องค์ประกอบของขยะมูลฝอยที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม

Titleองค์ประกอบของขยะมูลฝอยที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2554
Authorsคัมภีร์ แก้ววงษา
Degreeวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
Institutionคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTD ค261
Keywordsขยะ--อุบลราชธานี--การจัดการ, อุทยานแห่งชาติผาแต้ม
Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบขยะมูลฝอยที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวของพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และศึกษาถึงความคิดเห็นที่มีต่อรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยในปัจจุบันโดยใช้แบบสอบถามมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มเจ้าหน้าที่ และกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ผลการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นในเชิงบวกเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยในสภาพปัจจุบัน ซึ่งต้องการเพิ่มจำนวนถังขยะและจำนวนเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดให้มากขึ้น เป็นต้น ผลการศึกษาปริมาณขยะมูลฝอยพบว่า มีปริมาณมากในช่วงฤดูฝนเฉลี่ย 69.01 กิโลกรัม/วัน เนื่องจากในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยองค์ประกอบขยะมูลฝอยเรียงตามปริมาณจากมากไปน้อย คือ เศษอาหาร แก้ว พลาสติกและกระดาษ จากการศึกษาลักษณะสมบัติทางกายภาพเกี่ยวกับขยะมูลฝอยที่เผาไหม้ได้ คือ เศษอาหาร พลาสติก กระดาษ ยาง เศษไม้และโฟม โดยช่วงฤดูหนาวจะมีปริมาณมากที่สุด ส่วนความหนาแน่นของขยะมูลฝอยจะมีค่าสูงสุดในฤดูฝน ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 0.13 กิโลกรัม/ลิตร สำหรับลักษณะสมบัติทางเคมีที่ทำการศึกษาพบว่า ค่าความชื้นจะมีค่ามากในช่วงฤดูฝนและเทศการเข้าพรรษา มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 47.03 และ 49.25 ตามลำดับ นอกจากนี้ ค่าคาร์บอนและ C/N จะมีค่ามากในช่วงฤดูฝนเช่นเดียวกัน คือ มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 91.17 และ 98.69 ตามลำดับ สำหรับปริมาณของแข็งรวมค่าปริมาณความร้อนและค่าไนโตรเจนจะมีค่าสูงในช่วงฤดูร้อน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 58.31 กรัม 3754.39 แคลลอรี่/กรัม และร้อนละ 1.14 ตามลำดับ ซึ่งปริมาณเถ้าจะมีค่าสูงสุดเฉลี่ย ร้อยละ 9.29 ในฤดูหนาว
สำหรับแนวทางการกำจัดขยะมูลฝอยของพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มควรดำเนินการจัดการแบบผสมผสาน โดยเลือกระบบการคัดแยกขยะร่วมกับการทำปุ๋ยหมักและวิธีการเผาโดยใช้เตาเผาขยะแบบง่าย ระบบการคัดแยกขยะมูลฝอยที่ดีจะต้องสามารถแยกเศษอาหารและขยะอินทรีย์ออกไปทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ และปุ๋ยหมักจากขยะได้ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบเตาเผาขยะแบบง่าย ซึ่งควรมีการออกแบบหรือใช้เทคโนโลยีที่จะปกป้องหรือควบคุมกระบวนการเผาไหม้ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศ แม้ว่ามูลค่าในการออกแบบก่อสร้างเตาเผาขยะแบบง่ายต้องใช้งบประมาณสูง ในระยะแรก แต่เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของระบบกำจัดและความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการของอุทยานแห่งชาติผาแต้มในระยายาวและยั่งยืน จะเห็นได้ว่าการกำจัดขยะมูลฝอยในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ด้วยวิธีการจัดการแบบผสมผสาน โดยเลือกระบบการคัดแยกขยะร่วมกับการทำปุ๋ยหมักและวิธีการเผาโดยใช้เตาเผาขยะแบบง่ายจึงเป็นระบบที่เหมาะสมที่สุด

Title Alternate Solid waste composition from tourism activity of Pha Taem national park
Fulltext: