถึงจุดที่ต้องเก็บขิด (ทอลายขิด) ก็จะนิยมเลือกใช้สีให้ลายขิดโดดออกมาจากตัวผืนผ้า จึงต้องการสร้างความแตกต่าง โดยการใช้ฝ้ายในเส้นพุ่งเป็นฝ้ายเข็นเส้นใหญ่ สีเดียวกันกับสีที่ทอผ้าพื้น แต่นำมาพุ่งเฉพาะในจุดที่เก็บขิด (ทอลายขิด) เพื่อเพิ่มมิติ ผิวสัมผัสให้กับผืนผ้าในจุดที่เป็นลายขิด แต่ทั้งผืนผ้าจะมีความกลมกลืนกัน
ด้านการแปรรูปผ้าขิดเป็นผลิตภัณฑ์ได้ยึดหลักการโดยไม่นำผ้าทอลายขิดทั้งผืนมาแปรรูปแต่เป็นการใช้ ?ผ้าขิดแต่ง? เนื่องจากทำให้ลดการซ้ำของลายเป็นจำนวนมาก ได้โดยการเลือกใช้ในจุดที่สำคัญ ที่ต้องการสร้างจุดเด่น และผสมผสานระหว่างผ้าทอสีพื้นย้อมสีธรรมชาติอื่น
ผลจากการพัฒนาภายใต้กรอบดังกล่าวพบว่า ผลิตภัณฑ์มีต้นทุนสูงขึ้นจากเดิมโดยเฉลี่ย 43% แต่สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น 115 %โดยเฉลี่ย
และจากการแจกแบบสอบถามความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์ การเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขิดเดิมกับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขิดที่ทำการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ พบว่ากลุ่มตลาดเก่า จากการประเมินจากแบบสอบถาม กลุ่มนี้ยังไม่เข้าใจในราคาของผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ยังคงยึดติดกับผลิตภัณฑ์รูปแบบเดิมและราคาเดิม โดยไม่สนใจในคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติหรือผ้าทอโรงงานย้อมสีเคมีก็ตาม การตัดสินใจซื้อจะอยู่ที่ราคาที่ถูกของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก กลุ่มตลาดใหม่แนวร่วมสมัย ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน คนในกลุ่มนี้จะไม่สนใจในราคาของผลิตภัณฑ์และที่มาของผลิตภัณฑ์เท่าใดนัก แต่จะให้ความสำคัญกับรูปแบบที่มีความร่วมสมัยของผลิตภัณฑ์และสามารถนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขิดไปใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อย่างกลมกลืน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำการออกแบบใหม่จะได้รับความสนใจในกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ กลุ่มตลาดใหม่แนวอนุรักษ์ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม พัฒนาสังคม หรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ยังคงสนใจในคติความเชื่อของการนำผ้าขิดมาใช้ และยังคงต้องการกลิ่นอายของรูปแบบดั้งเดิม มีความเป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่น แต่อยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ร่วมสมัย
จากผลการประเมินแสดงให้เห็นว่า หากกลุ่มศูนย์วิสาหกิจชุมชนผ้าขิดบ้านคำพระยังคงต้องการรักษาตลาดกลุ่มเดิม ก็ยังคงสามารถทำขายได้เฉพาะกลุ่ม แต่ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบใหม่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเปิดตลาดกลุ่มใหม่ได้ต่อไปในอนาคต

Title Alternate Research project for the designs and developments of Pakhit community centre, Ban Kampra, Hua Tapan district, Amnat Charoen province
Fulltext: