การนำนโยบายปราบปรามยาเสพติดไปปฏิบัติ พื้นที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

Titleการนำนโยบายปราบปรามยาเสพติดไปปฏิบัติ พื้นที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2553
Authorsเทวราช ทองเทพ
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHV ท642
Keywordsยาเสพติด--การควบคุม--อุบลราชธานี, ยาเสพติด--อุบลราชธานี
Abstract

การวิจัยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสถานการณ์ยาเสพติดไปปฏิบัติ พื้นที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี 2)เพื่อศึกษารูปแบบการลักลอบการค้ายาเสพติดตามแนวชายแดนต่อการปราบปราม ในพื้นที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี และ 3)เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการนำนโยบายการปราบปรามยาเสพติดไปปฏิบัติ พื้นที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเอกสารของทางราชการและจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดยการตรวจสอบข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลหลายฝ่าย
สรุปผลการวิจัยได้ ดังนี้
1)สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่อำเภอเขมราฐ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ยาเสพติดที่สำคัญคือ ยาบ้า ซึ่งมีการลักลอบนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ขบวนการค้ายาเสพติดมีทั้งประชาชนชาวไทย-ลาว นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการไทย-ลาว โดยราษฎรลาว ข้าราชการลาว เป็นกลไกสำคัญในการค้ายาเสพติด
2) รูปแบบการลักลอบการค้ายาเสพติดในพื้นที่อำเภอเขมราฐ พบว่า ขบวนการการค้ายาเสพติดมีการจัดองค์กรที่ซับซ้อนเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ทำให้ยากแก่การเข้าถึงในการขนยาเสพติดจะว่าจ้างราษฎรลาวลำเลียงมาในลักษณะกองทัพมด ซุกซ่อนไว้ตามร่างกาย เครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่พื้นที่ตอนใน และกรุงเทพมหานคร และมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการค้ายาเสพติด
3)ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการนำนโยบายปราบปรามยาเสพติดไปปฏิบัติเรียงลำดับความสำคัญ ดังนี้
3.1) ปัจจัยด้านความร่วมมือ หรือการตอบสนองของผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ พบว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่รับรู้นโยบายการปราบปรามยาเสพติด แต่การปราบปรามยาเสพติดไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากเจ้าหน้าที่ ไม่บังคับใช้กฎหมายจริงจัง ผู้ปฏิบัติงานปราบปรามยาเสพติดมีน้อย ขาดแคลนเครื่องมือ และขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่บางส่วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด และไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน
3.2)ปัจจัยด้านลักษณะขององค์การที่นำนโยบายไปปฏิบัติ พบว่าการดำเนินงานในระบบราชการมีความล่าช้า มีการผลักภาระระหว่างหน่วยงาน และยังพบปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของนโยบายการปราบปรามยาเสพติด
3.3)ปัจจัยด้านทรัพยากรของนโยบาย พบว่า งบประมาณในการปราบปรามกระจัดกระจายในหลายหน่วยงาน การจัดสรรล่าช้า และมีจำนวนจำกัดไม่เหมาะสมกับภารกิจที่ต้องเสี่ยงกับอันตราย สัดส่วนงบประมาณด้านการปราบปรามน้อยกว่างบประมาณด้านการป้องกันปัญหายาเสพติด เนื่องจากรัฐบาลมองว่าควรป้องกันปัญหายาเสพติดมากกว่าการปราบปราม
3.4)ปัจจัยด้านการสื่อสารระหว่างองค์การและการควบคุม พบว่าหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่อำเภอเขมราฐ มีหลายหน่วยงานมักประสบปัญหาในการประสานงานทำให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปราบปรามยาเสพติด
3.5) ปัจจัยด้านเงื่อนไข และทรัพยากรทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง พบว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลให้ทั้งราษฎรลาว-ไทย หันมาค้ายาเสพติด เพราะเห็นว่ารายได้ดี ขณะที่กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดฉวยโอกาสจากความไม่สงบของสังคม การเมืองในประเทศจึงทำการลักลอบขนยาเสพติดเข้ามาในประเทศ
4)ปัจจัยด้านอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการนำนโยบายปราบปรามยาเสพติดไปปฏิบัติที่ค้นพบจากการวิจัย ดังนี้
4.1)ลักษณะภูมิประเทศที่เอื้อต่อการลักลอบค้ายาเสพติด พบว่า สภาพภูมิประเทศอำเภอเขมราฐเป็นอุปสรรคในการปราบปรามยาเสพติด เนื่องจากมีแม่น้ำโขงกั้นแนวพรมแดน และอยู่ตรงข้ามแหล่งพักยาเสพติดที่สำคัญ มีเมืองคู่ขนานตลอดแนวพรมแดน ทำให้มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
4.2)บุคคลสองสัญชาติ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วมในขบวนการค้ายาเสพติดตามแนวชายแดนอำเภอเขมราฐ เนื่องจากสามารถเดินทางเข้า-ออก โดยใช้ช่องประเพณีทำให้สามารถติดต่อซื้อขายยาเสพติด หรือลักลอบขนยาเสพติดได้โดยง่าย

Title Alternate Implementation of drug suppression police in Khemmarat sidtrict Ubonratchathani province
Fulltext: