การพัฒนาสิ่งทอฝ้ายย้อมครามกับพืชตระกูลเส้นใย

Titleการพัฒนาสิ่งทอฝ้ายย้อมครามกับพืชตระกูลเส้นใย
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2554
Authorsอิศรา ทองทิพย์
Degreeศิลปประยุกต์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTT อ756
Keywordsผ้าฝ้าย--การย้อมสีและการกัดสี, สีย้อมและการย้อมสี, เส้นใยจากพืช
Abstract

การวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)เพื่อศึกษาการผลิตผ้าฝ้ายย้อมครามและศึกษาพืชที่ให้เส้นใยในจังหวัดสกลนคร เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน 2)เพื่อศึกษาเทคนิค กระบวนการย้อมคราม รวมทั้งศึกษาเทคนิค กระบวนการผลิต และการแปรรูปวัตถุดิบจากเส้นใยพืชด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 3)เพื่อศึกษาและพัฒนาให้เกิดรูปแบบของผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมครามแบบร่วมสมัย ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ผลการสำรวจและเก็บข้อมูลพบว่า ในพื้นที่จังหวัดสกลนครมีผู้ผลิตผ้าฝ้ายย้อมครามอยู่เป็นจำนวนมาก โดยอำเภอพรรณนานิคม เป็นพื้นที่ผลิตผ้าฝ้ายย้อมครามที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในจังหวัดสกลนคร จากการลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลรวมทั้งศึกษาปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายย้อมคราม ในปัจจุบันพบว่า 1)ในกระบวนการเผาพืชเพื่อใช้ทำน้ำด่าง จะต้องใช้พืชสำหรับทำน้ำด่างจำนวนมาก 2)ขั้นตอนการเลี้ยงหม้อครามและขั้นตอนการย้อมบางครั้งประสบปัญหาน้ำด่างไม่เพียงพอต่อการใช้งานและขี้เถ้าที่ใช้สำหรับทำน้ำด่างขาดแคลน ไม่สามารถหาได้ในขณะนั้น ทำให้แผนการส่งสินค้าไปสู่ลูกค้าล่าช้าหรือหยุดชะงัก 3)ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมครามที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันมีรูปแบบผลิตภัณฑ์อยู่ 4 ชนิด คือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ในบ้านหรือของใช้ในสำนักงานและของตกแต่งบ้านซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำอยู่จะเน้นการใช้ผ้าฝ้ายย้อมครามเพียงอย่างเดียว
การสำรวจพืชที่ให้เส้นใยในจังหวัดสกลนครนั้น พบว่า จังหวัดสกลนครมีพืชที่ให้เส้นใยอยู่มากมายหลายชนิด ซึ่งเป็นโอกาสที่จะนำผ้าฝ้ายย้อมครามที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสกลนคร มาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีผสมผสานระหว่างพืชที่ให้เส้นใยกับผ้าฝ้ายย้อมคราม เพื่อเป็นการขยายโอกาสนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายย้อมครามต่อไป
จากข้อมูลข้างต้น กอรปกับผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสูตรน้ำด่างที่มีอยู่ในจังหวัดสกลนครและทำการทดลองเกี่ยวกับน้ำด่าง เพื่อหาสูตรน้ำด่างที่สามารถใช้ทดแทนสูตรน้ำด่างที่มีอยู่เดิม ซึ่งจากเดิมจะมีการใช้น้ำด่างจำนวนหลากหลายสูตร แต่ละสูตรจะใช้พืชสำหรับเผาทำน้ำด่างมากกว่า 2 ชนิดขึ้นไป
จากการทดลองครั้งนี้ผู้วิจัยได้คิดค้นสูตรน้ำด่างจำนวน 7 สูตร สามารถใช้ได้ผลทั้งหมด และยังค้นพบว่าสูตรน้ำด่างที่ได้จากเกลือผสมน้ำ สามารถให้ค่าความเข้มของสีย้อมที่ไม่แตกต่างกันกับน้ำด่างที่กลุ่มผู้ผลิตผ้าย้อมครามใช้อยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันตลาดผ้าย้อมครามมีความต้องการทางด้านโทนสีที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นจากเดิมจะย้อมให้เกิดสีเข้มเพียงอย่างเดียว ดังนั้นสูตรน้ำด่างที่คิดค้นขึ้นจำนวนทั้งหมด 7 สูตรนั้น สามารถใช้สีครามเข้มและสีครามอ่อนที่แตกต่างกัน โดยน้ำด่างที่ได้จากการเผาแกลบข้าวเหนียวและน้ำด่างจากการเผาต้น ก้านมะละกอ รองลงมา คือ น้ำด่างจากการเผาใบ ต้น ฝักของต้นมะขาม ซึ่งมีค่า pH=6 ถึง 9 จะให้ความเข้มของสีครามน้อยที่สุด ส่วนน้ำด่างที่ได้จากการเผากาบมะพร้าว น้ำด่างจากเกลือผสมกาบมะพร้าว น้ำด่างจากการเผาเปลือกไม้ลิ้นฟ้า (เพกา) ผสมขี้เหล็กผสมมะม่วงกะสอ และน้ำด่างจากเกลือผสมน้ำ ซึ่งมีค่า pH =10 ถึง 11 จะให้ค่าความเข้มของสีครามมากที่สุด
ด้านการทดลองนำพืชที่ให้เส้นใยมาย้อมคราม ผลปรากฏว่าพืชที่ให้เส้นใยจำพวกพืชตระกูลกก เตย ฟางข้าว ที่มีผิวด้านนอกลื่นและมันสามารถย้อมติดสีครามได้ดีในระดับหนึ่งแต่ไม่คงทนต่อการเช็ดถู ส่วนผิวด้านในของเส้นพืชตระกูลกกสามารถติดสีครามได้คงทน ในด้านกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบจากพืชที่ให้เส้นใยเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนา พบว่า เมื่อนำเส้นใยพืชตระกูลกก ฟางข้าวและใบเตย มาทอร่วมกับเส้นฝ้ายย้อมคราม ผืนผ้าที่ได้จะทนต่อการดัดงอ ทนต่อการพับในแนวเส้นไยได้ดีแต่ไม่ทนต่อการพับในแนวตั้งได้มากนัก ส่วนเส้นปอ เส้นป่าเมื่อนำมาทอรวมกับเส้นฝ้ายย้อมคราม ผืนผ้าที่ได้จะมีคุณสมบัติคล้าย ๆ กับผ้าทอ ซึ่งทนต่อการพับและทนต่อแรงดึงได้ในทุกรูปแบบ

Title Alternate The textile development of indigo dyed cotton and other fiber plants
Fulltext: