การจัดการของเสียอันตรายในอุตสาหกรรมของประเทศไทย : กรณีการนิคมอุตสาหกรรม

Titleการจัดการของเสียอันตรายในอุตสาหกรรมของประเทศไทย : กรณีการนิคมอุตสาหกรรม
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2553
Authorsฤทธิชาติ อินโสม
Degreeรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTD ฤ172
Keywordsการกำจัดขยะ, ของเสียอันตราย
Abstract

วัตถุประสงค์ของการวิจัยในครั้งนี้มี 4 ประการ คือ 1)เพื่อศึกษาปัจจัยหรือเงื่อนไขการจัดการของเสียอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อชุมชน 2)เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันด้านของเสียอันตรายของประเทศไทย 3)เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการปัญหาของเสียอันตรายของประเทศไทยในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรและใช้รูปแบบอย่างใดบ้าง และ 4)เพื่อเป็นแนวทางหารือรูปแบบการจัดการของเสียอันตรายของประเทศไทยในอนาคต
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยยึดหลักเทคนิคสามเส้า ได้แก่ การศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการเฝ้าสังเกตการณ์ในพื้นที่ แล้วจึงประมวลข้อมูลทั้งสามด้านนั้นมาวิเคราะห์หาข้อเท็จจริงในกรอบวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ประการ โดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่รู้เรื่องราวเป็นอย่างดีหรือที่เรียกว่าผู้ให้ข่าว จำนวน 13 คน ประกอบด้วย ตัวแทนจากโรงงานที่เป็นบุคคลที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียอันตราย 5 คน ตัวแทนประชาชนที่เป็นผู้นำชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 5 คน และตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับของเสียอันตราย 3 คน
การวิเคราะห์ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดระดับผลกระทบจากของเสียอันตรายเป็น 4 ระดับ คือ 1)มีผลกระทบเชิงบวกอย่างมาก 2)มีผลกระทบส่วนใหญ่เชิงบวกและส่วนน้อยเชิงลบ 3)มีผลกระทบส่วนใหญ่เชิงลบและส่วนน้อยเชิงบวก และ 4)มีผลกระทบเชิงลบอย่างมาก
ผลการวิจัยพบว่า เมื่อพิจารณาในแง่การปฏิบัติตามระบบการจัดการนั้นดูเหมือนว่ามีประสิทธิภาพแต่ในภาคการปฏิบัติจริงยังคงมีความด้อยประสิทธิภาพทั้ง 3 องค์กร คือ
1)ภาคโรงงานอุตสาหกรรม ได้นำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO14001) มาใช้ในการจัดการของเสียอันตรายและได้มีการวัดผลการจัดการพบว่ามีประสิทธิภาพดีมาก โดยสามารถลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นให้ต่ำสุด การจัดเก็บและรวบรวมของเสียอันตรายในโรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภาคประชาชนทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังในการขนย้ายของเสียอันตรายไม่ให้มีการลักลอบทิ้งในพื้นที่ของชุมชน ส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนภาคราชการส่วนใหญ่มีระบบควบคุมและรายงานการเคลื่อนย้ายและกำจัดของเสียอันตรายที่ดีและเป็นขั้นตอน แต่ยังไม่ดีถึงระดับที่สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาหรือทำได้อย่างรวดเร็ว
ด้านการป้องกันและควบคุมการดำเนินการจัดการของเสียอันตราย พบว่า ภาคประชาชนมีการรวมพลังในชุมชนของตนเองในการเฝ้าระวังและป้องกันการกระทำผิดของภาคอุตสาหกรรมได้ค่อยข้างมีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดให้มีอาสาสมัครเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งของเสียอันตราย หากพบการกระทำผิดจะมีการแจ้งไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ไปทำการตรวจสอบทันทีในปัจจุบันสถานการณ์ การจัดการของเสียอันตรายในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีแนวโน้มที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น แต่ยังไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยในคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพราะยังพบว่ารายงานผลด้านสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในเขตอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบยังเป็นปัญหาอยู่
2.ภาคราชการพบว่ายังขาดแผนการประสานงานทำความเข้าใจกับภาคประชาชนและการให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของภาคประชาชนอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพและขณะเดียวกันการตรวจสอบและการควบคุมการรายงานของการดำเนินงานภาคอุตสาหกรรมยังขาดความต่อเนื่องและทันต่อเหตุการณ์
3.ภาคโรงงานอุตสาหกรรม ยังขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการโดยไม่สามารถควบคุมผู้รับเหมาช่างในการดำเนินการจัดการของเสียให้อยู่ในหลักการและปฏิบัติตามกฎหมายโดยมีการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายในที่สาธารณะอยู่เสมอและพบเสมอว่าในการซ่อมบำรุง กลุ่มผู้รับเหมาดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามหลักของการจัดการของเสีย คือ มีการนำของเสียจากอุตสาหกรรมไปแปรรูปและขายเป็นรายได้ของตนและโรงงานอุตสาหกรรมละเลยไม่ได้ควบคุมกำกับดูแลและในขณะเดียวกันหน่วยงานราชการไม่สามารถควบคุมได้โดยตรงและประชาชนขาดความรู้คือจะรับช่วงซื้ออุปกรณ์จากโรงงานอุตสาหกรรมไปจำหน่ายในรูปของที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือสามารถนำไปแปรรูปเพื่อการใช้งาน
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย คือ 1)ต้องมีการให้ความรู้ด้านของเสียอันตรายและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนในสังคมเพื่อลดช่องว่างความรู้ระหว่างภาคประชาชนกับภาคโรงงานอุตสาหกรรม 2) ต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้รับเหมาที่มาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมพร้อมทั้งมีมาตรการควบคุมกำกับดูแลที่เคร่งครัด 3)ภาคราชการต้องเร่งมาตรการเชิงรุกคือส่งเสริมให้เกิดความรู้แก่ชุมชนและทำหน้าที่ในการประสานงานกันระหว่างภาคประชาชนกับภาคโรงงานอุตสาหกรรมในการมีส่วนร่วมในการจัดการของเสียอันตราย 4)ภาคโรงงานอุตสาหกรรมควรมีการทำการเปรียบเทียบ (Benchmark) การจัดการของเสียอันตรายกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อนำเทคนิคการป้องกันและลดปริมาณฯ ของเสียมาพัฒนาองค์กรตนเอง และ 5)ภาคประชาชนต้องเร่งการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ให้มีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อสานต่อภารกิจที่ผู้ใหญ่ในรุ่นปัจจุบันได้ทำไว้และสานต่อเพื่อการอยู่ร่วมกันกับภาคโรงงานอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป

Title Alternate The hazardours waste management in the industrial estate case of Thailand
Fulltext: