การบูรณาการนโยบายเก็บเงินค่าใช้ถนนและรถประจำทางด่วนพิเศษเพื่อการยอมรับและมีประสิทธิผล

Titleการบูรณาการนโยบายเก็บเงินค่าใช้ถนนและรถประจำทางด่วนพิเศษเพื่อการยอมรับและมีประสิทธิผล
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2556
Authorsเสริมศักดิ์ พงษ์เมษา
Degreeวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา
Institutionคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTE ส295ก
Keywordsการขนส่ง--แบบจำลอง--การจัดการ, จราจร--การสำรวจ--เชียงใหม่, ยานพาหนะ
Abstract

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาแนวทางการลดปริมาณการใช้รถส่วนบุคคลในเขตเมืองเชียงใหม่ โดยบูรณาการระหว่างนโยบายการเก็บค่าใช้ถนนและพัฒนาระบบรถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit, BRT) การประเมินความเป็นไปได้ของแนวคิดอาศัยการวิเคราะห์ระดับการยอมรับของผู้ใช้รถส่วนบุคคลร่วมกับประสิทธิผลของการลดปริมาณการใช้รถส่วนบุคคล
การดำเนินการวิจัยประกอบด้วยการสำรวจพฤติกรรมความเคยชินและทัศนคติการยึดติดของผู้ใช้รถส่วนบุคคล การเปรียบเทียบประสิทธิผลในการลดการใช้รถส่วนบุคคลและการยอมรับได้ของผู้ใช้รถส่วนบุคคลต่อสองแนวทางการลดประมาณการใช้รถส่วนบุคคล ซึ่งแนวทางแรก คือ สถานการณ์ที่มีการพัฒนาระบบรถประจำทางด่วนพิเศษ และแนวทางที่สอง คือ สถานการณ์ที่มีระบบรถประจำทางด่วนพิเศษร่วมกับการเก็บเงินค่าใช้ถนนในเมืองเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างการศึกษานี้ประกอบด้วย ผู้ใช้รถส่วนบุคคล (รถยนต์และรถจักรยานยนต์) 1200 คน โดยการสัมภาษณ์ในเขตเมืองเชียงใหม่ การเก็บข้อมูลระหว่าง เดือนพฤศจิกายน 2554 ถึง กุมภาพันธ์ 2555 แบบสำรวจที่ใช้คือ แบบสำรวจ SP เทคนิคการวิเคราะห์ประกอบด้วย การวิเคราะห์ปัจจัยในการศึกษาพฤติกรรมความเคยชินและทัศนคติการยึดติด ทฤษฎีอรรถประโยชน์และแบบจำลองโลจิตในการหาผลของตัวแปรที่ศึกษาทั้งหมด เทคนิคการวิเคราะห์แบบแบ่งกลุ่มและแบบจำลอง Mixed Logit ในการบ่งชี้ความแตกต่างระหว่างกลุ่มบุคคล
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ใช้รถส่วนบุคคลส่วนใหญ่มีความเชื่อว่ารถส่วนบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและยังคงมีความจำเป็นถึงแม้ว่าในเมืองจะมีระบบขนส่งสาธารณะที่สมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ยังรู้สึกถึงคุณค่าการใช้รถส่วนบุคคล มีความตั้งใจที่จะใช้รถส่วนบุคคลแม้ระยะทางสั้น ด้านพฤติกรรมยังไม่สามารถลดการใช้รถส่วนบุคคลลงได้ ถึงแม้จะมีการพัฒนาระบบรถประจำทางด่วนพิเศษก็ตาม นอกจากนี้พฤติกรรมในอดีตมีความสัมพันธ์ต่อทัศนคติและความตั้งใจ ดังนั้น การแก้ปัญหาการขนส่งด้วยการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวกและมาตรฐานเพียงอย่างเดียว จะไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ควรมีการเก็บค่าใช้ถนนร่วมด้วย เพื่อลดพฤติกรรมเคยชินและทัศนคติยึดติดรถส่วนบุคคล
ผลของตัวแปรเชิงนโยบายต่อการเลือกรูปแบบการเดินทางและการยอมรับโดยแบบจำลองโลจิต พบว่าการดำเนินนโยบายร่วมกันของการพัฒนารถประจำทางด่วนพิเศษ BRT กับนโยบายการเก็บเงินค่าใช้ถนนจะมีประสิทธิผลในการลดการใช้รถส่วนบุคคลมากกว่าการดำเนินนโยบายการพัฒนาระบบรถประจำทางด่วนพิเศษ BRT อย่างเดียว การกำหนดเวลาการเดินทางของรถประจำทางด่วนพิเศษไม่ควรเกิน 30 นาที อัตราค่าใช้จ่ายไม่เกิน 10 บาท สำหรับอัตราค่าใช้ถนนของผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลควรอยู่ในช่วง 30-60 บาท และสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ควรอยู่ในช่วงไม่เกิน 20 บาท อย่างไรก็ตามการนำนโยบายดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ควรมีนโยบายดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ควรมีนโยบายการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิเช่น การจูงใจด้วยการลดค่าโดยสาร การเก็บเงินค่าที่จอดรถ เป็นต้น
วิทยานิพนธ์ครั้งนี้แสดงผลของทัศนคติยึดติดและพฤติกรรมเคยชินที่มาจากกิจกรรมที่ดำเนินในชีวิตประจำวันและมีการสะสมมาจากอดีต เป็นอุปสรรคที่มีผลต่อการนำเสนอนโยบายการลดปริมาณการใช้รถส่วนบุคคล การดำเนินนโยบายบูรณาการระบบรถประจำทางด่วนพิเศษกับการเก็บค่าใช้ถนนในเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้ ร่วมกับนโยบายสนับสนุนอื่น เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติยึดติดและพฤติกรรมเคยชิน

Title Alternate Integrated road pricing policy and bus rapid transit for acceptability and effectiveness
Fulltext: