ผลของต้นตอมะเขือที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตมะเขือเทศสีดาในสภาพโรงเรือนและแปลงปลูก

Titleผลของต้นตอมะเขือที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตมะเขือเทศสีดาในสภาพโรงเรือนและแปลงปลูก
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2554
Authorsภาวิณี ท้าวเพชร
Degreeวท.ม (สาขาวิชาเกษตรศาสตร์)
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSB ภ479
Keywordsมะเขือเทศพันธุ์สีดา, มะเขือเทศพันธุ์สีดา--การขยายพันธุ์, มะเขือเทศพันธุ์สีดา--โรคเหี่ยวเขียว
Abstract

การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกต้นตอมะเขือที่ต้านทานต่อการเกิดโรคเหี่ยวเขียว ที่มีสาเหตุจากเชื้อ Ralstonia salanacearum ไอโซเลตที่มีความรุนแรงในการก่อให้เกิดโรคเหี่ยวเขียวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และคัดเลือกต้นตอมะเขือเหล่านี้ให้ทนทานต่อการถูกน้ำท่วมขัง เพื่อใช้เป็นต้นตอในการผลิตมะเขือเทศสีดานอกฤดู จากการศึกษาในสภาพโรงเรือนทดลองโดยน้ำเชื้อโรคเหี่ยวเขียวจำนวน 5 ไอโซเลตมาทำการปลูกเชื้อกับมะเขือ 16 สายพันธุ์/พันธุ์ พบว่า มะเขือที่มีลักษณะต้านทานโรคเหี่ยวเขียวโดยไม่พบการเกิดโรค คือ TS3, TS69 EG195 EG203 EG219 S00021 S000056 S00198 และมะเขือพวง ส่วนเชื้อ R.salanacearum สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงในการก่อโรคเหี่ยวเขียวกับมะเขือ ได้แก่ เชื้อไอโซเลต KK07 NK03 MH08 UD10 และ UB01 โดยมีค่าเฉลี่ยการเกิดโรคเหี่ยวเขียวเท่ากับร้อยละ 19.37 18.2 16.25 3.12 และ 0 ตามลำดับ การคัดเลือกมะเขือที่ทนทานต่อการถูกน้ำท่วมขังในสภาพแปลงปลูก โดยใช้มะเขือ 11 สายพันธุ์/พันธุ์ พบว่า มะเขือพวง และมะเขือ EG203 มีแนวโน้มในการทนทานต่อการถูกน้ำท่วมขังหลังถูกน้ำท่วมนาน 168 ชั่วโมง โดยเกิดการโค้งงอของก้านใบของใบเฉลี่ย 7.90 และ 12.70 % ตามลำดับ และเมื่อทำการศึกษาอิทธิพลของต้นตอมะเขือที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตมะเขือเทศสีดาในสภาพโรงเรือน โดยใช้มะเขือเทศสีดาสายพันธุ์ CNK10-3 และสีดาทิพย์ 4 เป็นกิ่งพันธุ์ดี และมะเขือพวง มะเขือ EG203 และมะเขือเทศ H7996 ใช้เป็นต้นตอ พบว่า การต่อยอดมะเขือเทศสายพันธุ์ CNK10-3 และสีดาทิพย์ 4 บนต้นตอทั้ง 3 ชนิดไม่มีผลต่อจำนวนดอกต่อช่อ ร้อยละของการติดผล น้ำหนักผล เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นของกิ่งพันธุ์และต้นตอ แต่มีผลจำนวนวันดอกแรกบาน ความสูง จำนวนผลต่อต้น ผลผลิตต่อต้น เส้นผ่าศูนย์กลางของรอยเชื่อมระหว่างกิ่งพันธุ์และต้นตอ เปอร์เซ็นต์การเข้ากันได้ และเปอร์เซ็นต์การรอดตายจากโรคเหี่ยวเขียวในแปลงปลูก ซึ่งส่งผลให้มะเขือเทศมีผลผลิตต่อไร่ที่แตกต่างกันระหว่างต้นตอแต่ละชนิด โดยการต่อยอดมะเขือเทศสีดาสายพันธุ์ CNK10-3 และสีดาทิพย์ 4 บนต้นตอมะเขือ EG203 มีผลผลิตต่อไร่ (4,896 และ 5,112 กิโลกรัมต่อไร่) สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับการต่อยอดบนต้นตอมะเขือเทศ H7996 (3,844 และ 3,617 กิโลกรัมต่อไร่) มะเขือพวง (3,420 และ 3,388 กิโลกรัมต่อไร่) และมะเขือเทศกิ่งพันธุ์ดีไม่ต่อยอด (2,508 และ1,690 กิโลกรัมต่อไร่) ส่วนคุณภาพผลผลิตของมะเขือเทศสีดาสายพันธุ์ CNK10-3 และสีดทิพย์ 4 ที่ต่อยอดบนต้นตอทั้ง 3 ชนิด และมะเขือเทศกิ่งพันธุ์ดีไม่ต่อยอดไม่มีผลต่อค่า pH และสีของผลมะเขือเทศสีดา แต่มีผลต่อความหวาน โดยผลมะเขือเทศสายพันธุ์ CNK10-3 และสีดาทิพย์ 4 ที่ต่อยอดบนต้นตอมะเขือพวง (6.0 และ 6.2 องศาบริกซ์) และ EG203 (6.0และ6.1 องศาบริกซ์) มีความหวานสูงกว่าการต่อยอดบนต้นตอ H7996 (5.4 และ 5.2 องศาบริกซ์) และมะเขือเทศกิ่งพันธุ์ดีไม่ต่อยอด (5.2 และ 5.2 องศาบริกซ์) ตามลำดับ

Title Alternate Effect of Solanum rootstocks on growht and yield of Sida tomato in greenhouse and open-field
Fulltext: